ข้อคิดที่ได้จากภาพยนต์ Amazing Grace


          ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ4 ​บุคคลใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาส หรือต้องภาระความจำยอมไม่ได้ ความเป็นทาสและการค้าทาสเป็นห้ามขาดทุกรูปแบบ

        การได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงเส้นทางที่ William Wilberforce ต้องต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเลิกทาส โดยสังคมอังกฤษในสมัยนั้น หรือแม้กระทั่งสังคมอื่นๆด้วยก็ตาม ล้วนมองคนที่ต่างเชื้อชาติกับตน กล่าวคือ คนผิวสี มีฐานะเป็นเพียงสิ่งของ ทรัพย์สินที่จะใช้อย่างไรก็ได้ตามแต่ใจเจ้าของ แต่ทุกสังคมย่อมมีความเห็นต่าง Wlliam เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเห็นว่ามนุษย์ทุกคนนั้นเท่าเทียมกัน(ในแง่ของสิทธิมนุษยชน) เขาจึงเรียกร้องอิสรภาพแก่เหล่าทาสในอังกฤษ

          ตามที่กล่าวไปว่าสังคมในยุคนั้นมองคนผิวสีเป็นสิ่งของ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ราวกับเราเห็นว่าสุนัขและแมวเป็นสัตว์เลี้ยง การเคลื่อนไหวของ William จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค เนื่องจากการจะเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมอย่างสิ้นเชิงนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายดายอย่างแน่นอน แต่เขาก็เลือกที่จะไม่ใช้วิธีรุนแรงอย่างการปฏิวัติ เขาใช้วิธีการร่างกฎหมายให้ผ่านสภา โดยค่อยๆโน้มน้าวฝ่ายตรงข้าม และ"เทคนิค"ทางกฎหมายมาปรับใช้กับวิธีการร่างกฎหมายของเขาในภาวะสงคราม โดยเรือขนทาสจะแขวนธงชาติอเมริกันเพื่อป้องกันการตรวจสอบจากอังกฤษ เมื่อใช้"เทคนิค"ในการอาศัยช่องโหว่ของกลุ่มค้าทาส จึงส่งผลให้หลักฐานต่างๆสามารถปรากฏขึ้นได้มากมาย

          นอกจากผมจะได้เรียนรู้ถึงการต่อสู้โดยสันติวิธี ตามหลักประชาธิปไตยของ William แล้ว ผมยังได้เรียนรู้ถึงเกียรติและความได้รับการยกย่องจากการเห็นค่าของผู้อื่น โดยสังเกตได้จากช่วงที่มีคนได้ยินแม่ที่เป็นทาสซึ่งได้รับการกดขี่อยู่นั้น ได้ปลอบลูกของเธอว่า "King Wilberforce จะข้ามทะเลมาช่วยเรา" (ซึ่งก็คือ William นั่นเอง)

          อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า การเห็นค่าของเพื่อนมนุษย์ทุกคนว่ามีความเท่าเทียมกันนั้น ควรจะเป็นความคิดที่อยู่ในจิตใจของทุกคนอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องยากลำบากแก่การชี้แจงดังที่เป็นมาอย่างประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า การปฏิบัติตามกันมาอย่างยาวนาน ไม่ได้หมายความว่าการกระทำหรือแนวความคิดนั้นจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรงกันข้าม มันอาจจะเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรมและชั่วร้ายเลยทีเดียวก็เป็นได้

          อนึ่ง มีข้อพิจารณาว่า เมื่อมีการเลิกทาสไปแล้ว ปัจจุบันยังมีทาสอยู่หรือไม่ ก็ต้องตีความก่อนว่าทาสในที่นี้จะให้มีความหมายเช่นทาสในประวัติศาสตร์ที่มีการล่ามโซ่ตรวน ลงโทษอย่างสาหัส หรือเพียงแค่การกดขี่เพื่อนมนุษย์ตามอำเภอใจ ในความคิดของผมแล้ว คิดว่าทาสยังคงมีอยู่ในปัจจุบันทั้ง 2 ความหมาย โดยขึ้นอยู่กับสังคม ส่วนใหญ่แล้วคงเป็นสังคมใต้ดินอาชญากรรม เช่นการค้ามนุษย์เป็นต้น ซึ่งผมก็คิดว่า การค้ามนุษย์ ก็ยังมีความแตกต่างในหลายๆระดับ และมีลักษณะของทาสทั้ง 2 ความหมายแล้วแต่สภาพ กล่าวคือ ในสังคมที่อาชญากรโหดเหี้ยม การหน่วงเหนี่ยวกักขัง พันธนาการและทรมาณต่างๆ ต่อเหยื่อการค้ามนุษย์ของตน ต้องมีอยู่อย่างแน่นอน

          ส่วนในความหมายการกดขี่เพื่อนมนุษย์นั้น ผมคิดว่าตัวอย่างที่เห็นอย่างเด่นชัดที่สุดคงเป็นกรณีของการเอาเปรียบในการจ้างแรงงาน โดยในระบบทุนนิยมนั้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีอยู่มาก เมื่อลูกจ้างโดนเอาเปรียบจึงไม่มีทางเลือกมากนัก ได้แต่ก้มหน้ายอมรับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องค่าแรงที่ต่ำเกินมาตรฐาน คุณภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เพียงพอ หรือกระบวนการทำงานที่เสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ในกรณีนี้แม้จะไม่ใช่"ทาส"ในความหมายแรก แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ตามหลักของสิทธิมนุษยชน แม้ความโหดเหี้ยมจะต่างกัน แต่การไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตเพื่อนมนุษย์ อันเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย

          ดังนั้น กฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 565191เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2014 22:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2014 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท