ประยงค์
ร้อยตรี ประยงค์ ธรรมมะธะโร

พุทธประวัติคำกลอน(การแสวงหาโมกขธรรม)


ความเพียรของพระพุทธเจ้าก่อนบรรลุพระธรรม

                                     
                         ภาพประกอบ จากหนังสือที่ระลึกโครงการอุปสมบทฯ มูลนิธิวีระภุชงค์
                บันทึกตั้งต้นคือ http://www.gotoknow.org/posts/429446      

                 (โคลงสีสุภาพ)          ฉันเสร็จพุทธ์มุ่งแคว้น        พิหาร
                           พระเจ้าพิมพิสาร                             ทราบไซร้
                           ชวนพุทธ์อยู่ราชการ                         ดีกว่า
                           พุทธ์ไม่รับราชไว้                            จึ่งแก้กังขา

                                            พุทธ์ไม่หวังแค่เจ้า          ราชา
                             แต่ต้องการมรรคา                         หลุดพ้น
                            พิมพิสารขอขมา                            อย่าโกรธ
                             หากพบทางเลิศล้น                         ช่วยรื้อสงสาร

(กลอนแปด)        พุทธ์เรียนกับ อาฬาร ดาบสก่อน           แล้วจึงย้อน ไปรามบุตร สุดสถาน
                     เห็นการเรียน นั้นไม่ใช่ ไปนิพพาน         ลาสองท่าน มุ่งไปเส- นานิคม
          มองทิวทัศน์ อันงามยิ่ง สิ่งสดชื่น       หอมระรื่น สวยสว่าง ช่างเหมาะสม
          แม่น้ำเน- รัญชรา น่าชื่นชม            พุทธ์นิยม เลือกประทับ เพื่อดับภัย

                                             บำเพ็ญทุกรกิริยา
           (กาพย์สุรางคนางค์)   พุทธ์เฝ้าวนเวียน   บำเพ็ญความเพียร  ให้หายสงสัย
     ทดลองวิธี    ซึ่งมีหลายนัย     ฉันเปลือกไม้, ใบ    ไม่อาบน้ำเลย
                                      ยืน, เดินบนหนาม   เปลือยกายทำตาม     กำหญ้าเสวย
    
นุ่งผ้าห่อศพ  ไม่พบคนเลย  บางครั้งเด็กเคย    ซัดฝุ่นใส่องค์

                                   ขบฟันด้วยฟัน     ลมหายใจกลั้น       ฉันให้น้อยลง
    เห็นกระดูกแทน    ตามแขน,พระชงฆ์     ชีพแทบปลดปลง     ทรงตรึกทันที
                          เปรียบพิณสามสาย     ตึงนักขาดง่าย         คลายเสียงอับศรี
     
กลางกลางเข้าไว้      ย่อมให้ผลดี     เสียงเยี่ยมอย่างนี้      นี่แหละบทเรียน

              (กาพย์ฉบัง)    
ปัญจวัคคีย์วนเวียน                 ทราบพุทธ์ออกเพียร
         พระธรรมบำเพ็ญทางใจ
                               รีบชวนกันมาเร็วไว                 ขอเป็นศิษย์ไท้
         จักได้สั่งสอนพวกตน
                               พุทธ์ทำความเพียรผ่านพ้น          หกปีไร้ผล
          จึงหวนกลับฉันอาหาร
                               ปัญจวัคคีย์เห็นการณ์               หลบหนีจนผ่าน
          ลุล่วงสู่ป่ากวางใหญ่
                               พุทธ์ทำความเพียรทางใจ           รู้ธรรมอำไพ
          เพื่อใช้เข่นฆ่าตัณหา
    (กาพย์ยานี)            
 วันเพ็ญเดือนหกไซร้                   ในเช้าตรู่สุชาดา
                      นำข้าวหุงนมมา                                ทูนเกศามุ่งสู่ไทร
                              พบพุทธ์วิสุทธิ์แท้                      น้อมข้าวแด่พุทธ์ทันใด
                      พุทธ์รับให้พรชัย                               นางจากไปใจลำพอง
         

                              พุทธ์ทำคำข้าวนี้                      สี่สิบเก้าคำถูกต้อง
                  เมื่อฉันผ่านลงท้อง                                ให้แคล่วคล่องต้องอุรา
                              ฉันเสร็จเสด็จไป                       ใกล้ท่าน้ำนึกตามว่า
                   หากเป็นศาสดา                                   ถาดลงวารีทวนน้ำ
                           หากไม่ได้เป็นพุทธ์                       ถาดหลุดคล้อยลอยตามลำ
                      แล้วลอยถาดทองคำ                                     ถาดทวนน้ำอย่างประหลาด
                                  จึงจมที่น้ำวน                                   หล่นกระทบนาคราช
                       นาคพลันสรรเสริญศาสด์                              พุทธ์ลีลาศสู่โพธิ์ใหญ่

(กลอนแปด)  เย็นวันนั้น  โสตถิยะ  ผ่านมาพบ         เห็นสงบ  เกิดศรัทธา  น่าเลื่อมใส
                ถวายหญ้า-  คาแปดกำ  ด้วยฉ่ำใจ         พุทธ์รับไว้ ปูลาดที่ วิปัสสนา
                           ผันพระพักตร์ สู่ด้าน   ตะวันออก                   ไม่กลับกลอก  ตั้งสัจจา  ธิษฐานว่า
                           แม้เนื้อเลือด เหือดแห้ง แล้งกายา                   เหลือนหา-  รุ,กระดูก,หนัง  ช่างปะไร
               หากมิได้ บรรลุคุณ  บุญวิเศษ              ละกิเลส  จิตสว่าง กระจ่างใส
               จะไม่ยอม ลุกจากที่ นี้ต่อไป                สำรวมใจ ให้แน่แน่ว  แล้วคิดธรรม
(โคลงสี่สุภาพ)            
แรกจิตร้อนเร่าด้วย          มารนำ
              นึกแต่บุญที่ทำ                            ก่อนนี้
              มารถูกปราบหลาบจำ                      ระย่อ
              มลทินบินหลีกลี้                           จิตแผ้วผ่องแทน
                                                       ตรัสรู้     

(กาพย์สุรางคนางค์)  ยามต้นได้ญาณ   รู้ระลึกกาล  ชาติก่อนหลายแสน
         ยามสองได้ญาณ  รู้การเกิดแทน   ปวงสัตว์ทั่วแดน  เนื่องจากตัณหา 
                         ในยามสุดท้าย   จิตรู้ทำลาย   ตัวอวิชชา
         กำจัดกิเลส   ต้นเหตุทุกขา    เหลือแต่ปัญญา     รู้แจ้งเห็นจริง
(กลอนแปด)   พุทธ์รู้แจ้ง  ความเป็นจริง  สิ่งประเสริฐ           และทรงเกิด   ภูมิปัญญา  ค่าล้ำยิ่ง
                  การประกอบ  ตนในกาม  นั้นต่ำจริง            ยังเป็นสิ่ง  ที่ทราม, ด้อย   ถอยปัญญา
    อีกอย่างหนึ่ง ทำกาย ให้ลำบาก         เกิดทุกข์มาก แต่ไม่สิ้น กลิ่นตัณหา
    มีทางที่ ดีเด่น เป็นมัชฌิมา               แปดข้อพา  เลิศเห็นชัด อัศจรรย์
                  คือทิฏฐิ ความดำริ วจีชอบ                       งานรอบคอบ เลี้ยงชีพถูก ปลูกเพียรมั่น
                  ระลึกใส ตั้งใจชอบ กรอบสำคัญ                 ทำแล้วพลัน จะสบาย ไปนิพพาน
(กาพย์สุรางคนางค์)     ตรัสรู้เสร็จไซร้  ทวยเทพน้อยใหญ่ เปล่งสาธุการ
            ดนตรีบรรเลง  ขับเพลงแสนหวาน  ดอกไม้ผลิบาน  กลิ่นหอมโชยไป
                
                                    แผ่นดินไหวสั่น ฟ้าร้องสนั่น โลกพลันสดใส
             วิหคกู่ร้อง   เสียงก้องแนวไพร    ปวงสัตว์ทั่วไตร     สุขใจยาวนาน 

(กาพย์ยานี)        พระพุทธ์ตรัสรู้                     ธรรมเลิศหรูจึงอุทาน
             เมื่อเราไม่พบญาณ                          ท่องสงสารเป็นอนันต์
                      เพียงเพื่อหาตัณหา                 การเกิดมาทุกข์มหันต์
             เมื่อพบย่อมจับมั่น                           ฉันรู้จักเจ้าแน่แน่ว
                      โครงเรือน, ยอดเรือนเจ้า          เราหักสิ้นภินท์เสียแล้ว
              จิตเราวาวผ่องแผ้ว                          ถึงแล้วนั่นนิพพานนิ่ง
(ภุชงคประยาตฉันท์ 12)    
    พระปีติเพราะมีสุข                  พระธรรมปลุกไร้ทุกข์ยิ่ง
                                        พระพักตร์ผ่องดั่งทองจริง             พระทัยยิ่งยะเยือกนาน

                                     
                              ภาพประกอบจาก อาจารย์เสน่ห์  ธนารัตน์สฤษดิ์
                                              เสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์ 
          

               พุทธ์อิ่มใจ ได้แจ่มชัด ตรัสรู้           ประทับอยู่ เสวยสุข ทุกสถาน
               สัปดาห์หนึ่ง บนหญ้า อยู่ช้านาน        สองสถาน อนิมิส- สเจดีย์
       แก้วจงกรม เดินไปมา สัปดาห์สาม      สี่ก็ข้าม ไปพายัพ  กับโพธิ์ศรี
       ห้าอยู่ใต้ ร่มไม้ไทร ใบมากมี            หกอยู่ที่  มุจจลินท์  ยินฝนพรำ
               สัปดาห์เจ็ด ใต้ไม้เกด เป็นที่สุด       มีบุรุษ เดินผ่านมา  หน้าคมขำ
               ตปุสสะ ภัลลิกะ พากันนำ             ข้าวที่ทำ  เป็นเสบียง  เลี้ยงพุทโธ
     ทั้งสองคน จึงเป็นคู่ อุบาสก         ที่ยอยก  พุทธ์, ธรรมมา เป็นนาโถ
     ทั้งสองคน ปองธรรมะ พามโน      จิตภิยโย ยอดยิ่ง  มิ่งมงคล
               เสวยสุข เจ็ดสัปดาห์ พระพุทธ์ตรึก           ธรรมนั้นลึก ยากยิ่งนัก จักเห็นผล
               แต่พระพุทธ์ กรุณา มหาชน                  จำแนกคน เป็นสี่เหล่า พุทธ์เข้าใจ
     หนึ่งดอกบัว อยู่พ้นน้ำ ล้ำเลิศเลอ             สองเสมอ ระดับน้ำ ธรรมะใส
     สามใต้น้ำ ค่อนข้างจะ อนาถใจ               สี่ติดใน โคลน, ตม,เลน เป็นเหยื่อปลา
                ครานั้นท้าว สหัมบดี มหาพรหม             ทราบบรม  พุทธ์รู้แจ้ง แสงสัจจ์จ้า
                รีบมาพบ พระพุทธ์พลัน พร้อมวันทา        โปรดเมตตา แจกสัจจ์ให้ ชนหายเขลา

     พุทธ์ตัดสิน พระทัยชัด ประกาศธรรม         ค่าเลิศล้ำ กับดาบส ท่านผู้เฒ่า
     แต่สองท่าน นั้นล่วงลับ ด้วยกรรมเก่า         พุทธ์หวังเล่า ให้ห้าท่าน เรืองปัญญา 
                พุทธ์มุ่งหน้า สู่ป่ากวาง ใจตั้งมั่น            พบพราหมณ์พลัน เดินสวนทาง พราหมณ์กังขา
                เอ่ยถามพุทธ์ ผิวผุดผ่อง ดั่งทองทา        ว่าครูอา- จารย์ของท่าน นั้นคือใคร
     พุทธ์จำนรรจ์ ฉันเป็นครู ผู้หรูเลิศ              ฉันประเสริฐ บริสุทธิ์ สุดผ่องใส
     พราหมณ์งงงัน สั่นศีรษะ ลาหลีกไป           พุทธ์เร็วไว จนลุถึง ซึ่งวนา           
                           แสดง”ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”

                     

   (กาพย์ยานี)      พวกห้า คราเห็นพุทธ์           นัดไม่พูด, รับอาสา
     แต่ครั้นพุทธ์เดินมา                              พากันกราบ รับช่วยพลัน
           พุทธ์แจ้งเขาทั้งหมด               สุคตเป็นอรหันต์
       เริ่มหมุนวงล้อพลัน                     ชี้ทางอันควร, ไม่ควร

      พุทธ์ตรัสท่านทั้งห้า                       สองอย่างพาจิตผันผวน
มั่วสุมชุ่มกามล้วน                               ไม่สมควรด้วยต่ำทราม
      เป็นของปุถุชน              เกิดทุกข์ล้นบนขวากหนาม
ไร้ค่าพาวู่วาม                     ผู้ดีงามไม่ทำกัน
     ทำตนให้ลำบาก                           เกิดทุกข์มากอย่างมหันต์
ไม่ควรทำอย่างนั้น                             ประโยชน์พลันมลายไป
      ดูก่อนท่านทั้งห้า              สายกลางพาให้เลิศไซร้
เป็นข้อที่พุทธ์ได้                    รู้แจ้ง, ใส พุทธ์ได้พบ
        ทำให้เกิดจักษุ                        ญาณบรรลุสู่สงบ
รู้ยิ่ง, รู้พร้อมครบ                            พบนิพพานอันเด่นดี
        ดูก่อนท่านทั้งห้า              มัชฌิมาเป็นอย่างนี้
เห็นชอบดำริดี                         วจีหวานทำงานจริง
        เลี้ยงชีพและเพียรชอบ               ระลึกรอบตั้งใจยิ่ง
นี้แลเป็นขวัญมิ่ง                              เป็นสิ่งที่พุทธ์รู้ชัด    
        ทำให้เกิดจักษุ                  ลุญาณครบพบสงัด
รู้ยิ่งรู้พร้อมชัด                          ลัดเลาะลุสู่นิพพาน
       ดูก่อนท่านทั้งห้า                        ทุกข์มีมาตั้งเนิ่นนาน
เกิดแก่แม้วายปราณ                           ทุกข์และมารเข้าประชิด 
       ความโศกความร่ำไร            ไม่สบายทั้งกาย, จิต
คับใจก็เป็นพิษ                          ทุกข์ติดตามช้ำใจเรา
    พบสิ่งไม่พอใจ                              เกิดทุกข์ใหญ่ให้โศกเศร้า
พลัดพรากของรักเล่า                          ซึมเซาใจไม่เว้นวัน
     อยากได้ในสิ่งใด                    ก็ไม่ได้ในสิ่งนั้น
ทุกข์มากอย่างมหันต์                   ขั้นธ์ทั้งห้าพาทุกข์มี
      ดูก่อนท่านทั้งห้า                          เหตุพาให้เกิดทุกข์นี้
ตัณหาทำให้มี                                   ยินดีด้วยความกำหนัด
      ย่อมเพลินในอารมณ์               ติดอาจมงมงายชัด
ตัณหาพาอึดอัด                           จัดแบ่งได้ดังนี้ไง
   ตัณหาในเรื่องกาม                        ในความมีความเป็นไป
ในความไม่มีไซร้                              ไม่เป็นไปในอย่างนั้น
      ดูก่อนท่านทั้งห้า               ดับทุกขามีเป็นขั้น
ดับสิ้นตัณหานั้น                     ไม่มีวันหวนกลับมา
       เป็นความสลัดทิ้ง                     สละสิ่งที่ไร้ค่า
ทั้งปล่อยไม่ให้มา                            อาศัยอีกหลีกห่างไกล
     ดูก่อนท่านทั้งห้า               มัชฌิมาพาจิตใส
 ดับทุกข์เกิดสุขใจ                  แปดข้อไงทำให้มี

     เห็นชอบ, ดำริเหมาะ               วจีเพราะ,ทำงานดี
เลี้ยงชีพ, เพียรถูกที่                      ระลึกศรี, ตั้งใจมั่น
          ดูก่อนท่านทั้งห้า              ตาและญาณ, ปัญญานั้น
วิชชา, สว่างพลัน                       เหล่านี้นั้นเกิดแก่เรา
     ธรรมนั้นเรารู้ดี                 ทุกข์อย่างนี้ที่พาเมา
พุทธ์รู้ทุกข์พาเขลา                 พุทธ์ละเจ้าทุกข์เสียแล้ว
     พุทธ์ดับความทุกข์ไกล               ทำให้แจ้งแสงผ่องแผ้ว
ดับทุกข์ไม่เหลือแล้ว                       จิตแวววับแสนอำไพ
      พุทธ์ทำความดับทุกข์           แปดข้อปลุกสุขยิ่งใหญ่
พุทธ์ทำให้มีได้                       มารตายไปทุกข์ไม่มี
     ดูก่อนท่านทั้งห้า                       ปัญญาเห็นเป็นจริงนี้
รอบสามอาการมี                           สิบสองนี้ในสี่สัจจ์
     ยังไม่หมดจดใส                แก่เราไซร้เห็นได้ชัด
เราไม่กล่าวรู้สัจจ์                    ตรัสรู้ครูจอมไตร
       ดูก่อนท่านทั้งห้า                     ปัญญาเห็นเป็นจริงไซร้
รอบสามอาการได้                          สิบสองในสี่ข้อสัจจ์
       เป็นของหมดจดใส          แก่เราไซร้เห็นได้ชัด
เรากล่าวรู้แจ้งสัจจ์                  ตรัสรู้ครูจอมไตร 
        ดูก่อนท่านทั้งห้า                     ทัสสนาและญาณใส
เกิดแล้วแก่เราไซร้                           ให้รู้เห็นเช่นนี้ว่า
       ความพ้นของเรานั้น          ไม่กลับหันหวนทวนมา
ความเกิดครั้งนี้ค่า                   เป็นเกิดมาครั้งสุดท้าย
         บัดนี้ความเกิดใหม่                ย่อมไร้หมดงดเคลื่อนย้าย
เราตัดสงสารวาย                           กลายเป็นพุทธ์พิสุทธิ์ล้วน
(กาพย์สุรางคนางค์)     
        เกิดสิ่งอัศจรรย์   ทะเลก็พลัน    เกิดการปั่นป่วน
เสียงทิพย์ลอยมา  จากฟ้าเชิญชวน  ทวยเทพทั้งมวล ฟังธรรมพระองค์
        แผ่นดินไหวสั่น    ลมพัดเหหัน    ปวงสัตว์หายหลง
กลิ่นหอมชื่นใจ  ฟุ้งไปโดยตรง  เพื่อบูชาองค์   ทรงปลดโซ่ตรวน         

                
                                                   (ยังมีต่อนะครับ.........)
        บันทึกต่อเนื่องจากบันทึกนี้ครับ    http://www.gotoknow.org/posts/565418

หมายเลขบันทึก: 563788เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2014 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2014 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดียามบ่ายจ้ะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท