ความรู้นอกห้องเรียน : การเรียนรู้จากความผิดพลาด (Bad Practice)


สรุปในช่วงสุดท้ายของชีวิต มีข้อคิดอย่างหนึ่งว่าแต่ละคนจะเหลือเวลาในช่วงนี้ไม่เท่ากัน มากบ้าง น้อยบ้าง บางคนก็มาไม่ถึง ก็ขึ้นอยู่กับ “แรงแห่งกรรม” ของแต่ละบุคคล มนุษย์เราท้ายที่สุดแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง สามี-ภรรยา , ลูก , คนที่เรารัก เขาก็คงไม่ยินดีจะไปกับเรา บ้านที่เราซื้อไว้ , รถที่เราอุตส่าห์เก็บเงินซื้อกว่าจะได้ ท้ายสุดมันก็ไม่ใช่ของเราอยู่ดีเพราะมันก็ไม่ได้ไปกับเราด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่มันจะเป็นของเราตลอดไปไม่มีใครเอาไปได้นั่นคือ คุณค่าและความดีงาม ที่ได้สร้างไว้ให้กับเพื่อนมนุษย์บนโลกนี้ตลอดช่วงชีวิตของเรานั่นเองครับ

การเรียนรู้จากความผิดพลาด (Bad Practice)

      การเรียนรู้แบบ Best Practice คือการรับรู้รูปแบบความสำเร็จจากผู้ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเลิศและสามารถประสบความสำเร็จในการทำงาน แล้วนำมาสร้างเป็นพลังความอยากเพื่อกระตุ้นตัวเราเอง ผมเคยมีประสบการณ์เป็นตัวแทนธุรกิจเครือข่ายแห่งหนึ่ง ตอนนั้นเพิ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ยังไม่มีภาระอะไรมากมาย และไฟแรง พี่ที่ผมนับถือท่านหนึ่งเขาเป็นผู้จัดการภาคของธุรกิจเครือข่ายดังกล่าว เขาเห็นว่าผมพอจะมีเวลามาร่วมทำธุรกิจกับเขาได้ เลยมาชวนผมให้ทำเป็น Part Time ซึ่งผมเองเห็นว่าก็ไม่ได้เสียหายอะไรเลยตอบตกลงไป ผมรู้สึกพึงพอใจอย่างมากในวิธีการเชิญชวน จูงใจ สร้างสิ่งเร้าให้ตัวแทนขายอย่างผม โดยการจัดสัมมนาให้ตัวแทนทุกๆสัปดาห์มานั่งฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดีๆเลิศหรู จนยิ่งใหญ่ถึงขั้นอลังการ  วิทยากรที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ก็คือตัวแทนขายรุ่นพี่ๆที่ประสบความสำเร็จและก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร โดยมีเรื่องของรายได้ , ตำแหน่งหน้าที่ , การมีสังคม , มีหน้ามีตา , สวัสดิการที่เลิศหรู ฯลฯ มาเป็นตัวเร้ากระตุ้นให้ตัวแทนขายทุกคนมีความหวัง มีพลังที่จะทำการขายให้ได้มากๆได้เยอะๆ ด้วยวิธีการและกลยุทธ์ใดนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ตรงของท่านวิทยากรเอง ตัวแทนส่วนใหญ่หลังจากฟังแล้วจึงมีความหวัง มีพลังที่จะมุ่งมั่นในการขายต่อไประยะเวลาหนึ่ง แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวแทนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในอาชีพนี้อย่างยั่งยืนเหมือนกับท่านวิทยากรที่มาให้คำแนะนำ  ทำไมตัวแทนส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงผมด้วยจึงไม่สามารถมุ่งสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้ นี่คือคำถามที่ผมพยายามค้นหาคำตอบเสมอมา จนในที่สุดได้ค้นพบและสามารถที่จะสังเคราะห์องค์ความรู้นี้มาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งท้ายที่สุดผมจึงมาเข้าใจว่าสาเหตุหลักของความล้มเหลวนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่มันกลับเกิดจากปัจจัยภายในตัวเราเองทั้งสิ้น ปัจจัยหลักๆคือ กรอบแนวคิดต่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม นั่นเอง

          ผมขอยกตัวอย่างโธมัส เอดิสัน เขาพยายามใช้วัสดุต่างๆ ถึงสองพันชิ้นเพื่อค้นหาสิ่งที่จะมาทำเป็นไส้หลอดไฟเมื่อไม่มีวัสดุชิ้นใดที่ให้ผลน่าพอใจ ผู้ช่วยของเขาบ่นว่า "งานทุกอย่างของเราสูญเปล่า เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย"เอดิสันตอบด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่า "โอ้ เรามากันไกลมากแล้ว และเราได้เรียนรู้ตั้งมากมาย ตอนนี้เราได้รู้แล้วว่ามีองค์ประกอบตั้งสองพันอย่างที่เราไม่สามารถนำมาใช้ทำหลอดไฟที่ดีได้" ดังนั้น... "จงพยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดในชีวิตของเรา"
                ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่ารังเกียจ คนทุกคนเกิดมาล้วนแต่เคยทำสิ่งที่ผิดพลาดกันมาทั้งสิ้น มากบ้าง น้อยบาง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แตกต่างกันไป คำว่าผิดต้องมาก่อนถูกเสมอ เช่นคำว่า ลองผิดลองถูก เป็นต้น สิ่งสำคัญของการพัฒนาตนก็คือ การเรียนรู้ความผิดพลาด เพื่อค้นหาสาเหตุ มาตรการแก้ไขและป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีก ผมเชื่อว่าคนเราถ้ามีความแน่วแน่ที่จะแก้ไขในสิ่งที่ผิดคนรอบข้างได้รับรู้ ได้เห็นเขาก็ให้อภัยและชื่นชมในการกระทำ ความผิดในครั้งแรกคือครู คือบทเรียนที่สอนใจเรา ขอเพียงแต่เราตระหนักรู้และมุ่งมั่นตั้งใจให้แน่วแน่ว่า จะไม่มีความผิดพลาดในเรื่องเดิมๆเกิดขึ้นกับเราแบบนี้อีกต่อไป ความผิดซ้ำๆซากก็จะไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญมันจะไม่กลายเป็นนิสัยถาวรของเรา

            คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ และจะไม่พยายามยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากกลไกการป้องกันตนเองทางจิตที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ คนในสังคมจึงมีความผกผันระหว่างความคิดกับพฤติกรรมในการแสดงออก ผมเรียกตามความเข้าใจของผมเองว่า “สังคมแบบพฤติกรรมผกผัน” มีคำกล่าวว่า อย่าปักใจเชื่อในสิ่งที่เห็น อย่าคิดว่าสิ่งที่เห็นคือความจริงเสมอไป สิ่งที่เป็นความจริงที่เป็นจริง มักจะไม่สามารถรับรู้ได้จากการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ความผิดพลาดในสังคมคือความเลวร้าย ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดพลาดเราก็จะพยายามรีบกลบและลืมๆมันไป ไม่ให้ใครได้รับรู้แม้กระทั่งตนเอง จนวันหนึ่งก็ความผิดพลาดซ้ำขึ้นอีกในเรื่องเดิมๆซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าจนกลายเป็นนิสัยถาวรแบบไม่รู้ตัว

            ด้วยความเป็นห่วงลูกหลานของเราในอนาคต อย่างน้อยในฐานะที่ผมก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งได้รับรู้ข่าวที่เกี่ยวข้องกับความถดถอยด้านต่างๆ ของคนในสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นด้านคุณธรรม   จริยธรรม   มนุษยธรรม บอกตรงๆว่าหดหู่ใจมาก ข่าวบางข่าวได้ยินแล้วอดกลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกที่ออกมาจากจิตวิญญาณผมจริงๆ เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถใช้หลักความถูกต้องอย่างเดียวมาตัดสินได้ ยกตัวอย่าง ข่าวแม่อุ้มลูกน้อยวัย 3 เดือน เข้าไปขโมยนม กับผ้าอ้อมเด็ก หากว่ากันไปตามกฎหมายถือว่าทำผิดแน่นอน การลักขโมยก็ต้องได้รับโทษมิเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้คนกระทำตามได้  แต่วิธีการปฏิบัตินั้นคงจะต้องดูตามหลักมนุษยธรรมด้วยเช่นกัน

             แนวคิดที่ผมจะนำเสนอเพื่อปฏิรูปและพัฒนาตนเองให้กับคนในสังคมไทยได้ตระหนักรู้และปฏิบัติ จำเป็นต้องให้ความสำคัญตั้งแต่วัยเด็กเลยนะครับ (พวกที่ผ่านเลยวัยเด็กมาแล้วอาจจะปฏิบัติได้ยาก แต่ถ้าใครมีแนวโน้มถูกบ่มเพาะมาในลักษณะใกล้เคียงกับแนวทางที่ผมนำเสนอก็สามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนาตนเองได้ทันทีครับ

            การเตรียมความพร้อมเพื่อบ่มเพาะบุคลากรให้มีแนวทางในพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม โดยในหนึ่งช่วงชีวิตของมนุษย์จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาสำคัญประกอบด้วย

                 1. ช่วงเตรียมความพร้อม (เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี)

                        ช่วงนี้จะแบ่งได้ออกเป็นก่อนวัยเรียน และวัยศึกษาเรียนรู้ตามระบบ ในเด็กก่อนวัยเรียน พ่อ-แม่ เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด และได้ชื่อว่าเป็นครูคนแรกของลูก หากถามพ่อ-แม่ส่วนใหญ่ว่ารักลูกไหม ผมเชื่อว่าคำตอบก็คือ รักแน่นอน เด็กส่วนใหญ่จึงอาจจะโชคดีที่ได้เกิดมาบนพื้นฐานความรักความต้องการที่จะมีเขาจากคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ แต่ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่เกิดมาด้วยความไม่ต้องการ ความไม่ตั้งใจของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของเขา ถูกทอดทิ้งให้อยู่กับคนอื่น อยู่ไปตามยถากรรม ซึ่งเป็นความผิดที่เขาไม่ได้ก่อขึ้นมาเลย ยังดีที่ว่าสังคมไทยเราก็ยังมีข้อดีในเรื่องความเมตตา กรุณาอยู่บ้าง เด็กบางคนก็ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อ-แม่บุญธรรม เด็กช่วงก่อนวัยเรียนเป็นช่วงที่มีความสำคัญมากเป็นเสมือนต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์และพร้อมที่จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไปในอนาคต การเตรียมความพร้อมที่ดีจึงเป็นสิ่งที่พ่อ-แม่ ผู้ดูแลเด็กวัยนี้ต้องพึงกระทำอย่างถูกต้องตามหลักการ ด้วยการให้รับรู้ และรู้จักจำแนกแยกแยะต่อสิ่งเร้าต่างๆภายนอก  โดยเน้นอารมณ์ความรู้สึก (สุนทรียภาพ) มากกว่า หลักการและเหตุผล (ตรรกะ) เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีความพร้อมพอที่จะใช้เหตุผล

                        ในส่วนของวัยศึกษาเรียนรู้ตามระบบ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นถึงช่วงวัยก็จะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาในช่วงชั้นแรก ได้แก่ อนุบาลและประถมศึกษา เด็กจะต้องรู้จักการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีขอบเขต รู้จักที่จะรักษาสิทธิของตนเองในความพอประมาณ ใช้กิจกรรมสร้างการรับรู้แบบเข้ารหัส (Encoding) เพื่อเข้าสู่พื้นที่ของสมองในส่วนความจำระยะยาว ให้เกิดความจำที่ไม่ถูกจำกัดด้วยปริมาณ และแยกแยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือเมื่อนำมาใช้จะต้องสามารถถอดรหัส (Decoding) เพื่อให้ความหมายของสิ่งนั้นและแสดงเป็นพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว ในช่วงชั้นนี้คือการมุ่งเน้นที่ ความรู้จากการรับรู้ (Knowledge: K)

                        ช่วงชั้นต่อไป ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษา เด็กในช่วงวัยนี้จะมีความเข้าใจสิ่งต่างๆจากการรับรู้ได้ดีขึ้น สามารถใช้เหตุผลเชิงตรรกะได้ดีขึ้น สิ่งที่ได้รับรู้มาอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องถูกนำมาวิเคราะห์ และสรุปเป็นองค์ความรู้ที่เด็กสามารถสร้างความเข้าใจขึ้นได้เองอย่างเหมาะสม (Understand: U)

                        ช่วงระดับอุดมศึกษา เด็กในช่วงวัยนี้มีความอยากรู้อยากทดลองเป็นทุนอยู่แล้ว การเรียนรู้ของเด็กควรเปิดโอกาสให้เขาได้นำองค์ความรู้ที่เขาได้สร้างจากความเข้าใจของเขาเองมาลงมือกระทำเพื่อ พิสูจน์องค์ความรู้เหล่านั้นว่าเหมาะสมหรือเป็นไปตามความเข้าใจของเขาหรือไม่ และหากไม่เป็นไปตามองค์ความรู้ที่ได้สร้างไว้จะปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างไรต่อไป จากนั้นเขาก็จะเกิดการตัดสินใจได้ด้วยตนเองบนพื้นฐานของการได้ลงมือกระทำจริง (Skill: S)

                        ช่วงชั้นสุดท้ายเป็นช่วงระดับบัณฑิตศึกษา ความหมายตรงตัวอยู่แล้วครับ คือการศึกษาแบบผู้รู้ องค์ความรู้ใดของเขาถ้าผ่านการพิสูจน์ด้วยการลงมือกระทำแล้วเห็นผลจริงองค์ความรู้เหล่านั้นจะได้รับการต่อยอดแตกกิ่งก้านสาขาต่อไปได้ ด้วยการศึกษาค้นคว้าต่อไปด้วยตัวของเขาเอง จนเกิดความเข้มข้นและอาจเกิดเป็นทฤษฎีใหม่สร้างการพัฒนาให้กับโลกนี้ต่อไปได้ การเรียนรู้จนถึงช่วงชั้นนี้จะทำให้คนเกิดกรอบแนวคิดแห่งตน (Mindset) ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาในทุกๆเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาตนเอง กรอบแนวคิดของบุคคลนั้นจะประกอบไปด้วย 1) ทัศนคติ : Attitude  2) ค่านิยม : Value  3) ความเชื่อ : Belief  และ 4) รูปแบบ : Style รวมทั้งหมดแล้วผมขอเรียกว่า คุณลักษณะพิเศษของบุคคลก็แล้วกัน (Attributes: A)

                        สรุปในช่วงเตรียมความพร้อมของมนุษย์การพัฒนาจะเริ่มจาก K ไปที่ U ไปที่ S และได้เป็น A  การศึกษาควรมุ่งเน้นที่กระบวนการคิดมากกว่ายัดเยียดให้รู้ ปริญญาที่ได้เราเรียกว่า “ปริญญาเพื่อวิชาชีพ”

                 2. ช่วงวัยทำงาน (ช่วงอายุ 20-60 ปี)

                        ช่วงของการทำงานเป็นช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่บรรลุนิติภาวะแล้ว บุคคลอื่นจะไม่มีอิทธิพลมากไปกว่าตนเอง หรือ แม้กระทั่งพ่อ-แม่ก็ตาม ก้าวแรกของการเข้าสู่ช่วงวัยทำงานจะถือได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก แต่ถ้าหากการเตรียมความพร้อมในช่วงแรกมาสมบูรณ์พอ จะช่วยลดปัญหาช่วงนี้ลงได้มากเนื่องมาจาก

                        ช่วงแรกของการทำงานคือ พนักงาน (Staff) คือผู้ตามที่ต้องคอยได้รับการดูแลช่วยเหลือ แต่ถ้าหากบุคคลนั้นมีคุณลักษณะพิเศษ  (Attributes: A) ติดตัวมาด้วย ภาวะผู้ตามของเขาจะมีความสมบูรณ์ได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเขามีความตระหนักรู้ในฐานะบทบาทของคนทำงานได้อย่างเหมาะสม หากบุคคลที่เข้ามาทำงานไม่ใช่กลุ่มที่มีคุณลักษณะพิเศษ  (Attributes: A) ติดตัวมาจะทำอย่างไร? คำถามนี้ตอบง่ายมากครับ องค์กรจำเป็นต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นก่อนในตัวบุคคลเป็นสิ่งแรกเลยครับ ตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นมากมายหลายองค์กร แต่ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่มีระบบการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปแบบมาจากบริษัทแม่ในกลุ่มประเทศที่ขึ้นชื่อว่าได้รับการพัฒนาแล้วทั้งสิ้น อาทิเช่น หลักสูตร C-Constructionism ของกลุ่มบริษัท ในเครือซีเมนไทย หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรด้วยการสร้างสำนึกแห่งความเป็นเจ้าขององค์กรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) บุคลากรที่เขาทำงานใหม่กับ CP ทุกฝ่ายงานจะต้องผ่านการฝึกงานจริงที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของ CP เพื่อให้รับรู้ถึงสภาพการทำงานจริงและข้อจำกัดต่างๆของบริบทเหล่านั้นด้วย เป็นต้น

                        ช่วงต่อไปของการเติบโตในบทบาทหน้าที่ หลังจากการฝังตัวอยู่ในองค์กรระยะเวลาหนึ่งที่ไม่สั้นมากเกินไป จะทำให้บุคลากรได้มีความซึมซับที่จะรับรู้ (Knowledge: K) ถึงข้อเท็จจริงต่างๆขององค์กรได้ด้วยตนเอง รู้ถึงวิถี ธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมขององค์กรได้เป็นอย่างดี หากบุคลากรมีคุณลักษณะพิเศษ  (Attributes: A) เกิดขึ้นในตัว (ภูมิคุ้มกัน) สิ่งที่เขารับรู้จะเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์คุณค่าความดีงามให้ตนเองและองค์กรต่อไป จริงอยู่ว่าในองค์กรทุกๆมีทั้งมุมมองด้านดีและไม่ดี แต่บุคลากรที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้วจะเลือกรับรู้เฉพาะในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์องค์ความรู้ที่เป็นความดีงามให้องค์กรเท่านั้น (Understand) บุคลากรกลุ่มนี้จะถูกปรับจากระดับ Staff ขึ้นมาเป็น Leader และ Supervisor นั่นเอง

                        ช่วงสุดท้ายเป็นช่วงที่บุคลากรจะใช้ความเชี่ยวชาญ (Expert) มาสร้างแบบอย่างให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ๆต่อๆไป ด้วยสำนึกแห่งความรักที่มีต่อองค์กร (ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล) การลงมือกระทำในสิ่งที่ได้รับรู้และสร้างสรรค์เป็นองค์ความรู้ที่มีความดีงามอยู่นั้นจะทำให้เกิดความดีงามในกรอบความคิดของบุคคลด้วย ผลที่ตามมาก็คือองค์กรนั้นจะได้บุคลากรที่มีคุณลักษณะพิเศษที่เหมาะสมและดีงาม ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้แก่บุคลากรต่อไปด้วย สิ่งนี้เองที่สนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “การทำงานคือการสร้างคุณค่าความดีงามให้กับความเป็นมนุษย์” เป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงที่มนุษย์ได้รับจากการทำงาน นอกเหนือจาก เงินทอง วัตถุ สิ่งของ หรือตำแหน่ง อำนาจต่างๆที่เป็นเพียงภาพหลอนแห่งชัยชนะเท่านั้น

                        สรุปในช่วงวัยทำงานควรจะเริ่มต้นจาก A ไปที่ K และ U ได้เป็น S ช่วงวัยทำงานนี้จะทำให้มนุษย์ได้รู้จักตัวเอง ค้นพบตัวเอง และพัฒนาตนเองจากการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ปริญญาที่ได้ในช่วงเวลานี้ เราเรียกว่า “ปริญญาชีวิต” (โดยตัวเรามอบให้ตัวเราเอง)

                3 ช่วงสร้างคุณค่าให้ผู้อื่นต่อไปในเวลาที่เหลืออยู่

                        ช่วงนี้เป็นช่วงที่ล่วงเลยจากวัยทำงานแล้ว ถึงเวลาก็ต้องหยุด ต้องให้บุคลากรรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของเราต่อไป ความเป็นอยู่ในช่วงปลายของชีวิตภาระต่างๆควรจะต้องลดลงไป ที่ยังต้องเหลืออยู่คือภาระในการดำรงชีพของตนเองเท่านั้น การทำงานในช่วงนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อสิ่งที่เป็นคุณค่าเทียมอีกต่อไป แต่จะได้ในสิ่งที่เป็นคุณค่าแท้คือความสุขที่เกิดจากความปลาบปลื้ม ที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นความหวังในการได้เกิดเป็นมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ครูอาสาพัฒนาเด็กๆที่ด้อยโอกาส , ศิลปินที่มีใจรักในประเพณีและวัฒนธรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ , การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย , หมอรักษาคนไข้ในถิ่นทุรกันดารและผู้ป่วยยากไร้ในชนบท , สัตวแพทย์ช่วยเหลือสัตว์ที่เจ็บป่วยและถูกทารุณกรรม , การถวายงานในโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ฯลฯ

                        สรุปในช่วงสุดท้ายของชีวิต มีข้อคิดอย่างหนึ่งว่าแต่ละคนจะเหลือเวลาในช่วงนี้ไม่เท่ากัน มากบ้าง น้อยบ้าง บางคนก็มาไม่ถึง ก็ขึ้นอยู่กับ “แรงแห่งกรรม” ของแต่ละบุคคล มนุษย์เราท้ายที่สุดแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง สามี-ภรรยา , ลูก , คนที่เรารัก เขาก็คงไม่ยินดีจะไปกับเรา บ้านที่เราซื้อไว้ , รถที่เราอุตส่าห์เก็บเงินซื้อกว่าจะได้ ท้ายสุดมันก็ไม่ใช่ของเราอยู่ดีเพราะมันก็ไม่ได้ไปกับเราด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่มันจะเป็นของเราตลอดไปไม่มีใครเอาไปได้นั่นคือ คุณค่าและความดีงาม ที่ได้สร้างไว้ให้กับเพื่อนมนุษย์บนโลกนี้ตลอดช่วงชีวิตของเรานั่นเองครับ

หมายเลขบันทึก: 562594เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2014 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2014 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท