การใช้ประสาทสัมผัสในเด็กปฐมวัย


การใช้ประสาทสัมผัสในเด็กปฐมวัย

'รูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส' หรือประสาทสัมผัสทั้ง 5  เป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กในระดับปฐมวัย จำเป็นต้องได้รับการฝึกใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาเรียนรู้ในระดับต่อไป
        บันทึกนู๋เก่งในครั้งนี้ขอแนะนำกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องประสาทสัมผัสทั้ง 5  สำหรับเด็กวัยอนุบาลถึงประถม 1   เพื่อฝึกการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ และเรียนรู้ถึงการทำงานของ ตา หู จมูก ปาก และมือ  ซึ่งเป็นอวัยวะของประสาทสัมผัสเหล่านี้
        การรู้จักใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างเต็มศักยภาพ จะนำเด็กไปสู่การเรียนรู้สรรพสิ่งต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนด้วยวิธีแบบวิทยาศาสตร์ ที่เด็กจะต้องรู้จักสังเกตด้วยตา  หู  จมูก  ลิ้น และกายสัมผัส   
         กิจกรรม 10 รูปแบบที่เต็มไปด้วยความสนุกและเพลิดเพลินต่อไปนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเด็กไปสู่การฝึกฝนการใช้ประสาทสัมผัสของตนเอง โดยครูสามารถเลือกใช้บางส่วนหรือทั้งหมด หรืออาจนำไปประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพของเด็กและโรงเรียน
 
          อะไรอยู่ในกล่อง  การนำสิ่งของชนิดต่างๆ ใส่ไว้ในกล่อง แล้วให้เด็กทายว่าของในกล่องคืออะไร เป็นการทดลองเพื่อฝึกประสาทสัมผัสในส่วนของการได้ยิน  กิจกรรมนี้ทำได้ง่ายๆ แต่สนุกสนานมากสำหรับเด็ก เพียงแค่เตรียมกล่องเปล่า  กระป๋อง หรืออุปกรณ์สำหรับบรรจุสิ่งของต่างๆ จากนั้นใส่สิ่งของเข้าไปในกล่องโดยไม่ให้เด็กเห็น เขย่ากล่อง  แล้วให้เด็กแต่ละคนทายว่าอะไรอยู่ในกล่องด้วยการเดาจากเสียงที่ได้ยิน  ครูอาจให้เด็กจับคู่แล้วสลับกันถามตอบก็ได้
          กลิ่นอะไรเอ่ย    กิจกรรมนี้จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสการรับกลิ่น  โดยให้วางก้อนสำลีไว้ในถ้วย จากนั้นหยดน้ำที่ผสมกลิ่นต่างๆ ลงแต่ละถ้วย เช่น กลิ่นวนิลา  ส้ม  มะนาว  กาแฟ หรือกลิ่นอะไรก็ได้ที่ปลอดภัยในการสูดดม ให้เด็กดมกลิ่นในแต่ละถ้วย แล้วบอกว่าเป็นกลิ่นอะไร 
         อะไรหายไป   เกมนี้ส่งเสริมการใช้สายตาหรือการมองเห็น เด็กๆ สามารถเล่นเกมนี้ได้ง่าย   เพียงแค่ครูย้ายสิ่งของออกจากห้องเรียนในขณะที่เด็กไม่เห็น  แล้วให้เด็กแต่ละคนค้นหาสิ่งของที่หายไปจากห้อง โดยครูคอยบอกใบ้ให้ว่าของที่หายไปมีลักษณะอย่างไร เช่น ทรงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม   หรือมีลักษณะอื่นๆ  แล้วให้เด็กนึกทบทวนคำตอบจากภาพที่เคยเห็น 
          ชอบโอวัลตินหรือไมโล  เป็นการทดสอบประสาทสัมผัสลิ้น เพียงแค่ให้เด็กดื่มเครื่องดื่มประเภทเดียวกัน แต่ต่างยี่ห้อ เช่น โอวัลติน และไมโล โดยไม่ให้เด็กบอกว่าชอบโกโก้ยี่ห้อไหนมากกว่ากันก่อนที่จะได้ลิ้มลองรสชาติที่แท้จริง 
          ตาบอดสี  อาการตาบอดสีถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของ เรตินาที่อยู่ในดวงตา  ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประมาณกันว่า ผู้ชาย 10 คน มี 1 คน ที่มีโอกาสเกิดอาการตาบอดสี  ในขณะที่เกิดกับผู้หญิงมีจำนวนน้อย  ครูสามารถทดสอบว่าเด็กคนใดมีอาการตาบอดสีหรือไม่  ด้วยการให้นักเรียนมองแผ่นภาพ ซึ่งประกอบด้วยรูปวงกลม  ดาว และสี่เหลี่ยม ดังตัวอย่าง  โดยให้รูปทรงต่างๆ เป็นสีส้ม ส่วนพื้นเป็นสีเขียว ถ้าเด็กคนใดไม่สามารถบอกได้ว่าในแผ่นภาพนั้นมีรูปอะไรบ้าง แสดงว่าเด็กคนนั้นตาบอดสี ซึ่งครูควรให้การเอาใจใส่เป็นพิเศษและจัดการเรียนให้เหมาะสมกับเด็ก
          มีอะไรอยู่ในถุง  เป็นการฝึกใช้ประสาทสัมผัสในส่วนของกายสัมผัส โดยใส่สิ่งของที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่ม   หยาบ ขรุขระ  ลื่น หรืออื่นๆ  ในถุงกระดาษ  ส่งถุงไปรอบๆ ห้อง ให้เด็กแต่ละคนล้วงมือลงไปสัมผัสสิ่งของในถุงโดยห้ามมอง  แล้วเดาว่าเป็นอะไร  เมื่อเด็กทุกคนได้สัมผัสสิ่งของในถุงจนครบ   เขียนคำตอบที่เด็กแต่ละคนทายบนกระดาน ก่อนจะเฉลยว่าอะไรอยู่ข้างในถุงกระดาษแต่ละใบ 
         ภาพลวงตา  ภาพที่มองเห็นเชื่อได้หรือไม่ เพราะบางครั้งอาจเป็นภาพลวงตา การทดสอบประสาทสัมผัสทางตาเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเด็ก  ทำได้โดยการให้เด็กมองแผ่นภาพรูปช้างหรือรูปเส้นตรงดังตัวอย่าง แล้วให้ตอบว่าช้างมีกี่ขา และเส้นตรงเส้นใดยาวกว่า ซึ่งแต่ละคนมองเห็นต่างกัน  จากนั้นครูจึงเฉลยว่าช้างมี  4  ขา ส่วนเส้นตรงทั้งสองเส้นยาวเท่ากัน                                 

         สร้างสรรค์เครื่องดนตรี  กิจกรรมนี้จะช่วยทดสอบประสาทสัมผัสการได้ยินและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ครูให้เด็กตั้งวงดนตรีขึ้นมา  ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องดนตรีเป็นของตนเอง  รวมทั้งร้องเพลงให้เพื่อนร่วมห้องฟัง  เด็กแต่ละกลุ่มอาจสร้างเครื่องดนตรีง่ายๆ ที่ทำจากขวดแก้ว กระป๋องโลหะ  หรือแผ่นไม้ การจัดกิจกรรมนี้ควรปล่อยให้เด็กทำเต็มความสามารถ โดยไม่จำกัดเวลา 
         อักษรเบรลล์  อธิบายให้เด็กฟังว่าคนตาบอดใช้อักษรเบรลล์อย่างไร พร้อมกับเชิญชวนให้เด็กๆ ออกแบบระบบการสื่อสารสำหรับคนตาบอด  โดยกำหนดหัวข้อการออกแบบไว้ว่า  ระบบที่ออกแบบมีการทำงานอย่างไร  และมีการใช้งานแตกต่างจากอักษรเบรลล์อย่างไร กิจกรรมนี้จะช่วยฝึกเด็กในเรื่องของการสัมผัส
         ความรู้สึกผ่านสายตา  ถึงแม้ว่าเด็กไม่สามารถจับต้องสิ่งที่เห็นในรูปภาพ  แต่การจินตนาการจะช่วยเติมเต็มช่องว่างส่วนนี้ของเด็ก ได้   โดยครูอาจให้เด็กดูภาพผลไม้ ดอกไม้ เครื่องดนตรี   อาหาร  หรือภาพอื่นๆ แล้วให้เด็กบรรยายรูปผ่านสายตาให้ครบทุกประสาทสัมผัส เช่น เมื่อเด็กเห็นภาพผลส้ม เด็กอาจบรรยายว่าเป็นสิ่งของที่มีลักษณะกลม  ผิวเรียบลื่น  กลิ่นส้ม รสชาติเปรี้ยวหวาน มีสีเหลืองหรือเขียวปนเหลือง  มีเสียงจี๊ดจ๊าด เป็นต้น

         ภายหลังที่เด็กได้ฝึกทักษะและรู้จักหน้าที่ของประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ดีพอสมควรแล้ว ให้ครูจัดกิจกรรมที่เรียกว่า 'บทกวีแห่งความรู้สึก'  ขึ้น เพื่อทดสอบความเข้าใจและความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสของเด็ก โดยครูแต่งบทกลอนเรื่อง "ความสุข" ที่โยงเข้ากับเรื่องประสาทสัมผัสทั้ง 5 เขียนแล้วอ่านให้เด็กฟัง
 
                  ความสุข 
         ความสุขคือสีขาว (รู้สึก)
         เปรียบเสมือนลูกหมาขนปุย (รูป)
         หวานเหมือนขนม (รส)
         หอมเย็นเหมือนดอกมะลิ (กลิ่น)
         มีเสียงเหมือนคลื่นในทะเล (เสียง)
         อบอุ่นราวอยู่ในอ้อมกอดแม่ (สัมผัส)
                   
       
         เมื่ออ่านบทกลอนจบ   ให้ครูเขียนสิ่งต่อไปนี้บนกระดานดำ แล้วให้เด็กแต่ละคนบอกว่ากลอนแต่ละบรรทัดบ่งบอกว่ามีการใช้ประสาทสัมผัสส่วนใดบ้าง 
            บรรทัดที่ 1  บอกอารมณ์หรือความรู้สึก จบบรรทัดด้วยคำบ่งบอกสี   
            บรรทัดที่ 2  บอกว่าความสุขเปรียบได้กับอะไร
            บรรทัดที่ 3  บอกว่ารสชาติของความสุขเป็นอย่างไร
            บรรทัดที่ 4  บอกว่ากลิ่นของความสุขเหมือนอะไร
            บรรทัดที่ 5  บอกว่าเสียงของความสุขเป็นอย่างไร  
            บรรทัดที่ 6  บอกว่าสัมผัสของความสุขเป็นอย่างไร 
         จากนั้นให้เด็กแต่ละคนพูดหรือเขียนถึงความสุขของตนเองผ่านประสาทสัมผัสรูปแบบต่างๆ คล้ายกับตัวอย่างที่ครูอ่านให้ฟังไปแล้ว เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงบทบาทของประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ลึกลงไปอีกขั้น ซึ่งการฝึกฝนเช่นนี้บ่อยๆ จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ประสาทสัมผัสของตนเองได้เต็มศักยภาพยิ่งขึ้น
         การที่เด็กสามารถใช้ประสาทสัมผัสได้เต็มศักยภาพ เป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงไม่ควรมองข้ามการจัดกิจกรรมฝึกใช้ประสาทสัมผัสในเด็กเล็ก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กิจกรรมที่จัดขึ้นควรเป็นกิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานและเพลิดเพลินเหมาะกับวัยของเด็กด้วย

คำสำคัญ (Tags): #pop
หมายเลขบันทึก: 562547เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท