ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


    ปัญหาความขัดแย้งที่ทำให้ประชาชนต้องลี้ภัยออกจากประเทศของตนนั้น มีได้หลายประการด้วยกัน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจากเหตุความรุนแรงในประเทศซีเรียซึ่งจะเห็นภาพได้ชัดเนื่องจากมีการเผยแพร่ข่าวให้เป็นที่รู้จักอย่างมาก

     โดยสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศซีเรียนั้นเกิดจากการประท้วงเพียงเพื่อให้รัฐบาลปฏิรูปทางการเมือง แต่รัฐบาลภายใต้การนำของ บัชชาร อะสัด กลับใช้กำลังทางทหารและการปรามปรามด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งแทนที่จะทำให้ประชาชนกลัว กลับส่งผลไปในทางตรงกันข้าม ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงเพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามเข้าไปอีก โดยถึงขั้นลงมือฆ่าผู้ประท้วง จนทำให้ทหารที่ไม่เห็นด้วยกลับข้างมาอยู่กับประชาชน และติดอาวุธให้กับประชาชนในการต่อสู้กับทหารของฝ่ายรัฐบาล

     ส่งผลให้บรรดาผู้บาดเจ็บไม่สามารถไปโรงพยาบาลของรัฐได้เนื่องจากไปแล้วก็จะถูกจับ ถูกทรมานหรือถูกฆ่า จึงต้องอาศัยห้องพยาบาลจำเป็นที่ขาดแคลนอุปกรณ์และยารักษาโรคอย่างหนัก อีกทั้งแพทย์และพยาบาลยังถูกหมายหัวและถูกฆ่าด้วยเช่นกัน แพทย์จำนวนมากไม่กล้ารักษาและหลบหนีออกนอกประเทศ แพทย์จึงขาดแคลนอย่างหนักเช่นกัน ผู้มีความรู้ที่สุดในห้องพยาบาลจำเป็นเหล่านั้นหากไม่มีแพทย์ที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่ออยู่รักษาผู้บาดเจ็บในสภาพที่ขาดแคลนและยากลำบากแล้ว บางที่ก็จำต้องอาศัยนักศึกษาแพทย์ พยาบาล หรือแม้กระทั้งหมอฟัน

     คนที่ไม่สามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เด็ก ผู้หญิงและคนชราไม่เคยถูกงดเว้นจากสไนเปอร์ของรัฐบาล บางคนต้องไปอาศัยอยู่ตามตามถ้ำตามเขาเพราะกลัวระเบิด รัฐบาลของบัชชาร อะสัด ตัดน้ำตัดไฟและไม่อนุญาติให้มีการลำเลียงอาหารเข้าไปในหลายพื้นที่ ไม่อนุญาติให้นักข่าวเข้าไปทำข่าว ไม่อนุญาติหน่วยกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ทำให้มีเด็กอดตาย ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องล้มตายเพราะไม่มียารักษา

     อนึ่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 20 ได้วางหลักไว้ว่า
• บุคคลมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุม และการสมาคมโดยสงบ 
• การบังคับให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจะทำมิได้

     ดังนั้นเมื่อประชาชนไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อประท้วงรัฐบาลได้โดยชอบ ซึ่งรัฐบาลหรือบุคคลใดก็ไม่มีสิทธิขัดขวางการกระทำที่เกิดจากความเห็นต่างทางการเมืองเช่นว่านี้แต่อย่างใด แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลจะขัดขวางการชุมนุมเท่านั้น ยังสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่โหดร้ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายอีกด้วย

     ในส่วนของประชาชนที่สามารถหลบหนีออกมาได้นั้นก็จะกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า “ผู้ลี้ภัย หมายถึง  บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง”

     แต่ทว่าประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยนี้ จึงนิยามคนเหล่านี้ว่า “ผู้หนีภัยความตาย”ซึ่งจะกล่าวต่อไป  อย่างไรก็ตามการที่ไทยจะขับไล่ให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบออกจากประเทศในทันทีก็ดูจะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนไปได้ ดังนั้นการขับไล่คนหนีภัยความตายให้ออกไปเผชิญกับความตายจึงไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแน่นอน ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยนั้นลดลงไปอย่างมาก 

     นอกจากนี้ผมยังคิดว่าไทยควรจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถในประเทศด้วยเนื่องจากเป็นโอกาสของไทยเช่นกันที่จะได้ความเชี่ยวชาญพิเศษที่ไม่สามารถหาได้จากทรัพยากรบุคคลในประเทศ จากกลุ่มคนเหล่านี้ อันเกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่จะสามารถทำให้ไทยได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

     ผู้หนีภัยความตาย คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิตทั้งภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ และภัยโดยอ้อมซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท  คือทางกายภาพและทางจิตใจ

     ภัยความตายทางกายภาพ เกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ ส่วนภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือ ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น

     ส่วนปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยคือ ในประเทศที่มิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย เช่นประเทศไทย มิได้มีหน้าที่ออกกฎหมายคุ้มครองผู้ลี้ภัยโดยตรง ทำให้กฎหมายหลักที่ไทยใช้บังคับได้แก่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522  ซึ่งอาจเกิดปัญหาขึ้นได้ เนื่องจากสถานะของคนเข้าเมืองต่างกับผู้ลี้ภัย โดยคนเข้าเมืองนั้นออกจากประเทศด้วยความเต็มใจเพราะเหตุเศรษฐกิจหรือเหตุผลใดก็ตาม ในขณะที่ผู้ลี้ภัยต้องออกจากประเทศด้วยความไม่เต็มใจ ดังนั้นการบังคบใช้กฎหมายเดียวกัน กับบุคคลที่มีสถานะต่างกันอาจเกิดปัญหาได้ เช่นการขาดหลักฐานในการแสดงตน อันจะส่งผลให้เสียสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการไปได้ซึ่งล้วนแต่เป็นสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากลแทบทั้งสิ้น

     ในกรณีของประเทศซีเรียก็มีปัญหาคือเนื่องจากผู้ลี้ภัยนั้นมีจำนวนถึง 2 ล้านคน จึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยอย่างมากมาย ยกตัวอย่างเช่น 

-ประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปพักพิงได้กันผู้ลี้ภัยออกไปให้อยู่เฉพาะตามแนวชายแดนทำให้เกิดความแบ่งแยกทางเชื้อชาติและเหยียดเชื้อชาติขึ้น

-ผู้ลี้ภัยที่อพยพไปยังประเทศที่พักพิงไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน 

-ได้เกิดการล่วงละเมิดด้านชีวิตความเป็นอยู่ และทางเพศ คือประเทศที่ผู้ลี้ภัยไปพักพิงนั้นไม่ได้จัดให้ผู้ลี้ภัยมีความเป็นอยู่อย่างที่มนุษย์สมควรจะได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชน

   ซึ่งสาเหตุดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นเพราะประเทศที่รับผู้ลี้ภัยไปพักพิงนั้น ไม่สามารถปฏิเสธความช่วยเหลือ หรือส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้ เนื่องจากมีกฏหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่า  “ห้ามมิให้ชาติใดๆ ก็ตามส่งกลับ หรือปิดกั้นผู้ที่พยายามหนีออกจากประเทศ ซึ่งมีภัยคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพของบุคคลผู้นั้น”

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-http://www.thai4syria.com/content/257

-http://www.amnesty.or.th/th/our-work/human-rights-education/universal-declaration-of-human-rights

-http://en.wikipedia.org/wiki/Syrian_Civil_War

-http://www.l3nr.org/posts/535713

-http://www.thaiday.com/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000080038

หมายเลขบันทึก: 565605เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท