จักรินทร์ วัฒนะมงคล
 : เมื่อข่าวร้ายไม่ได้ทำลายความหวัง


เมื่อข่าวร้ายไม่ได้ทำลายความหวัง (Hope won’t die)

มีคนไข้หญิงชาวไทย แฟนสาวของหนุ่มชาวต่างชาติรายหนึ่ง ป่วยเป็นสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสอย่างรุนแรง (severe herpes encephalitis with status epilepticus) ซึ่งอายุรแพทย์ระบบประสาทได้ลงความเห็นแล้วว่า เธอมีสมองเสียหายรุนแรง (severe brain damage) และคงไม่สามารถกลับมารู้สึกตัวได้

ปัญหาคือ แฟนหนุ่มชาวต่างชาติของเธอยังมีความหวังว่าคนรักของเขาจะมีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้ แม้จะเป็นโอกาสน้อย เขาก็ยังอยากจะหวัง เขายังอยากให้แพทย์ทำการเจาะคอ (tracheostomy) เพื่อเป็นการต่อชีวิตให้เธอ

ส่วนฝั่งครอบครัวของคนไข้ กลับยอมรับสิ่งที่แพทย์ให้ข้อมูลและต้องการให้แพทย์ถอนการช่วยหายใจ เพื่อนำเธอกลับไปเสียชีวิตที่
บ้านอย่างสงบ

ณ ขณะนั้น แพทย์เจ้าของไข้ก็ลำบากใจ ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกับแนวทางการรักษาที่ฝ่ายคนรักชาวต่างชาติของคนไข้กับของครอบครัวคนไข้อยู่ตรงข้ามกันอย่างสุดขั้ว

ผมได้รับการส่งปรึกษาผู้ป่วยรายนี้ แล้วในเย็นวันหนึ่ง ผมก็ไปคุยกับแฟนหนุ่มชาวต่างชาติของคนไข้ ผมฟังเขาพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่พอประเมินความคาดหวังได้ว่า เขาไม่ได้หวังว่าคนรักของเขาจะฟื้นเป็นปกติ ขอให้มีคุณภาพชีวิต(qaulity of life)บ้าง ขอแค่พอรับรู้ได้ และเดินได้บ้าง เขาก็พอใจแล้ว ส่วนเรื่องการเจาะคอ เขาเคยดูหนังเรื่อง Anaconda เขาบอกว่ามีฉากนางเอกโดนงูรัด แล้วเห็นว่าการใช้ของแหลมปักคอช่วยเธอได้ จึงคิดว่าการเจาะคอน่าจะช่วยคนรักเขาได้เช่นกัน นอกจากนั้นเขายังหวังว่า จะมีเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่ช่วยให้สมองกลับมาทำงานได้บางส่วน....ทั้งหมด ผมคิดว่า เขาคาดหวังสูงเกินไป

แล้วผมก็พยายามอธิบายเขาว่า การเจาะคอนั้นไม่ใช่การช่วยชีวิต เป็นแต่เพียงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้การดูแลคนไข้ง่ายขึ้น ส่วนสมองที่เขาคิดว่ามันอาจจะฟื้นกลับมาได้ ผมก็ได้อธิบายว่า สมองคนไข้ที่เสียหายไม่ใช่สมองตาย แต่ส่วนของที่เสียหายคือ สมองใหญ่ (cerebral cortex) ทั้งหมด ผมวาดรูปสมองให้เขาดูให้เห็นภาพว่าสมองใหญ่กับก้านสมองเป็นอยางไร ผมพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจว่าการทำงานของก้านสมองคนไข้ยังไม่เสียไป แต่สมองของคนไข้ส่วนที่เสียไปนั้น มันเกี่ยวกับความรับรู้ เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก การพูดภาษา หากเธอรอดได้ ก็มีแต่การหายใจและหัวใจเต้น เค้าบอกวาหากเขาเป็นอย่างผู้ป่วย เขาไม่ขอมีชีวิตต่อไป เพราะมันเป็นการอยู่อย่างทุกข์ทรมาน....

เรื่องเครื่องกระตุ้นสมองที่เป็นความหวังของเขาว่าจะช่วยให้สมองคนไข้กลับมาทำงานได้ .....ผมบอกว่ามันมีอยู่จริงใช้ในคนไข้พาร์กินสันที่สมองเสียหายแค่จุดเล็กๆ แต่สิ่งที่เสียหายในสมองคนไข้ มันเหมือนเมืองทั้งเมืองที่โดนแผ่นดินไหว มันเสียไปหมด เขาฟังแล้วคิดตามก็พอจะเห็นภาพ ตอนนั้นผมคิดว่าแววตาแห่งการยอมรับความจริงเริ่มปรากฏขึ้น ใครอยู่ตรงนั้นก็จะรับรู้ได้ว่า เขาลดระดับการต่อต้านลงอย่างชัดเจน

ผมคิดว่าการพูดคุยในเย็นวันนั้น ช่วยทำให้เขาได้ระบายความคับข้องใจได้มาก ผมเห็นรอยยิ้มบนใบหน้าเขาบ้าง ทั้งที่ตลอดหลายวันที่ผ่านมาก่อนที่ผมจะมาคุยกับเขา ดวงตาเขาโศกเศร้า สีหน้าเคร่งเครียดจนดูเหมือนเขาพร้อมจะเป็นศัตรูกับทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจ คือ ผมเห็นเขามาดูแล เช็ดตัว เปลี่ยนผ้าออมให้คนรักของเขาโดยไม่รังเกียจ เขารักคนไข้คนรักของเขาจริงๆครับ


ผมคิดว่าการพูดคุยในวันนั้น ทำให้เขารู้ว่าการเจาะคอไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ช่วยให้คนรักเขาฟื้นขึ้นมาเหมือนที่เคยคิดเคยจินตนาการ และเขาก็รู้ว่า หากคนไข้พ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ก็จะต้องมีคนดูแลใกล้ชิดไปตลอด ซึ่งเขาคงทำไมไ่ด้ ผมบอกว่า ไม่ว่าคนรักของเขาจะเป็นอย่างไร เขาก็ยังต้องมีชีวิตอย่างมีคุณภาพต่อไป ไม่ใช่ลาออกจากงานมาดูแลเธอ ซึ่งตอนนั้นผมคิดว่าเขาเริ่มทำใจยอมรับความจริงได้บ้างแล้ว

ก่อนจบการพูดคุยในวันนั้น จึงบอกว่าเรายังมีทางเลือก ผมพอรับรู้ได้ว่าเขาขยันคันควัาหาขัอมูลเพื่อหาหนทางมารักษาคนที่เขารัก ผมจึงบอกว่าหากสนใจให้เขากลับไปอ่านเรื่องเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองในคนไข้ระยะท้าย (Palliative Care) แล้วเราจะมาคุยกันใหม่ เราจะมาหาทางที่ดีที่สุดที่จะดุแลคนไข้ แตไม่ใช่การให้ยาที่ดีที่สุด เพราะมันไม่มีในสถานการณ์อย่างนี้

ผมให้ช่องทางติดต่อทางเฟสบุ๊คกับเขาไป เพื่อว่าเขาสงสัยจะได้ติดต่อได้ ผมคิดว่า หากได้พูดคุยผ่านตัวหนังสือ ได้เขียนอธิบายข้อสงสัย อาจทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น

แลวในคืนนั้น เขาก็ตอบกลับมาครับ

Obviously you understand I am very upset and heart broken about what has happened . I just wish
and didn't want to give up on her getting better. It is hard trying to come to terms I will never see
her smile again. I am now starting to understand the situation and it is sadly irreversible damage to
the part of the brain that makes us human.

I have read about the palliative care..
I think you are right Jacky (ชื่อภาษาอังกฤษสั้นๆของผม), I don't want to see the girl i love suffer
anymore. If you could come see me tomorrow when you have time I would be grateful for that. So
we can confirm the best thing to do for Tree…

Thank you for come talk with me today.

หลังจากได้อ่านข้อความดังกล่าว ผมก็คิดว่าการพูดคุยในเย็นวันนั้นที่ใช้เวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง ก็มีสัญญานดีๆเกิดขึ้น ผมคิดว่า การบอกข่าวร้าย มันไม่ได้มีความหมายแค่การที่ให้คนไข้หรือญาติรับทราบ แต่พวกเขาต้องรู้ต้องเข้าใจ และยอมรับอย่างเต็มใจ ไม่ใช่การบังคับให้รับรู้ ในการพูดคุย แพทย์ไม่ควรละเลยด้านความเป็นมนุษย์ (human) ของคนไข้และครอบครัว เพราะมันเป็นสิ่งที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจความเจ็บป่วยและความทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยต้องเผชิญ สุดท้ายต้องพยายามทำให้พวกเขารู้ว่า ข่าวร้ายไม่ได้ต้อนเราเข้าสู่มุมอับ ไม่ได้ทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง แต่ในสถาณการณ์นั้น มันยังมีทางเลือก คือ การดูแลแบบประคับประคองหรือ palliative
care ที่จะใช้ในการดูแลคนไข้ให้สุขสบายจนถึงวาระสุดท้ายโดยไม่มีการสร้างความทุกข์ทรมานเพิ่มเติม


นพ.จักรินทร์ วัฒนะมงคล

หนวยโรคระบบการหายใจและวิกฤตการหายใจ

กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.พระปกเกล้า จันทบุรี


หมายเลขบันทึก: 563853เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2014 07:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2014 06:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การพูดคุยให้ข้อมูล สร้างความหวังที่ถูกต้องสำหรับผู้มืดมน สุดยอดค่ะ อาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท