ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

จุดเริ่มต้นอาเซียนและเป้าหมายการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน


จุดเริ่มต้นอาเซียน และเป้าหมายการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียน

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

Asean ย่อมาจาก Association of South East Asian Nations หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันเปิดประชาคมอาเซียนจากวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งวันดังกล่าวนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประเทศไทย

                จุดกำเนิดอาเซียน ก่อตั้งโดยมีปฏิญญากรุงเทพ(Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 คนไทยที่ถือว่าเป็นผู้ก่อตั้งอาเซียนคนแรกคือ ดร.ถนัด คอมันต์ สำหรับคนไทยที่ได้เป็นเลขาธิการสมาคมอาเซียนคนแรกคือ นายแผน วรรณเมธี อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

                ประเทศที่ถือว่าเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งมี 5 ประเทศ ในปี 2510 คือ ไทย , มาเลเซีย,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์ ต่อมาได้มีการรับสมาชิกเพิ่มเติมอีก 5 ประเทศคือ ปี 2527 ประเทศบรูไนได้เข้าร่วม,ปี 2538 ประเทศเวียดนามเข้าร่วม,ปี 2540 ประเทศลาวและประเทศพม่าได้เข้าร่วม และในปี 2542 ประเทศกัมพูชา ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน

                ด้านวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งอาเซียนมีหลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน เช่น การส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก,การธำรงสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง,การเสริมสร้างเศรษฐกิจและความกินดีอยู่ดีของประชาชนและการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือกับภายนอก องค์การระหว่างประเทศต่างๆ

                เราจะเห็นได้ว่าประเทศทั้ง 10 ประเทศมี ภาษาที่แตกต่างกัน มีวัฒนธรรม มีประเพณีที่แตกต่างกัน แต่ก็ต้องอยู่รวมกันภายใต้ Asean ซึ่งทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน อยู่หลายประการ เช่น ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน , มีการใช้คำขวัญ AEC ร่วมกันคือ One Vision , One Identity , One Community หรือ หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม , มีการกำหนดวันอาเซียนซึ่งตรงกับวันที่ 8 สิงหาคม ของทุกปี

                มีการกำหนดใช้ธงชาติและดวงตราอาเซียนร่วมกัน ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปรวงข้าวสีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมสีขาวและสีน้ำเงิน รวงข้าว 10 ต้น หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ

สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ,สีแดงหมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า,สีขาวหมายถึง ความบริสุทธิ์และสีน้ำเงินหมายถึง สันติภาพและความมั่นคง

                ประเทศไทยเรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎบัตรอาเซียน(ASEAN CHARTER) จึงเปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียน ซึ่งใช้เป็นข้อตกลงในทางการปฏิบัติร่วมกัน

                หลายคนมักตั้งคำถาม ถามกระผมว่า ทำไมถึงต้องมีการร่วมเป็นอาเซียน การร่วมตัวเป็นอาเซียนมีหลายเหตุผลด้วยกัน หนึ่งปัจจัยใหญ่ๆเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสถานการณ์โลก เช่น ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดการค้าเสรี เกิดการร่วมตัวทางด้านเศรษฐกิจ

เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองจากยุคสองขั้วอำนาจเหลือยุคขั้วเดียวและกำลังก้าวสู่ยุคหลายขั้ว

ภูมิภาคต่างๆมีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตที่สูงและความยากในเรื่องการบริหารจัดการทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม อาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมของโลก

                เมื่อรวมเป็นอาเซียนแล้ว แน่นอนย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อที่มีความแตกต่างกันแต่ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ เช่น ความแตกต่างทางด้านศาสนาวัฒนธรรม ประเทศเวียดนาม,สิงคโปร์ ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมขงจื้อ ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา ส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมพุทธ ประเทศมาเลเซีย,อินโดนีเซีย,บูรไน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและประเทศฟิลิปปินส์นับถือศาสนาคริสต์ เป็นต้น

                สำหรับ 3 เสาหลักในการอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียนคือ เสาการเมืองและความมั่นคงจะเน้นเรื่องความมั่นคง เสาเศรษฐกิจจะเน้นเรื่องความมั่งคั่ง และเสาสังคม วัฒนธรรมจะเน้นเรื่องเอื้ออาทรกัน         

                เสาการเมืองและความมั่นคง มีวัตถุประสงค์คือ ช่วยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เกิดสันติภาพและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ภายแผนงานอย่างเป็นระบบ มีกฎกติกา ความรับผิดชอบ มีปฏิสัมพันธ์กันภายในและโลกภายนอก

                เสาเศรษฐกิจ จะเน้นการสร้างสินค้า บริการ การลงทุน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงาน

(ในเบื้องต้นมีการตกลงเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ เช่น ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี และการสำรวจ) เงินทุนอย่างเสรี เพิ่มการแข่งขันกับภูมิภาค สร้างจุดยืนบนเวทีการค้าโลก อีกทั้งในอนาคตจะจัดให้มีการจัดตั้ง ASEAN Stock Exchange Board และ จัดตั้งกองทุนการเงินซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองทุน IMF เป็นต้น

                เสาสังคมและวัฒนธรรม มีจุดประสงค์คือ มุ่งหวังให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นสังคมที่มีลักษณะเอื้ออาทร แบ่งปัน และมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

โดยมีแผนงานคือมีความร่วมมือกัน 6 ด้านในประเทศอาเซียน คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครอง สวัสดิการสังคม ความยุติธรรมและสิทธิ การสร้างอัตลักษณ์อาเซียนและการลดช่องว่างทางการพัฒนา ร่วมกันเป็นต้น

                แล้วประเทศไทยเราพร้อมหรือยังในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ว่าไทยเรารู้จักธงอาเซียนและการก่อตั้งอาเซียนเมื่อใด มาเป็นอันดับสุดท้ายคืออันดับ 10 และ อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับอาเซียนมากเพียงใดมาเป็นอันดับ 7

                ทั้งนี้ สิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเข้าร่วมอาเซียน ซึ่งทุกเวที ทุกหน่วยงานที่จัดการอบรมสัมมนา พูดถึงเมื่อกันว่า เรื่องที่ควรพัฒนาเป็นอันดับแรกๆ คือเรื่องของการใช้ภาษาอาเซียนคือการใช้ภาษาอังกฤษนั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 564360เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2014 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2014 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท