ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย



    ที่มา : http://mpics.manager.co.th/pics/Images/55700000389...

       

              ในปัจจุบันเกิดปัญหาความขัดแย้งต่างๆมากมายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ปัญหาสงครามกลางเมือง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติหรือศาสนา หรือแม้กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศตามมา

              อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง[1]

              สำหรับประเทศที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ถ้ามีผู้อพยพมายังประเทศของตน ผู้อพยพจะถูกเรียกว่า ผู้หนีภัยความตาย

              ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างรวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ บ้านเรือน และแม้แต่ครอบครัว ผู้ลี้ภัย แตกต่างจากแรงงานต่างด้าวเพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ ผู้ลี้ภัยไม่อาจพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลของตนเอง พวกเขาถูกบังคับให้หนีจากประเทศของตนเอง จึงจำเป็นที่ประชาคมนานาชาติต้องให้ความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

ผู้หนีภัยความตาย” คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม

ภัยความตายโดยตรง เช่น ภัยที่เกิดมาจากการสู้รบ

ภัยความตายโดยอ้อม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ

1. ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการที่ผู้อพยพรู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เช่น การอพยพหนีจากพื้นที่ที่จะมีกองกำลังเข้ามาซึ่งผู้อพยพคาดว่าอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต

2. ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น[2]

                 ตัวอย่างก็ปัญหาการลี้ภัยนั้น ปัจจุบันสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือปัญหาในซีเรีย ที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศอันมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลเดิมและผู้ประท้วงบานปลายถึงขนาดมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและฝ่ายรัฐบาลจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 70,000 คน และมีผู้สูญหายกว่า 30,000 คน รัฐบาลเดิมและกลุ่มขั้วอำนาจเก่าของซีเรียใช้กำลังทางทหาร จับกุมผู้ประท้วงเป็นจำนวนหลายหมื่นคน มีการรายงานว่ารัฐบาลใช้กำลังทรมานกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ได้มีการใช้กำลังทหารปิดล้อมและกดดันผู้ชุมนุมทั้งการตัดเสบียงอาหาร น้ำ ไฟฟ้า จนทำให้มีประชาชนถึง 1.2 ล้านคนต้องอพยพจากซีเรียไปอยู่ในศูนย์พักพิงต่างๆทั่วโลก การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง[3]

                อีกประเทศหนึ่งคือประเทศพม่า ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าพม่านั้นเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยชนเผ่าหลายชนเผ่ามากมาย อีกทั้งแต่ละชนเผ่าของพม่าก็ไม่ต้องการขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางประกอบกับการที่หม่ามิได้ให้ความสำคัญ กับอัตลักษณ์และสถานภาพของชนเผ่า จึงเกิดปัญหากองกำลังติดอาวุธสู้รบระหว่างพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆตามตะเข็บชายแดนอันก่อให้เกิดปัญหาผู้อพยพลี้ภัยสงครามนั้น หรือการอพยพลี้ภัยอันเนื่องมาจากปัญหาศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าระหว่างประชาชนที่นับถือพุทธศาสนาและอิสลามซึ่งถูกจุดชนวนขึ้นมาและลุกลามไปจนถึงการฆ่าคนต่างศาสนาและเผาที่อยู่อาศัยที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[4]โดยที่มุสลิมที่เป็นประชากรส่วนน้อยในพม่า บางส่วนต้องอพยพลี้ภัยเข้ามาอยู่ในไทย หรือแม้กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจในพม่าที่มีค่าแรงต่ำ ทำให้ต้องมีการลักลอบอพยพเข้ามาทำงานในไทย

               เมื่อเกิดการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงก่อให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนตามมากล่าวคือ ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มิได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย แม้จะสามารถรองรับผู้อพยพภัย เข้ามาพักพิงอาศัยในที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวได้ แต่ก็ไม่อาจทำให้ผู้อพยพมีสิทธิมนุษยชนได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผู้อพยพไม่อาจออกจากศูนย์พักพิงได้ เพราะไม่มีสถานภาพของผู้ลี้ภัย จึงทำให้เป็นเพียงการหลบหนีเข้าเมือง ดังนั้นผู้อพยพจึงไม่อาจประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งปัญหาข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ไทยควรแก้ไขโดยการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย ซึ่งตัวข้าพเจ้ามองว่าการลงนามนี้จะส่งผลดีต่อความเอื้อเฟื่อต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามในผลดีย่อมต้องมีผลเสียตามมาซึ่งอาจเป็นเหตุผลหลักที่ว่าทำไมไทยจึงไม่ลงนามกล่าวคือ การลงนามอาจก่อให้เกิดการอพยพเข้ามาลี้ภัยเป็นจำนวนมากเนื่องจากประเทศรอบข้างไทยนั้นล้วนเป็นประเทศที่ประสบปัญหาภายในทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา พม่า จึงไม่อาจควบคุมจำนวนและดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทยได้

นายภัทรภณ  อุทัย


[1] https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[2] http://salweennews.org/home/?p=986

[3] http://th.wikipedia.org/wiki/สงครามกลางเมืองซีเรีย

[4] http://samart555sunchai.blogspot.com/2013/09/blog-...

หมายเลขบันทึก: 565607เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 05:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท