ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์ Amazing Grace


     จากการดูภาพยนตร์เรื่อง Amazing Grace เป็นเหตุการณ์ในช่วงศตวรรษที่ 18 เกี่ยวกับวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในเวลานั้น  และเป็นเพื่อนกับวิลเลียม พิตต์ ที่ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ในเวลาต่อมา วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ต่อสู้ให้มีการออกกฎหมายเลิกค้าทาส เริ่มต่อสู้ในราวๆปี ค.ศ.1780  แต่ก็ถูกคัดค้านจากสภาอังกฤษเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนในสมัยนั้นเข้าใจว่าทาสผิวดำจากแอฟริกาไม่มีฐานะเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเขาแม้แต่นายทาสก็ตาม มองทาสเป็นเพียงสิ่งของใช้ค้าขาย เป็นสินค้าใช้แลกเปลี่ยนแทนเงิน แม้แต่ใช้เป็นของพนันแทนเงิน ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธมนุษยชนของทาสชาวแอฟริกันอย่างมาก เนื่องจากเป็นการทำให้บุคคลเหล่านั้นปราศจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่มองว่าเป็นมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกับพวกของตนเอง

     ซึ่งการกระทำดังกล่าวคือการนำทาสมากักขังใต้ท้องเรือ หรือในกล่องแคบๆ การรัดโซ่ตรวน นั้นในปัจจุบันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ข้อ 1 มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ และการค้าทาสนั้นขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยตรงใน ข้อ 4 บุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาสหรือสภาวะจ ายอมไม่ได้ทั้งนี้ห้ามความเป็นทาสและการค้าทาสทุกรูปแบบ[1]

     โดยวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ใช้วิธีรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความโหดร้ายการค้าทาส ผ่านโบสถ์ ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์เล่าถึงชีวิตของทาสโดยผู้ที่เคยเป็นทาสเขียนเอง และบอยคอตไม่ใช้สินค้าจากการใช้แรงงานทาส เพราะ วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซเชื่อว่าเขาเกิดมาเพื่อต่อสู้ให้มีการเลิกค้าทาส และปฏิวัติสังคม ซึ่งเป็นวิธีที่ดีเพราะการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกี่ยวกับสังคมควรทำห้สังคมได้รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียของสิ่งนั้น ซึ่งก็คือการค้าทาส เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจะทำให้สังคมยอมรับและไม่เกิดการโต้แย้งซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง

     ในขณะที่ความคิดเรื่องสิทธิของมนุษยชนในสมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย ความคิดเรื่องการเลิกค้าทาสจึงความคิดที่ก้าวหน้ามากเพราะทาสในสมัยนั้นเป็นเหมือนเครื่องมือในการค้าเงิน ใช้ทำงาน โดยลืมไปว่าทาสก็เป็นมนุษย์ และมีสิทธิอย่างที่มนุษย์ทุกคนพึงมีเช่นเดียวกับทุกคน รวมถึงนายทาส  การที่วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ สนับสนุนให้มีการเลิกค้าทาสจึงเท่ากับเป็นคนแรกๆที่ มีความเชื่อและเข้าใจในสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน การออกกฎหมายเลิกค้าทาสจึงเป็นการบุกเบิกการออกกฎหมายสิทธิมนุษยชน

     แต่เนื่องจากในสมัยนั้นเป็นช่วงที่อังกฤษทำสงครามแย่งอาณานิคมกับฝรั่งเศส จึงต้องใช้เงินทำสงครามเป็นจำนวนมาก เมื่อเงินส่วนใหญ่นั้นก็ได้มาจากการเพาะปลูก เช่น ไร่อ้อย และกิจการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แรงงานในการทำงานเป็นจำนวนมาก จึงนำมาสู่การซื้อขายทาสกันอย่างแพร่หลาย ประกอบกับการที่มีสินค้าเกษตรเพื่อส่งออกนั้นก็เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เช่นนี้หากออกกฎหมายยกเลิกการค้าทาสก็จะไม่มีแรงงาน เมื่อไม่มีแรงงาน ก็ไม่มีสินค้า เมื่อไม่มีสินค้าก็ไม่มีเงิน ส่งผลให้กษัตริย์ไม่มีเงินใช้จ่าย ฝ่ายที่คัดค้านจึงนำเหตุนี้มาอ้างว่าเป็นการทรยศต่อประเทศ บ่อนทำลายเศรษฐกิจประเทศชาติ และไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ เป็นเหตุให้กฎหมายยกเลิกการค้าทาสไม่สำเร็จไม่ว่าจะพยายามเสนอมาเป็นเวลาหลายปีก็ตาม ยิ่งในช่วงหลังฝรั่งเศสกำลังจะมีการปฏิวัติโดยหัวข้อปราศัยหลักคือ เสรีภาพสำหรับทุกคน  วิลเลียม พิตต์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเสนอให้วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ชะลอการเสนอกฏหมายดังกล่าวจนกว่าเหตุการทางการเมืองจะสงบลง

     จุดเด่นในภาพยตร์นั้นสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม การทารุณทาสโดยไม่มีภาพที่เสียเลือดเนื้อ แต่ใช้การอธิบายเชิงสัญลักษณ์โดย การนำโซ่ตรวนที่ใช้กับทาสให้วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ ดู การที่วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ พาคนไปลงเรือและให้สูดกลิ่นเลือดของทาส กลิ่นศพของทาสที่ต้องตายอย่างทรมาน ซึ่งสะท้อนได้ว่าการกระทำของนายทาสเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 5 บุคคลใดจะถูกกระท าการทรมานหรือการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ [2]

     ความคิดในการผลักดันกฎหมายของ วิลเลียม พิตต์ ในช่วงแรกเห็นได้จากฉากที่วิลเบอร์ฟอร์ซ และพิตต์ วิ่งในสวน และบอกว่า ตอนเดินหินตำเท้ามากกว่าตอนวิ่ง เห็นได้ว่า พิตต์มีความคิดว่าการพัฒนาอย่างเร่งรีบ ย่อมมีไม่อุปสรรคเหมือนการวิ่งที่จะไม่ถูกหินตำเท้า แต่ในท้ายที่สุดภาพยนตร์กลับทำให้เห็นว่า การค่อยๆ พัฒนาอย่างไม่ต้องรีบร้อนก็สามารถทำให้การออกกฎหมายค้าทาสสำเร็จได้ โดยวิธีมีส่วนสำคัญที่สามารถทำให้กฎหมายมีผลบังคับได้ คือ การออกกฎหมายสัญชาติเรือ โดยหากมีเรือที่ติดธงชาติอเมริกาหากพบว่าเป็นเรือของฝรั่งเศสก็จะถูกยึดและปรับเงินเป็นภาษี  ซึ่งเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ในสภาอังกฤษคิดก็คือเป็นการกลั่นแกล้งฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศไม้เบื่อไม้เมากับอังกฤษเพราะฝรั่งเศสมักจะใช้ธงชาติอเมริกาเพื่อบังหน้า การออกกฎหมายนี้จึงเหมือนเป็นการหาเงินจากฝรั่งเศสไปในตัว แต่เหตุผลเบื้องหลังคือ เรือส่วนใหญ่เป็นเรือขนทาสมาจากแอฟริกา เมื่อถูกปรับเงิน และกักเรือไว้ที่อังกฤษก็เป็นการระงับการขนส่งทาสไปในตัว  ดังคำที่ว่า ต่อต้านฝรั่งเศสเท่ากับต่อต้านการค้าทาส ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ไปนานๆเข้าก็จะทำให้ไม่มีทาสมาค้าและเป็นการลดการค้าทาส เมื่อกฎหมายสัญชาติเรือผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ การออกกฎหมายเลิกค้าทาสจึงง่ายขึ้น โดยชนะด้วยเสียงข้างมากในสภาในคะแนน 283 กฎหมายจึงได้รับการอนุมัติและตราขึ้นในชื่อพระราชบัญญัติเลิกทาส (Emancipation Act) ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 26 กรกฎาคม 1833 [3]

     ปีที่ประกาศใช้กฎหมายเลิกการค้าทาสแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้อย่างยาวนานของ วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ  ที่เริ่มต่อสู้ในปี ค.ศ.1784 และสำเร็จใน เกือบ50 ปีต่อมา นับเป็นการต่อสู้อย่างยาวนานซึ่งสามารถสังเกตุได้จากความชราของตัวละคร และวัฒนธรรมในการแต่งกายที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคศตวรรษที่ 18 วิกผมผู้ชายจะมีขนาดเล็กและเบา มักย้อมสีขาว บางครั้งนิยมผูกเปียหลัง หรือทำเป็นเกลียวแล้วติดโบว์ ซึ่งเห็นได้จากทรงผมของ ตัวละครในภาพยนตร์ช่วงแรก จนเมื่อถึงวันที่ได้รับชัยชนะ ในศตวรรษที่ 19 การสวมวิกที่เสมือนการบ่งบอกสถานะทางสังคมก็ถูกละเลยไป ซึ่งเห็นได้จากตัวละครในภาพตร์ที่ไม่ใส่วิกแต่หันมาใส่หมวกแทน[4]

     ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของ วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการได้ชัยชนะอย่างสันติไม่เสียเลือดเนื้อ ต่างกับกษัตริย์นโปเลียนของฝรั่งเศสที่ชัยชนะได้มากจากการจต่อสู้เสียเลือดเสียเนื้อมากมาย แม้การฉลองชัยชนะนั้นยิ่งใหญ่แต่ก็ไม่มีความสุขเท่ากับการได้ชัยชนะของวิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ

     แม้จะเห็นได้ว่ามีความพยายามมาอย่างยาวนานในการยกเลิกการค้าทาสซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคล แต่ในปัจจุบันแม้ไม่ปรากฏว่ามีการค้าทาสอย่างโจ่งแจ้งและไม่ผิดแปลกเหมือนในอดีต แต่ในปัจจุบันจะปรากฏในรูปแบบของ การค้าเด็ก เพื่อนำไปใช้แรงงานในโรงงานหรือนำมาขอทาน หรือ การค้าประเวณีซึ่งบางกรณีอาจมีการล่อลวงหญิงเพื่อมาหากำไรจากร่างกาย และไม่มีสิทธิใดๆ ต้องทำตามที่เจ้านายสั่ง ไม่ต่างจากทาสในสมัยก่อน  

     ข้อคิดที่ได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ทำให้ได้รู้ว่าการที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังคมที่ประพฤติต่อกันมา อย่างยาวนาน คือ การค้าทาสนั้นต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงอย่างยาวนาน เพื่อให้สังคมได้เตรียมรับสภาพสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากความพยายามในการออกกฎหมายเลิกค้าทาสจนสำเร็จแม้ใช้เวลาอย่างยาวนานเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจบ้านเมือง แต่ในที่สุดความพยายามนั้นก็เป็นผล                                                                        

     หากเราไม่ได้เห็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเพราะปัจจุบันก็ไม่มีการค้าทาสชัดเจนอย่างในภาพยนตร์ เราจึงไม่ให้ความสำคัญหรือไม่รักษาสิทธิต่างๆที่ตนเองมี รวมถึงสิทธิของผู้อื่น เมื่อได้ดูแล้วจึงได้รู้ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ทารุณมาก และเตือนให้เราให้ความสำคัญถึงสิทธิของตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น แม้ไม่ถูกละเมิดมากอย่างในภาพยนตร์  

     ประการสุดท้ายคือได้เห็นวิธีในการผลักดันกฎหมายซึ่งเป็นวิธีที่ชาญฉลาด ผ่านการประกาศใช้กฎหมายสัญชาติเรือ ซึ่งวิธีดังกล่าวทั้งนำมาซึ่งอิสรภาพของทาสและยังทำให้มีรายได้เข้าประเทศ ทำให้ได้ข้อคิดว่าการที่เราจะทำสิ่งใดควรมองให้รอบด้าน เพราะอาจทำให้พบวิธีที่ทำให้ประสบความสำเร็จและได้ประโยชน์อีกด้วย 

 เขียน: 1 เม.ย. 2014

[1] คู่มือหลักสิทธิมนุษยชนสากลในกระบวนการยุติธรรมที่พนักงานสอบสวนควรรู้.(2550). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน The Universal Declaration of Human Rights. สืบค้นเมื่อ 1เมษายน, ปี2557, จากเว็บไซต์: http://www.investigation.inst.police.go.th/download/02015704.pdf

[2] คู่มือหลักสิทธิมนุษยชนสากลในกระบวนการยุติธรรมที่พนักงานสอบสวนควรรู้.(2550). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน The Universal Declaration of Human Rights. สืบค้นเมื่อ 1เมษายน, ปี2557, จากเว็บไซต์: http://www.investigation.inst.police.go.th/download/02015704.pdf

[3] Michael.(2550).  Amazing Graceสู้เพื่ออิสรภาพหัวใจทาส.สืบค้นเมื่อ 1เมษายน, ปี2557, จาก เว็บไซต์: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=181700

[4] ข่าวสดรายวัน. ปี2550. ชื่อบทความยุคสวมวิก. ชื่อหนังสือพิมพ์ข่าวสด, วัน 18 มกราคม, หน้า22.

หมายเลขบันทึก: 565194เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2014 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2014 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท