ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace


                ภาพยนตร์เรื่อง Amazing Grace เป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการยกเลิกการค้าทาสในประเทศอังกฤษดำเนินเรื่องราวด้วยการต่อสู้ของวิลเลียมวิลเบอร์ฟอร์ซสมาชิกรัฐสภาอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้นในการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกการค้าทาสในสหราชอาณาจักรอังกฤษซึ่งสำหรับชาวอังกฤษในยุคนั้นโดยเฉพาะชนชั้นสูงมองเรื่องการค้าทาสว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะสมัยนั้นเป็นยุคในการแผ่ขยายอาณานิคมทาสจึงเป็นแรงงานสำคัญในการสร้างผลผลิตให้แก่อังกฤษทาสจึงถูกมองว่าไม่ใช่คนแต่เป็นสิ่งของที่สามารถซื้อขายหรือยกให้ใครก็ได้และจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรก็ได้โดยถือว่าทาสคนนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผิดหรือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด

                การต่อสู้เพื่อยกเลิกกฎหมายค้าทาสดังกล่าววิลเลียมวิลเบอร์ฟอร์ซ  ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาคำพูดที่เขาเชื่อมั่นคือRemember that god made men equal  หรือการเชื่อว่าพระเจ้าสร้างคนให้เกิดมาเท่ากันและสร้างเขามาเพื่อให้เขาล้มล้างการค้าทาสทั้งนี้การผลักดันร่างกฎหมายยกเลิกการค้าทาสในครั้งแรกได้รับการคัดค้านจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาแม้จะมีการยื่นเสนอฎีกาและรวบรวมรายชื่อผู้คนที่คัดค้านการค้าทาสมาเป็นจำนวนมากจึงมีการนำกฎหมายพาณิชย์นาวีว่าด้วยเรื่องสัญชาติเรือเข้ามาซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกุศโลบายที่ใช้ความไม่ลงรอยกันกับฝรั่งเศสมาอ้างว่าเรือฝรั่งเศสมักชักธงอเมริกาซึ่งเป็นการกำจัดเรือค้าทาสได้จำนวนมากกลไกดังกล่าวนำไปสู่การล่มสลายของกิจการค้าทำให้รายได้จากการค้าทาสลดลงเป็นการช่วยลดการขนส่งและค้าขายทาสไปด้วยในตัวจึงส่งผลให้ร่างกฎหมายพระราชบัญญัติยกเลิกการค้าทาสในอังกฤษ (Emancipation Act) ถูกประกาศใช้ในเวลาต่อมา

ข้อคิดที่ได้จากการชมภาพยนตร์เรื่อง Amazing Grace มีหลายประการกล่าวได้ดังนี้

                ประการแรก คนเราควรมีความพยายามไม่ย่อท้อ แม้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในทันที แต่หากเรามีความตั้งใจ ก็อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ตามมาได้ สะท้อนเห็นได้จากการที่วิลเลียมได้เสนอแนวคิด ของความเท่าเทียมกันต่อสภาสูงอังกฤษไป แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่ท้ายสุดแล้วความพยายามของเขาไม่ได้สูญเปล่า ยังเป็นแรงผลักดันให้ประเทศอื่น เกิดแนวคิดการเลิกทาส

                ประการที่สอง ความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิมนุษยชน[1] เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่ว่าจะเพศใด เชื้อชาติใด ตำแหน่งสูงต่ำเพียงใด ล้วนต้องมีสิทธิอันเป็นพื้นฐาน คือ สิทธิมนุษยชน  มนุษย์ไม่ควรตกอยุ่ในความควบคุมของบุคคลใดเยี่ยงทาส หรือมีการซื้อขายกันอย่างทรัพย์สิน หรือถูกปฏิบัติเสมือนว่ามิใช่มนุษย์ มนุษย์ทุกคนย่อมต้องมีสิทธิในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ในอดีตได้มีคนจำนวนมากมายที่ต้องพบกับความทุกข์ทรมานจากการที่ตนเองต้องถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ได้รับการยอมรับว่าตนเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ต้องถูกปฏิบัติดังเช่นสิ่งของหรือสัตว์เดรัจฉาน ถูกทารุณกรรมในรูปแบบต่างๆมากมาย ซึ่งการค้าทาสก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนของทาสที่ถูกค้าขายซึ่งขัดเป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน [2] หลายข้อด้วยกันดังนี้

          ข้อที่ 1 คือ มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างในตน

          ข้อ 2 คือ ทุกคนมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนด โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด

          ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ

          ข้อ 7 คือ ทุกคนเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน 

                นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงหลักความเท่าเทียมและเสมอภาคของมนุษย์ ที่ไม่ว่า จะอยู่ชนชาติใด ศาสนาใด หรือ มีสถานะทางสังคมอย่างไร ทุกคนล้วนมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากัน  ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน 

                ประการที่สาม วิธีการในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ควรต้องเป็นวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่ความรุนแรง และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบเป็นขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ขั้นตอนในการดำเนินการควรต้องเป็นรูปธรรม และมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน ค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้คนได้คุ้นชินกับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทั้งมองเห็นภาพที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถรับมือ และปรับตัวจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นได้

                ประการสุดท้าย ภาพยนตร์ดังกล่าวสามารถต่อยอดการศึกษาด้านกฎหมายทางทะเลเช่นอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเลค.ศ.๑๙๕๘  อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล [3] ที่ลงนามณ Montego Bay; วันที่๑๐ธันวาคม๑๙๘๒ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์พื้นฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัญชาติของเรือและการจดทะเบียนเรือ                                                                    

อ้างอิง :

[1] "สิทธิมนุษยชน." (ออนไลน์). https://sites.google.com/site/may00may00may/siththi-mnusy-chn/reuxng-thi1khwam-hmay-khxng-siththi-mnusy-chn (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)

[2] "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน." (ออนไลน์). http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)

[3] "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทางทะเลค.ศ.1982." (ออนไลน์). http://www.mkh.in.th/index.php/2010-03-22-18-03-43/unclos-1982 (สืบค้นวันที่ 7 เมษายน 2557)

หมายเลขบันทึก: 565573เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2014 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท