ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


สงครามและความขัดแย้งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผู้ลี้ภัยและผู้หนีความตายจำนวนมาก พวกเขาต้องมีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างลำบากยากแค้นและได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อจิตใจ บ่อยครั้งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความรุนแรงและเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิด มีสภาพความเป็นอยู่อย่างยากแค้นสาหัส อนาคตของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากเกินกว่าจะประเมินค่าได้ [1] ตัวอย่างเช่น สงครามกลางเมืองซีเรีย เป็นความขัดแย้งกันโดยใช้อาวุธในประเทศซีเรียระหว่างกำลังที่ภักดีต่อรัฐบาลพรรคบะอัษ (Ba'ath) ของซีเรีย กับฝ่ายที่ต้องการโค่นรัฐบาล ความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ด้วยการเดินขบวนของประชาชนที่ลามไปทั่วประเทศเมื่อถึงเดือนเมษายน มีการวางกำลังกองทัพซีเรียเพื่อปราบปรามการก่อการกำเริบ และทหารได้รับคำสั่งให้เปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมผลสรุปของความขัดแย้งนี้ตามข้อมูลของสหประชาชาติ มีชาวซีเรียพลัดถิ่นในประเทศราว 1.2 ล้านคนมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากถึง 1.4 ล้านคนหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหนีความรุนแรง[2]

                อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้หนีความตายจากประเทศพม่ามาอยู่ที่ประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรกคือกลุ่มของผู้หนีภัยความตายที่ชัดเจนที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว และกลุ่มผู้ถือบัตรสีต่าง ๆซึ่งรัฐไทยให้หลังจากมีคนหนีเข้ามาในเมืองไทยตามเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น บัตรสีชมพูของผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าที่เข้ามาก่อนปี พ.ศ. 2513 กลุ่มที่สองก็คือ เกณฑ์ของทางยูเอ็นเอชซีอาร์ในเรื่องการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยและกลุ่มที่สาม คือ Provincial Admission Board หรือ PAB คือ คณะกรรมการระดับจังหวัดที่ทำการพิจารณาสถานภาพผู้หนีภัยโดยใช้เกณฑ์ของผู้หนีภัยการสู้รบ[3]

                โดยสรุปแล้ว ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประการใหญ่ๆ คือ สิทธิในการทำงาน สิทธิในการได้รับการศึกษา และสิทธิในการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

                ประการแรก สิทธิในการทำงาน อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์เรื่องสิทธิของผู้หนีภัยความตายนั้น จะเห็นได้ว่า สิทธิในการทำงานของผู้หนี้ภัยความตายจากประเทศพม่าจะมีสิทธิไม่เท่ากันโดยผู้หนีภัยความตายที่อยู่ในค่ายไม่ได้รับสิทธิในการให้ทำงาน ส่วนผู้หนีภัยความตายที่อยู่นอกค่าย ถ้าอยู่ในกลุ่มของผู้ถือบัตรชาวเขาก็จะได้รับอนุญาตทำงานในพื้นที่ที่จำกัด ส่วนกลุ่มผู้ถือบัตรแรงงานต่างด้าวจะได้ทำงานได้ในหลายพื้นที่มากกว่ากลุ่มผู้ถือบัตรชาวเขา แต่จำกัดประเภทของงาน ส่วนผู้หนีภัยความตายที่อยู่ในค่ายจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 23(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน[4]

                ปัญหาประการถัดมาคือ สิทธิในการได้รับการศึกษา เด็กที่อยู่ในค่ายลี้ภัยส่วนใหญ่จะได้ได้รับการศึกษาให้เหมาะสมแก่วัย เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนดังเช่นเด็กคนอื่นๆ ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสำหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม ทำให้เด็กเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเองและโตขึ้นทำงานเลี้ยงชีพตนได้ อีกทั้งไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระดังที่กล่าวไว้แล้วในปัญหาประการแรก

               ปัญหาประการสุดท้ายคือ สิทธิในการมีชีวิตความเป็นยู่ที่ดี ซึ่งเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าการเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้หนีภัยความตายนั้น ไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปที่อาศัยอยู่ในประเทศของตนเองและบ้านของตนเอง ต้องอาศัยอยู่ในค่ายหรือที่พักพิงที่ทำขึ้นชั่วคราว รอผู้คนบริจาคปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต จากสงครามกลางเมืองของซีเรีย จะเห็นได้ว่า มีผู้บริจาค ที่นอน อาหาร และเสื้อผ้าจำนวนมาก เนื่องจาก ผู้อพยพชาวซีเรียนนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีบ้านอยู่อาศัย ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 25(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น อีกทั้ง สถานะของการเป็นผู้ลี้ภัยนั้นยังขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 13 (1) คือ ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐและ (2) คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน เนื่องจากผู้ลี้ภัยที่มาอยู่อาศับในประเทศอื่นนั้นไม่สามารถกลับประเทศของตนได้จนกว่าสงความหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะสงบลง

 

 

 

[1] UNICEF,วันผู้ลี้ภัยโลก[online],สืบค้นวันที่ 5 เมษายน 2557.แหล่งที่มาhttp://www.unicef.org/thailand/tha/media_21276.html

[2] วิกิพีเดีย, สงครามกลางเมืองซีเรีย[online], 15 กันยายน 2556. แหล่งที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki

[3] สาละวินนิวส์, บทสัมภาษณ์ : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ [online], สืบค้นวันที่ 5 เมษายน 2557. แหล่งที่มา http://salweennews.org/home/?p=986

[4] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, (กรุงเทพฯ:กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2551),23-28

 

หมายเลขบันทึก: 565469เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2014 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2014 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท