ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


     จากกรณีศึกษาในประเทศซีเรีย โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงในประเทศต่างๆที่มีการโค่นล้มทรราชและแทนที่ด้วยรัฐบาลที่มีอุดมการณ์อิสลามรวมถึงซีเรียเมื่อประชาชนได้เริ่มออกมาประท้วงโดยสงบ โดยต้องการให้รัฐบาลทำการปฏิรูปทางการเมือง แต่รัฐบาลของบัชชาร อะสัด กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมและผู้เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างโหดเหี้ยมมาโดยตลอด[1] แต่มีทหารบางส่วนแปรพรรคเป็นพวกเดียวกับประชาชน จึงกลายเป็นว่ามีอาวุธทั้งสองฝ่าย เกิดเป็นสงครามกลางเมือง อีกทั้งสงครามยังขยายวงกว้างเนื่องจากรัฐบาลซีเรียได้นำกลุ่มต่างๆเช่น กลุ่มกบฏเลบานอนและประเทศอิสราเอล ไปต่อสู้กับประชาชนด้วย เหตุการณ์ในซีเรียมีความรุนแรงมาก ผู้คนไม่อยากอยู่ในประเทศจึงเกิดกลุ่มผู้หนีภัยความตายไปที่อิรักและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นประเด็นการศึกษาเรื่องผู้ลี้ภัยหรือคนหนีภัยความตาย  

     คำว่า ผู้ลี้ภัยและคนหนีภัยความตายมีความหมายแตกต่างกัน ดังนี้

            ผู้ลี้ภัย อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยค.ศ.1951 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง  บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง[2]

            คนหนีภัยความตาย คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรงและโดยอ้อม  ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบ ส่วนภัยความตาย โดยอ้อม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท ดังนี้ ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้  จึงหนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ภัยความตายอีกประเภทหนึ่งคือ ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น[3]

             UNHCR  (United Nations High Commissioner for Refugees) หรือข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เป็นองค์กรระหว่างประเทศซึ่งทำงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่2วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2493 เพื่อช่วยเหลือชาวยุโรปพลัดถิ่น ช่วงแรกมอบหมายให้ทำงานให้ลุล่วงภายใน 3ปีและจะถูกยุบไป แต่ก็ได้ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเหตุการณ์ต่างๆมาโดยตลอด เช่น ผู้ลี้ภัยจากการที่สหภาพโซเวียตปราบปรามฮังการี วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยในแอฟริกา จึงไม่มีแนวคิดที่ต้องยุบองค์กรนี้จนถึงปัจจุบัน[4]

             อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951[5] เป็นเอกสารทางกฎหมายที่สำคัญใน การตัดสินว่าใครคือผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้ลี้ภัยและหน้าที่ของรัฐต่อผู้ลี้ภัยมีอะไรบ้างรัฐภาคีมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัยตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา  อย่างไรก็ตามสิทธิที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา  เป็นเพียงสิทธิขั้นต่ำ รัฐสมาชิกสามารถให้สิทธิที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้จากผู้ลี้ภัยได้ ตัวอย่างสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951

           สิทธิในการไม่ถูกขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) มาตรา 33 (1)

     รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ(ผลักดัน)ไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายแห่งดินแดนซึ่ง ณ ที่นั้นชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สมาชิกภาพของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือความคิดเห็นทางการเมือง

           สิทธิในการไม่ถูกลงโทษทางอาญาในความผิดฐานเข้าเมืองหรือปรากฏตัวโดยผิดกฎหมาย มาตรา 31 

     รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ลงโทษทางอาญา ด้วยเหตุแห่งการเข้าเมืองหรือการปรากฏตัวโดยผิดกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัย ผู้ซึ่งเดินทางโดยตรงมาจากดินแดนซึ่งชีวิตหรือเสรีภาพถูกคุกคามตามความหมายของมาตรา 1 เข้ามาหรือปรากฏตัวในอาณาเขตโดยไม่ได้รับอนุญาต และผู้ลี้ภัยต้องมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ และแสดงเหตุอันควรเชื่อได้ในการเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือการปรากฏตัวโดยผิดกฎหมาย

           สิทธิในการทำงาน มาตรา 17

  1. ให้รัฐภาคีผู้ทำสัญญาให้ผลปฏิบัติด้วยความอนุเคราะห์อย่างยิ่งต่อผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายภายในอาณาเขตของรัฐนั้นเช่นเดียวกันกับที่รัฐภาคีผู้ทำสัญญาให้ผลปฏิบัติแก่คนชาติรัฐที่สามเกี่ยวกับสิทธิในการรับจ้างเพื่อค่าแรงในสถานการณ์เดียวกัน
  2. ห้ามใช้มาตรการจำกัดต่อคนต่างด้าวหรือการจ้างคนต่างด้าวเพื่อปกป้องตลาดแรงงานแห่งชาติต่อผู้ลี้ภัยซึ่งเคยได้รับการยกเว้นต่อมาตรการเหล่านั้น ในวันที่อนุสัญญานี้มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีผู้ทำสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือซึ่งเข้าเงื่อนไข                  สิทธิในการรับการศึกษา มาตรา 22
  1. ให้รัฐภาคีผู้ทำสัญญาให้ผลปฏิบัติเยี่ยงคนชาติเกี่ยวกับการศึกษาขึ้นพื้นฐาน
  2. ให้รัฐภาคีผู้ทำสัญญาให้ผลปฏิบัติที่เป็นคุณต่อผู้ลี้ภัยเท่าที่เป็นไปได้ซึ่งไม่ว่ากรณีใดจะไม่น้อยกว่าที่ให้ต่อคนต่างด้าวโดยทั่วไปในสถานการณ์เดียวกัน เกี่ยวกับการศึกษาที่นอกเหนือจากระดับขั้นพื้นฐานและโดยเฉพาะเกี่ยวกับการได้รับการศึกษา การรับรองประกาศนียบัตรอนุปริญญาบัตรและปริญญาบัตร การผ่อนปรนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการศึกษาและการให้ทุนการศึกษา           

      ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้หนีภัยความตายมาจากประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากรัฐบาลไล่ยิงมาโดยที่มีการจัดตั้งเป็นค่ายผู้อพยพพักพิงชั่วคราว เช่น ค่ายอุ้มเปรี้ยง จังหวัดตาก แต่จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมิได้เรียกบุคคลที่อยู่ในค่ายว่าผู้ลี้ภัย แต่เรียกว่าผู้หนีภัยความตาย และเรียกค่ายที่ใช้รองรับว่า ค่ายพักพิงชั่วคราวเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าประเทศไทยมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยดังกล่าวแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แต่ประเทศไทยจะกีดกันคนหนีภัยไม่ให้เข้ามาประเทศไทยไม่ได้เนื่องจากต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

      ปัญหาที่ประเทศไทยมิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาจึงเกิดขึ้นว่า ประเทศไทยมิได้ปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ที่อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยกำหนด เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น มีกฎของค่ายพักพิงชั่วคราว ห้ามทำงาน เด็กในค่ายไม่ได้เรียนหนังสือ และห้ามคนหนีภัยความตายออกไปนอกค่ายพักพิงมิเช่นนั้นจะเป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

      ทั้งที่จริงๆ หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว ประเทศไทยก็จะต้องปฏิบัติตามสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญา คือต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา22 ของอนุสัญญา และผู้ลี้ภัยมีสิทธิที่จะทำงานและได้รับค่าจ้างรวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ ตามมาตรา17และมาตรา 18  อีกทั้งสามารถออกจากค่ายได้โดยจะไม่ถูกรัฐลงโทษทางอาญาตามมาตรา 31  อีกทั้งยังมีสิทธิเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับคนต่างด้าว สิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลและสิทธิที่จะไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศที่ถูกคุกคามตามมาตรา 33

      ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งก็คือ ประเทศผู้รับคือประเทศที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาจะรับภาระเป็นระยะเวลานานเท่าไร ซึ่งปัญหานี้กำลังเกิดขึ้นกับค่ายพักพิงชั่วคราวของประเทศไทยที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นเวลาถึง 10 ปีและต้องการจะปิดค่าย เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์สงบแล้ว ปัญหาคือ ประเทศไทยจะสามารถผลักดันคนในค่ายกลับไปยังประเทศเมียนมาร์ได้หรือไม่ อีกทั้งยังต้องดูแลคนในค่าย เช่น ประกันอาชีพให้เขาด้วยหรือไม่ แต่คนในค่ายเองบางคนก็ยังเห็นว่าสถานการณ์ไม่สงบจึงไม่ยอมออกจากค่ายไป ปัญหานี้มีทั้งผู้ที่เห็นว่าประเทศไทยสามารถปิดค่ายและผลักดันให้คนในค่ายกลับไปยังประเทศเมียนมาร์ได้ และผู้ที่เห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถปิดค่ายได้ ต้องรับคนในค่ายไว้เนื่องจากเขามีเอกสารแสดงว่าเป็นผู้หนีภัยความตาย ซึ่งถ้าประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยประเทศไทยก็ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลี้ภัยดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทยตามข้อกำหนดในอนุสัญญาเช่นเดียวกับคนต่างด้าว และไม่สามารถส่งกลับผู้ลี้ภัยไปยังประเทศนั้นได้

      ประเทศไทยมีแนวความคิดว่าเป็นประเทศผู้รับ คือประเทศที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยเพื่อหนีภัยจากประเทศของตน แต่ประเทศไทยมิใช่ประเทศที่สามซึ่งเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยไปตั้งรกรากในประเทศ ซึ่งส่วนมากจะเป็นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สวีเดนโดยจะคัดเลือกผู้ลี้ภัยที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศของเขาไป ทำให้ยังมีผู้ลี้ภัยที่เหลืออยู่เป็นผู้ที่ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ดังนี้ จึงมีแนวคิดที่เสนอให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่สามเพื่อที่จะได้คัดเลือกผู้ลี้ภัยที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศมาเป็นกำลังของประเทศไทยได้

อ้างอิงจาก :

[1] Alhusnayayn.สถานการณ์ในซีเรีย.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จาก http://www.thai4syria.com/content/257. วันที่ 6 เมษายน 2557

[2] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ.ผู้ลี้ภัยคือใคร.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee.วันที่ 6 เมษายน 2557

[3] พงษ์เทพ ยังสมชีพ.คนหนีภัยความตาย.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จากhttp://salweennews.org/home/?p=986 .วันที่ 6 เมษายน 2557

[4] สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ.ประวัติUNHCR.[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://www.unhcr.or.th/th/about/history. วันที่ 6 เมษายน 2557

[5]สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ.อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 .[ระบบออนไลน์].เข้าถึงได้จาก https://www.unhcr.or.th/sites/default/files/Refugee%20Convention%201951%20(Thai).pdf. วันที่ 6 เมษายน 2557

หมายเลขบันทึก: 565598เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท