โรคอ้วน


โรคอ้วน

         การที่มนุษย์จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงย่อมขึ้นอยู่กับดุลยภาพของพลังงาน ซึ่งมาจากความสมดุลของพลังงานที่ได้จากการบริโภค และพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ พลังงานที่บริโภค ขึ้นกับปริมาณพลังงานที่บริโภคทั้งหมด และขึ้นกับสัดส่วนของพลังงานที่ได้รับนั้นมาจากอาหารประเภทโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต(แป้ง) อย่างละเท่าไหร่ พลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ จะประกอบด้วยอัตราฐานของการเผาผลาญในร่างกาย และพลังงานที่ใช้ไปกับการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การทำงาน การเล่นกีฬา เพราะฉะนั้น แนวทางการปฏิบัติเพื่อการป้องกันโรคอ้วน จึงต้องมีการบริโภคอาหารที่เหมาะสม และมีการเพิ่มระดับการเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเพียงพอ

วันนี้ผมมีแนวทางการบริโภคอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวมาฝากครับ

         1. การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานแต่พอควร ถ้าการบริโภคมากเกินกว่าพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ ก็จะเกิดการสะสมของไขมันในร่างกายจนเกิดเป็นโรคอ้วนในที่สุด แต่ก็ไม่ควรจำกัดมากจนเกินควร การจำกัดอาหารให้น้ำหนักตัวลดลงประมาณสัปดาห์ละ 0.25-0.5 กิโลกรัม จัดว่าเหมาะสมและปลอดภัย

         2. การบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับไขมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าอาหารอื่นๆ และเป็นอาหารที่ยับยั้งความรู้สึกหิวได้ต่ำ ดังนั้นการบริโภคไขมันมากจึงเป็นบ่อนทำลายการควบคุมน้ำหนักตัว ในทางปฏิบัติกระทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันหมู, น้ำมันมะพร้าว, กะทิ, หมูสามชั้น, เนยเหลว, ครีม, ไส้กรอก, หมูยอ, เนื้อติดมัน ของทอด เช่น ปาท่องโก๋, กล้วยแขก, ทอดมัน เป็นต้น

         3. การบริโภคโปรตีน ประมาณร้อยละ 15-20 ของพลังงานที่ได้รับ อาหารโปรตีนมีพลังงานต่ำกว่าไขมัน และมีความสามารถในการยับยั้งยุติความรู้สึกหิวได้ดี และร่างกายจะถ่ายโอนโปรตีนที่บริโภคเกินเป็นสารอื่นได้ดี มีการสะสมโปรตีนต่ำ เพราะฉะนั้นอาหารโปรตีนมีผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี แต่การบริโภคมากเกินควร จะมีผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ในทางปฏิบัติ ควรบริโภคเนื้อสัตว์ ชนิดที่ไม่มีไขมันมาก เช่น เนื้อปลา, เนื้อไก่เอาหนังออก, ถั่วเหลือง, นมไขมันต่ำ, ไข่ไก่ (ไม่ควรเกินวันละ 1 ฟอง)

         4. การบริโภคคาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 50-55 ของพลังงาน คาร์โบไฮเดรต ก็คือ อาหารจำพวก ข้าว แป้ง ของหวาน เป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำกว่าไขมัน และยับยั้งความรู้สึกหิวได้ดี ร่างกายมีขีดความสามารถสูงในการใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงาน แต่ถ้าได้รับมากเกิน ประมาณร้อยละ 80 ของพลังงานที่บริโภคเกินจะถูกสะสมไว้ในร่างกายในรูปของไขมันนอกจากปริมาณแล้ว ยังต้องคำนึงถึงชนิดของคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคด้วย โดยในทางปฏิบัติให้บริโภคข้าว (ข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้อง) เป็นหลัก เพราะข้าวเป็นสารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งเป็นแหล่งให้ใยอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และรสหวาน ในผู้ที่ติดรสหวานเลิกไม่ได้ อาจต้องใช้สารที่มีรสหวาน และให้พลังงานน้อยแทนน้ำตาล เช่น แอสปาร์เทม (Aspartame)

         5. การงด หรือการลดการดื่มแอลกอฮอล์แอลกอฮอล์ไม่ใช่สารอาหาร แต่เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ร่างกายจะให้ลำดับการนำแอลกอฮอล์มาใช้เป็นพลังงานก่อนสารอาหารปกติ ดังนั้นการบริโภคแอลกอฮอล์จะมีผลให้พลังงานแก่ร่างกายไปส่วนหนึ่ง และมีผลทำให้ร่างกาย ใช้พลังงานจากสารอาหารน้อยลง และทำให้สารอาหารถูกสะสมเป็นไขมันในร่างกายมากขึ้น

         6. การบริโภคผัก และผลไม้เป็นประจำผัก และผลไม้ นอกจากให้วิตามิน และเกลือแร่แล้ว ยังเป็นใยอาหารซึ่งทำให้ลดความหิว และลดการบริโภคพลังงานลง อย่างไรก็ตามควรบริโภคผลไม้ที่ไม่หวานจัด เป็นหลักใยอาหาร เป็นสารที่พบในผัก และผลไม้ ซึ่งลำไส้ของมนุษย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ดังนั้นใยอาหารจึงไม่เพิ่มจำนวนพลังงาน และมีบทบาทสำคัญในการทำให้การขับถ่ายอุจจาระเป็นปกติ

หากมีใครปฏิบัติตามที่กล่าวมาได้ โรคอ้วนจะไม่มาหาคุณอีกเลย...อิอิ

 

 ที่มาของรูปภาพ : http://siamhealthyshop.ibuy.co.th/shop

หมายเลขบันทึก: 564841เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2014 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2014 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แหม เข้าสู่ความเสี่ยงแล้ว ;)...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท