ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


         สิทธิมนุษยชน(Human Rights) [1] หมายถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ในอดีตยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนภายหลังที่ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติแล้วคำว่าสิทธิมนุษยชนจึงได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในกฎบัตรสหประชาชาติ[2] ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้หลายแห่งเช่นในอารัมภบทได้กล่าวถึงความมุ่งหมายของสหประชาชาติไว้ว่า “เพื่อเป็นการยืนยันและให้การรับรองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษยชาติ"

             ในตัวกฎบัตรสหประชาชาติได้แต่เพียงกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้ในที่ต่างๆเช่นในอารัมภบทดังที่กล่าวแล้วในมาตรา 1 มาตรา 13 มาตรา 55 มาตรา 56 มาตรา62 มาตรา 63 และมาตรา 76 เท่านั้นแต่มิได้ให้คำนิยามหรือคำจำกัดความของคำว่าสิทธิมนุษยชนไว้แต่อย่างใดตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ[3] (Universal Declaration  of Human Rights) ซึ่งถือเป็นแม่บทของสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันได้แต่เพียงจำแนกสิทธิมนุษยชนออกเป็นประเภทต่างๆไว้เท่านั้น  มิได้มีคำอธิบายหรือบทนิยามของคำว่าสิทธิมนุษยชนไว้แต่อย่างใดเช่นเดียวกันสิทธิมนุษยชนตามที่ปฏิญญาสากลฯได้แจกแจงไว้มีดังนี้

1. สิทธิทางแพ่งและทางการมือง (Political and Civil Rights) เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มีมาแต่ดั้งเดิมและปรากฏอยู่ในบทบัญญัติข้อ 1-21 สิทธิดังกล่าวประกอบไปด้วยสิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนไหวสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมสิทธิในความเป็นส่วนตัวสิทธิในการเลือกนับถือศาสนาสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีสิทธิในการลี้ภัยและสิทธิของผู้ถูกกระทำทารุณกรรมต่างๆ

2. สิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (Economic Social and CulturalRights) เป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความเป็นอยู่สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติข้อ 22 เป็นต้นไปได้แก่สิทธิในการศึกษาสิทธิในการก่อตั้งสหภาพแรงงานสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่ดีและอย่างพอพียงตลอดจนสิทธิในการหยุดพักผ่อนจากการทำงานเป็นต้น

              อย่างไรก็ตามนักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า สิทธิมนุษยชนหมายถึงทั้งสิทธิตามกฎหมายและสิทธิที่มิใช่สิทธิตามกฎหมายปราชญ์ทางกฎหมายท่านหนึ่งได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนไว้ว่า “สิทธิมนุษยชน คือสิทธิทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในประเทศที่มีอารยธรรมว่าเป็นสิทธิพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์และในการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์เป็นสิทธิที่มีการคุ้มครองป้องกันในทางกฎหมายเป็นพิเศษสมกับความสำคัญของสิทธิดังกล่าว”

              จากคำจำกัดความข้างต้น สิทธิมนุษยชนจึงหมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่พึงมีเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าหากมีการล่วงละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวย่อมจะได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยกฎหมายเช่นสิทธิในชีวิตร่างกายและความมั่นคงปลอดภัยสิทธิในการถือครองทรัพย์สินตลอดจนสิทธิในการเคลื่อนไหวและในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นต้นนอกจากนี้สิทธิมนุษยชนยังหมายถึงสิทธิที่พึงมีเพื่อการพัฒนาบุคลิกภาพคุณภาพชีวิตเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์เช่นสิทธิในการเลือกนับถือศาสนาสิทธิในการเลือกที่จะประกอบอาชีพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นตลอดจนสิทธิในการมีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นต้นจะเห็นได้ว่าสิทธิมนุษยชนประกอบไปด้วยสิทธิต่างๆครอบคลุมวิถีชีวิตของมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย.

             ก่อนที่เราจะพิจารณาและถกประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายเราควรจะทราบถึงนิยามของคำดังกล่าวก่อนกล่าวได้ดังนี้

             ”ผู้ลี้ภัย” [4] ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 [5] ให้คำนิยามและความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่าผู้ลี้ภัยหมายถึง  บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเองเนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใดเช่นเชื้อชาติศาสนาสัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคมสมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง

                “ผู้หนีภัยความตาย” [6] [7] คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิตทั้งภัยโดยตรงและโดยอ้อมภัยโดยตรงเช่นภัยจากการสู้รบส่วนภัยความตายโดยอ้อมโดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท  คือ
              1. ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่าถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตายเช่นเมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่าหากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึงหรือกรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงานซึ่งอันที่จริงการเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรงคือถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อยๆก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตายแต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้หรือหากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษีหรือการข่มขืนถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด 
              2. ภัยความตายทางจิตใจ เช่นการข่มขืนเป็นต้น

ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย

              จากการศึกษาในห้องเรียนสงครามและความขัดแย้งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยและผู้หนีความตายจำนวนมากพวกเขาต้องมีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างลำบากยากแค้นและได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อจิตใจบ่อยครั้งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงและเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดมีสภาพความเป็นอยู่อย่างยากแค้นสาหัสอนาคตของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าจะประเมินค่าได้ ตัวอย่างเช่นสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นความขัดแย้งกันโดยใช้อาวุธในประเทศซีเรียระหว่างกำลังที่ภักดีต่อรัฐบาลพรรคบะอัษ(Ba'ath) ของซีเรียกับฝ่ายที่ต้องการโค่นรัฐบาลความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่15 มีนาคม2554 ด้วยการเดินขบวนของประชาชนที่ลามไปทั่วประเทศเมื่อถึงเดือนเมษายนมีการวางกำลังกองทัพซีเรียเพื่อปราบปรามการก่อการกำเริบและทหารได้รับคำสั่งให้เปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมผลสรุปของความขัดแย้งนี้ตามข้อมูลของสหประชาชาติมีชาวซีเรียพลัดถิ่นในประเทศราว1.2 ล้านคนมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากถึง1.4 ล้านคนหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหนีความรุนแรง

              นอกจากนี้ปัญหาที่พบในประเทศไทยก็พบผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ได้ลี้ภัย [8] เข้ามาอยู่ในไทยเป็นระลอกๆในอดีตชนเผ่ากะเหรี่ยงกะเรนนีไทยใหญ่และอื่นๆจำนวนไม่มากนักหนีภัยการสู้รบกับรัฐบาลกลางพม่าเข้ามาในไทยภายหลังพม่าเป็นเอกราชจากอังกฤษในปีพ.ศ. 2491 และเริ่มเข้าควบคุมรัฐต่างๆคนเหล่านี้ได้เข้ามาผสมกลมกลืนกับชุมชนไทยตามแนวชายแดนบางส่วนหนีภัยเข้ามาชั่วคราวและเดินทางกลับภูมิลำเดิมของตนในเวลาต่อมาแต่เมื่อการสู้รบขยายขอบเขตจนผู้ลี้ภัยมีจำนวนมากขึ้นรัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้มีพื้นที่พักพิงชั่วคราวในปี2527 เป็นต้นมาต่อมาเมื่อเกิดการปราบปรามกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าปี2531 กลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนพม่าได้หนีการปราบปรามของรัฐบาลเข้ามาในไทยโดยกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับความคุ้มครองโดยUNHCR [9] และได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามในเวลาต่อมาทางการไทยเรียกผู้ลี้ภัยจากพม่าว่า‘ผู้หนีภัยจากการสู้รบ’ ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากพม่าอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว9 แห่งใน4 จังหวัดของไทยได้แก่แม่ฮ่องสอนตากกาญจนบุรีและราชบุรีจำนวนประมาณ140,000 คนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนีนอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่พักพิงประกอบด้วยบุคคลที่เคยอยู่ในพื้นที่พักพิงแต่ออกไปทำงานข้างนอกและผู้ที่หนีภัยเข้ามาแต่ไม่มีโอกาสเข้าถึงที่พักพิงหรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงอีกราว200,000 คนโดยส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่จากรัฐฉานของพม่า (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2552)

              ทั้งนี้ประเทศไทยมิได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี2494 และพิธีสารต่อท้ายพ.ศ. 2510 อีกทั้งมิได้ยอมรับสถานะและสิทธิของผู้ลี้ภัยตามมาตรฐานอนุสัญญาฯกล่าวคือสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับกลับถิ่นฐานที่เป็นอันตรายและสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมที่เท่าเทียมกับคนต่างชาติที่เข้าประเทศในทางปฏิบัติประเทศไทยอนุโลมให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านหลากหลายสัญชาติมาตลอดหลายทศวรรษนับตั้งแต่ยุคสงครามอินโดจีนเป็นต้นมาไทยเป็นประเทศแรกรับแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนรวมกันถึงประมาณ3 ล้านคนโดยในอดีตผู้ลี้ภัยสงครามอินโดจีนและสงครามเย็นจากลาวกัมพูชาและเวียดนามได้อพยพเข้ามาอยู่ในไทยจำนวนมากและรัฐบาลไทยร่วมกับUNHCR และหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆได้ให้การคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยก่อนที่จะส่งบุคคลเหล่านี้กลับมาตุภูมิของตนเองเมื่อสถานการณ์สงบลงหรือไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามจนหมดสิ้นในปี2542 นอกจากนี้ยังให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในภาคเหนือและภาคตะวันตกของไทยประมาณ140,000 คนและนอกค่ายพักพิงอีกราว200,000 คนในปัจจุบันเนื่องจากไทยมิได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี2494 อีกทั้งมิได้ออกกฎหมายผู้ลี้ภัยโดยตรงทำให้กฎหมายหลักที่ไทยใช้บังคับได้แก่พ.ร.บ.คนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 (แก้ไขปีพ.ศ. 2545) [10] ซึ่งให้อำนาจตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบังคับใช้กฎหมายนี้ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยเนื้อหาในบางมาตรามีดังนี้

มาตรา11 กำหนดให้บุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรต้องเดินทางเข้ามาหรือออกไปตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองและเขตท่าสถานีที่กำหนด 
มาตรา12 ห้ามมิให้คนต่างด้าวประเภทต่างๆเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือมีหนังสือเดินทางแต่ไม่ได้รับการตรวจลงตราเป็นต้นโดยพ.ร.บ.นี้มีบทลงโทษกับผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและผู้ที่นำพาคนเหล่านี้เข้ามาในราชอาณาจักร 
มาตรา62 กำหนดให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน2 ปีและปรับไม่เกิน20,000 บาทเป็นต้นนอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังสามารถส่งบุคคลเหล่านี้กลับออกนอกประเทศได้ 
มาตรา17 เปิดทางให้มีข้อยกเว้นคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีสามารถอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดหรืออาจยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.นี้ได้ด้วยเหตุนี้ผู้ลี้ภัยจึงมีช่องทางเข้ามาอาศัยพักพิงในประเทศไทยเมื่อกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบและเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทั้งนี้รัฐบาลไทยพิจารณาว่าการให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในไทยเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและชั่วคราวเท่านั้นส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวได้แก่การส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศของตนเองหรือส่งไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามเป็นหลักโดยประเทศไทยไม่มีนโยบายให้ผู้ลี้ภัยตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศ

อ้างอิง

[1] ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุดมศักดิ์สินธิพงษ์,สิทธิมนุษยชน. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2548.
[2] “กฎบัตรสหประชาชาติ.” (ออนไลน์).http://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1378954256.pdf (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[3] "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน." (ออนไลน์). http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[4]”ผู้ลี้ภัย.”(ออนไลน์).https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee(สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[5] “อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย."(ออนไลน์). https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf(สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[6]”ผู้หนีภัยความตาย.”http://www.l3nr.org/posts/535713(สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[7] บทสัมภาษณ์นายพงษ์เทพยังสมชีพนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนโดยสาละวินนิวส์ออนไลน์ : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ (ออนไลน์). http://salweennews.org/home/?p=986 (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[8] สถานการ์ณและท่าทีของรัฐแรกรับต่อปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความยืดหยุ่นคือหนทางออก (ออนไลน์). http://www2.ipsr.mahidol.ac.th/ConferenceVIII/Download/Article_Files/3-PolicyStances-Sakkarin.pdf (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[9] "องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนUNHCR." (ออนไลน์). http://www.l3nr.org/posts/260115 (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)
[10] "พ.ร.บ.คนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 ." (ออนไลน์).http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973931&Ntype=19  (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)

หมายเลขบันทึก: 565602เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 21:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท