SCIT ร่วมใจสามัคคี ทำความดีเฉลิมพระเกียรติ ๘๖ พรรษา มหาราชา


           เมื่อวันที่ ๕-๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ ร่วมกับสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมโครงการ“SCIT ร่วมใจสามัคคี ทำความดีเฉลิมพระเกียรติ ๘๖ พรรษา มหาราชา”เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๖ พรรษา  ณ  โรงเรียนบ้านบะยาวบุ่งโง้งสามัคคี ตำบลกกโพธิ์ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นิสิตรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  ส่งเสริมการสร้างแหล่งการเรียนในชุมชนและสืบสานการสำนึกรักบ้านเกิด  ส่งเสริมให้นิสิตมีการเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยใช้กิจกรรมเป็นสื่อกลาง  สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตกับชุมชน และเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงและภาพพจน์ที่ดีของมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อคนในท้องถิ่น  ในการดำเนินงานแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๔ กิจกรรม ได้แก่  

           ๑. กิจกรรมจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖  โดย นายภานุวัฒน์ โพธิวัฒน์ นายกสโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงาน นำนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักเรียนโรงเรียนบ้านบะยาวบุ่งโง้งสามัคคี และประชาชนบ้านบะยาวบุ่งโง้ง จุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖

           ๒. กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ถือเป็นกิจกรรมหลักในการดำเนินงานซึ่งได้ปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์เดิมที่ไม่ได้ใช้งานให้เป็นห้องสมุดโรงเรียนโดยได้รับความร่วมมือจากนิสิต นักเรียน คุณครู และประชาชน ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น ๓ ส่วน คือ งานช่าง งานจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และงานจัดหมวดหมู่หนังสือ

          ๓. กิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน โดยในกิจกรรมนี้จัดให้นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ฝากตัวเป็นลูกของประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน โดยนิสิตแต่ละคนได้รับการดูแลและแลกเปลี่ยนวิถีชีวิตระหว่างชุมชนตัวเองกับชุมชนบะยาวบุ่งโง้ง
          ๔. กิจกรรมสันทนาการเชื่อมความสัมพันธ์  เป็นกิจกรรมที่ทำให้นิสิตได้ผ่อนคลายจากการบำเพ็ญประโยชน์ และได้ร่วมเล่นเกมสันทนาการร่วมกับนักเรียน และประชาชนบ้านบะยาวบุ่งโง้ง
          ในการจัดการศึกษามีความสําคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนกระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาแต่ละช่วงชั้น เพื่อสร้างองค์ความรู้  กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ มีทักษะการดํารงชีวิตที่เกิดจากการฝึกหัด สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพ อีกด้านหนึ่งคือเป็นการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝังและปลูกจิตสํานึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ขึ้นในจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดํารงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

หมายเลขบันทึก: 563291เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2014 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2014 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท