เรื่อง ราชาธิราช  ตอน สมิงพระรามอาสา


                                     เรื่องราชาธิราช  ตอน สมิงพระรามอาสา
ความเป็นมา
     วรรณคดีเรื่อง ราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา เป็นการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ เดิมต้นฉบับเป็นภาษามอญ แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องมีความสนุกน่าสนใจ ให้ข้อคิดมากมายจึงได้มีนักปราชญ์ชาวไทยแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทย ตั้งแต่ก่อนเสียกรุงเสียอยุธยาครั้งสุดท้าย ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 1 ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลและเรียบเรียงให้เรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์อีกครั้ง
 
ผู้เรียบเรียง
     เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
 
 ประวัติและผลงาน
     เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเคยรับราชการเป็นหลวงสร
วิชิต แล้วไปเป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา และเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (หน)ผลงานที่สำคัญของท่านได้แก่ ราชาธิราช สามก๊ก ร่ายยาวมห่เวสสันดรชาดก (กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรี) บทมโหรีเรื่องกากี ลิลิตเพชรมงกุฎ และอิเหนาคำฉันท์ท่านถึงแก่ อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2348
 
 ลักษณะคำประพันธ์
    เป็นวรรณคดีร้อยแก้วแนวนิทานอิงประวัติศาสตร์

 จุดประสงค์ในการแต่ง
     รัชกาลที่ 1 มีพระราชประสงค์ที่จะใช้วรรณคดีเรื่องนี้ให้เกิดประโยชน์ และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท จะได้จดจำไว้เป็นคติบำรุงสติปัญญา
 
     
     เนื้อเรื่องย่อ
    พระเจ้ากรุงต้าฉิงแห่งประเทศจีน ยกทัพมาล้อมกรุงอังวะ ต้องการให้พระเจ้ามณเฑียรทอง ออกไปถวายบังคม และขอให้ส่งทหารออกมาขี่ม้ารำทวนต่อสู้กันตัวต่อตัวกับกามะนีทหารเอกของเมืองจีนถ้าฝ่ายกรุงรัตนบุระอังวะแพ้ต้องยกเมืองให้ฝ่ายจีน แต่ถ้าฝ่ายจีนแ้พ้จะยกทัพกลับทันทีพระเจ้ากรุงอังวะประกาศหาผู้ที่จะอาสาออกไปรบกับกามะนี ถ้าสามารถรบชนะกามะนีทหารเอกของเมืองจีน
จะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราชและแบ่งสมบัติให้กึ่งหนึ่ง เมื่อสมิงพระรามทราบข่าว ก็คิดตึกตรองว่า หากจีนชนะศึกครั้งนี้ จีนคงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีของตนต่อไปแน่ ควรคิดป้องกันไว้ก่อนจึงอาสาออกรบ แม้แรกๆ จะเกรงว่าการอาสารบนี้จะเป็น "หาบสองบ่า อาสาสองเจ้า"ก็ตาม โดยขอพระราชทานม้าฝีเม้าดีตัวหนึ่ง และได้เลือกม้าของหญิงม้าย สมิงพระรามนำม้าออกไปฝึกหัด ให้รู้จกทำนองรบรับจนคล่องแคล่วสันทัดดี พร้อมทั้งทูลขอ ขอเหล็กและตะกรวยผูกข้างม้าในระหว่างการรบ สมิงพระรามเห็นว่า กามะนีมีความชำนาญด้านการรบเพลงทวนมาก และยังสวมหุ้มเกราะไว้แน่นหนา สมิงพระรามจึงใช้อุบายว่าให้แต่ละฝ่ายแสดงท่ารำให้อีกฝ่ายรำตามก่อนที่จะต่อสู้กัน ทั้งนี้เพื่อจะคอยหาช่องทางที่จะแทงทวนให้ถูกตัวกามะนีได้ เมื่อได้หลอกล่อให้กามะนีรำตาม
ในท่าต่าง ๆ จึงได้ช่องใต้รักแร้กับบริเวณเกราะซ้อนท้ายหมวกที่เปิดออกได้ สมิงพระรามจึงหยุดรำให้ต่อสู่กันโดยทำทีว่าสู้ไม่ได้ ขับม้าหนีของกามะนีเหนื่อย เมื่อได้ทีก็สอดทวนแทงซอกใต้รักแร้ แล้วฟันย้อนกลีบเกราะตัดศีรษะของกามะนีขาด แล้วเอาขอเหล็กสับใส่ตะกรวยโดยไม่ให้ตกดิน นำมาถวายพระเจ้ามณเฑียรทองเมื่อฝ่ายจีนแพ้ พระเจ้ากรุงจีนก็สั่งให้ยกทัพกลับตามสัญญา พระเจ้ามณเฑียรทองพระราชทานตำแหน่งมหาอุปราชและพระราชธิดา ให้เป็นบาทบริจาริกาแก่สมิงพระรามตามที่ได้รับสั่งไว้
 
      การพิจารณาคุณค่า
    1. คุณค่าด้านวรรณศิลป์ มีการใช้สำนวนโวหารสูง แม้จะใช้ประโยคยาวแต่ใช้ถ้อยคำภาษาและการเข้าประโยคที่สละสลวย
        1.1 การใช้สำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย เช่น
" พระเจ้ากรุงจีนยกมาครั้งนี้อุปมาดังฝนตกห่าใหญ่ตกลงน้ำนองท่วมป่าไหลเชี่ยวมาเมื่อวสันตฤดูนั้นหาสิ่งใดจะต้านทานมิได้"
หมายถึง กองทัพของพระเจ้ากรุงจีนเป็นกองทัพที่ยิ่งใหญ่ไม่มีใครสามารถต้านทานได้
        1.2 ใช้คำคมให้คติเตือนใจ เช่น
"เรารักสัตย์ยิ่งกว่าทรัพย์ อย่าว่าแต่สมบัติมนุษย์นี้เลย ถึงท่านจะเอาทิพยสมบัติของสมเด็จอมรินทร์มายกให้เรา เราก็มิได้ปรารถนา"
หมายถึง คนที่รักษาคำพูดถึงแม้จะนำทรัพย์อันมีค่ามาให้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำพูดที่เคยให้ไว้ได้"
    2. คุณค่าด้านสังคม ค่านิยม และความเชื่อ
        2.1 ความเชื่อถือในเรื่องฤกษ์ เช่น ตอนพระเจ้ากุงต้าฉิงยกทัมายังกรุงรัตนบุระอังวะก็ต้องรอให้ฤกษ์ดีก่อนจะยกทัพมาใด้
        2.2 ขนบธรรมเนียมในการส่งเครื่องราชบรรณาการไปเพื่อตอบแทน เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งปรัพฤติปฏิบัติตามที่ฝ่ายตนร้องขอ หรือส่งเครื่องราชบรรณาการไปเพื่อขอให้อีกฝ่ายหนึ่งทำตามที่ตนเองขอ เช่น การส่งพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงต้าฉิง เพื่อจะให้พระเจ้าอังวะอยู่ในอำนาจออกมาถวายบังคมและต้องการจะดูทหารรำทวนขี่ม้าสู้กัน
        2.3 การรักษาสัจจะของบุคคลที่อยู่ในฐานะกษัตริย์ เช่น การรักษาคำพูดของพระเจ้ากรุงต้าฉิงเมื่อกามะนีแพ้ก็ยกทัพกลับไปโดยไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใดเลย ตามที่ได้พูดไว้
        2.4 ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เช่น สมิงพระรามแม้จะอาสารบให้กับพระเจ้าอังวะ แต่โดยใจจริงแล้วก็ทำเพื่อบ้านเมืองของตน และยังคงจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของตน
        2.5 การปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ เป็นการสร้างกำลังใจและผูกใจคนไว้ได้ ดังตอนที่พระเจ้าอังวะให้เหตุผลต่อสมิงพระราม เมื่อสมิงพระรามไม่รับบำเหน็จจากการอาสารบ"อนึ่งเราเกรงคนทั้งปวงจะครหานินทาได้ ท่านรับอาสากู้พระนครไว้มีความชอบเป็นอันมากมิได้รับบำเหน็จรางวัลสิ่งใด นานไปเบื้องหน้าถ้าบ้านเมืองเกิดการจราจล หรือข้าศึกมาย่ำยีเหลือกำลังก็จะไม่มีผู้ใดรับอาสาอีกแล้ว"ด้วยเหตุผลของพระเจ้าอังวะข้างต้น สมิงพระรามจึงต้องรับรางวัลในครั้งนี้
 
     ข้อคิดที่ได้จากเรื่อง
    1. คนดีมีความสามารถแม้อยู่ในเมืองศัตรูก็ยังมีคนเชิดชูได้เสมอ
    2. ผู้เป็นกษัตริย์ย่อถือความสัตย์เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด
    3. ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย เช่น กามะนี
    4. ผู้ทีทำกิจโดยอาศัยปฏิภาณไหวพริบและความสามารถเฉพาะตนจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้
    5. บ้านเมืองที่ประกอบไปด้วยกษัตริย์ ที่อยู่ในความสัตย์ เสนาอำมาตย์มีความสามัคคี เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา และทหารที่มีความสามารถในการรบจัดเป็นบ้านเมืองที่แข็งแกร่ง เป็นที่เกรงขามของประเทศทั่วไป และจะสามารถดำรงเอกราชไว้ตราบนานเท่านาน

เรื่องย่อ สมิงพระรามอาสา 


       เมื่อพระเจ้าราชาธิราชขึ้นครองกรุงหงสาวดี ได้ทำสงครามกับพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวา แห่งกรุงรัตนบุระอังวะ(หรือกรุงอังวะนั่นเอง) จากสาเหตุเมืองพะสิมแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชจึงยกทัพไปปราบ เจ้าเมืองพะสิมหนีไปพึ่งเจ้าเมืองทรางทวย(อ่านว่า ซาง-ทวย) เจ้าเมืองทรางทวยจับเจ้าเมืองพะสิมส่งไปถวายพระเจ้าราชาธิราช พระเจ้าราชาธิราชทรงให้ประหารเจ้าเมืองพะสิม พระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาจึงหาหตุตีกรุงหงสาวดีเพราะต้องการแผ่พระราชอำนาจ แต่กองทพของพระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวา ถูกกองทัพพระเจ้าราชาธิราชตีแตกกลับไป เป็นเหตุให้พระเจ้าฝรั่งมังศรีฉะวาทรงอัปยศอดสูจนทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ต่อมา ทรงพระนามว่าพเจ้าฝรั่งมังฆ้อง หรือพระเจ้ามณเฑียรทอง พระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ได้ทำสงครามกันต่อมา
        ครั้งหนึ่ง มังรายกะยอฉะวา(พระราชโอรสของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง) ยกทัพมาตีเมืองหงสาวดี ครั้งนั้นสมิงพระราม ทหารมอญผู้มีฝีมือในการรบเป็นเยี่ยม มีความองอาจเข้มแข็ง บังคับช้าง,ม้า ได้ชำนาญ ได้ชี่ช้างพลายประกายมาศ ออกทำสงคราม ช้างพลายประกายมาศตกหล่ม มังรายกะยอฉะวาจึงจับสมิงพระรามได้ และนำไปจองจำไว้ในกรุงอังวะในฐานะเชลย

     ราชาธิราช..ตอน สมิงพระรามอาสา..
         ฝ่าย พระเจ้ากรุงต้าฉิง ซึ่งเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงจีนนั้น มีทหารเอกคนหนึ่งชื่อ กามะนี มีฝีมือขี่ม้าแทงทวนสันทัดดี หาผู้เสมอมิได้ จีนทั้งปวงก็สรรเสริญว่า กามะนีนี้ มิใช่มนุษย์ดุจเทพยดาก็ว่าได้ อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้ากรุงจีนเสด็จออก ตรัสปรึกษาด้วยเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงว่า "ทำไฉน เราจะได้เห็นทหารขี่ม้า สู้กันกับกามะนีตัวต่อตัวดูเล่นให้เป็นขวัญตาสักครั้งหนึ่ง กษัตริย์องค์ใด ยังจะมีทแกล้วทหาร(ทะ-แกล้ว แปลว่า ทหารผู้มีฝีมือมาก)ที่สามารถจะสู้กามะนีได้ แต่พอชมเล่นเป็นที่เจริญตาได้บ้าง"เสนาบดีจึงกราบทูลว่า"กษัตริย์ที่จะมีทแกล้วทหารขี่ม้าสันทัดนั้นมีอยู่แต่ กรุงรัตนบุระอังวะ กับ กรุงหงสาวดี กษัตริย์ทั้ง 2พระองค์นี้ย่อมทำสงครามแก่กันอยู่มิได้ขาด" 
         พระเจ้ากรุงจีนได้ทรง ฟังก็มีพระทัยยินดีนัก จึงสั่งให้จัดพลพยุหเสนาทั้งปวงเป็นอันมากจะนับประมาณมิได้ ครั้นที่ศุภฤกษ์แล้ว (ถึงเวลายามดี) พระองค์ก็เสด็จทรงม้าพระที่นั่ง ยกทัพบกมายังกรุงอังวะ พระเจ้ากรุงจีนยกมาครั้งนั้น อุปมา(เปรียบเสมือน)ดังฝนตกห่าใหญ่ตกลงน้ำหนองท่วมป่าไหลเชี่ยวมาเมื่อวสัน ตฤดูนั้น(ฤดูฝน ก่อนฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ผลิ นั่นเอง)หาสิ่งใดจะต้านทานมิได้ ครั้นเสด็จดำเนินกองทัพมาถึงกรุงอังวะ ทอดพระเนตรเห็นกำแพงเมืองถนัดก็ให้ตั้งทัพมั่นลง
         ฝ่ายพระเจ้าฝรั่ง มังฆ้องได้แจ้งว่า ทัพจีนยกมามากเหลือกำลัง ก็มิให้ออกรบสู้ต้านทาน ให้แต่รักษาพระนครมั่นไว้เป็นสามารถ ฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนจึงให้มีพระราชกำหนดประกาศแก่ทหารทั้งปวงว่า "ถ้าผู้ใดไม่มีอาวุธรบสู้ อย่าได้ทำอันตรายเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดมิฟังจะให้ตัดศีรษะเสียบเสีย" ครั้นพระเจ้ากรุงจีนให้ตั้งค่ายมั่นลงแล้ว ก็ให้แต่งพระราชสาส์นฉบับหนึ่ง แล้วให้จัดแพรลายมังกรร้อยม้วน แพรลายทองร้อยม้วน กับเครื่องยศประดับหยกอย่างกษัตริย์ปสำรับหนึ่ง ให้ขุนนางในตำแหน่งฝ่ายพลเรือนชื่อโจเปียว พูดภาษาพม่าได้ กับไพร่พอสมควร เชิญพระราชสาส์น กับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง โจเปียว ก็ถวายบังคมลา ถือพระราชสาส์นคุมเครื่องราชบรรณาการมากับด้วยพร่ จึงเรียกทหารผู้รักษาหน้าที่ให้เปิดประตูเมืองรับ นายทัพนายกองได้แจ้งด้งนั้น ก็เข้ากราบบังคมทูลพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง จึงโปรดให้รับผู้ถือพระราชสาส์นเข้ามา โจเปียวก็เข้ามากราบถวายบังคมหน้าพระที่นั่ง ถวายพระราชสาส์นกับเคื่องราชบรรณาการพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง พระเจ้าฝรั่งมังฆ้องจึงรับสั่งให้ล่ามเจ้าพนักงานเข้ามาแปลพระราชสาส์น ล่ามแปลแล้วจึงสั่งให้อาลักษณ์อ่าน ในพระราชสาส์นนั้นว่า  เรายกพยุหเสนามาครั้งนี้ ด้วยมีควาปรารถนา ประการ
จะใคร่ดูทหารขี่ม้า รำทวนสู้กันตัวต่อตัวชมเล่นเป็นขวัญตา(ทวน มีลักษณธคล้ายหอก แต่แหลมและเบากว่า) แม้ทหารกรุงอังวะแพ้ ก็ให้ยอมถวายเมืองแก่เราโดยดี อย่าให้สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อนเลย ถ้าทหารฝ่ายเราแพ้ ก็จะเลิกทัพกลับไปยังพระนคร และราษฎรในกรุงอังวะนั้น โดยต่ำลงไปแต่กระท่อมน้อยหลังหนึ่งก็มิให้เป็นอันตราย พระเจ้าอังวะจะคิดประการใด ก็เร่งบอกออกมา
      พระเจ้าฝั่ง มังฆ้องได้แจ้งในพระราชสาส์นนั้นแล้ว ก็ดีพระทัยนัก ด้วยทรงพระดำริว่า "การสงครามครั้งนี้เป็นธรรมยุทธ์ใหญ่ยิ่ง(ธรรมยุทธ์ แปลว่า สงครามโดยธรรม หรือยุติธรรม) สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรจะมิได้ความเดือดร้อน สมควรแก่พระเจ้าแผ่นดินผู้ตั้งอยู่ในยุติธรรม" ทรงพระดำริแล้วจึงให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าแก่ผู้ถือหนังสือเป็นอันมาก แล้วให้แต่งพระราชสาส์นตอบฉบับหนึ่ง ให้จัดเครื่องราชบรรณาการ ผ้าสักหลาด20พับ นอระมาด50ยอด น้ำดอกไม้เทศ30เต้า ช้างพลายผูกเครื่องทองช้างหนึ่ง(เชือก) มอบให้โจเปียวผู้จำทูลพระราชสาส์นนำกลับไปถวายพระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้ ล่ามพม่าเข้ามาแปล ให้เจ้าพนักงานอ่านถวาย ในพระราชสาส์นนั้นตอบว่า   ซึ่งพระเจ้ากรุงจีนมีพระทัยปรารถนา จะใคร่ชมฝีมือทหารฝ่ายพม่าขี่ม้ารำทวนสู้กัน เป็นสงครามธรรมยุทธ์นั้น เราเห็นชอบด้วย มีความยินดียิ่งนัก เพราะสมควรแก่พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้ใหญ่อันประเสริฐ แต่การสงครามครั้งนี้ เป็นมหายุทธนาการใหญ่หลวง จะด่วนกระทำโดยเร็วนั้นมิได้ ของด(ขอ-งด)ไว้ภายใน 7 วัน อนึ่งพระองค์ก็เสด็จมาจากประเทศไกล ไพร่พลทั้งปวงยังเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอยู่ ขอเชิญพระองค์พักพลทหารระงับพระกายให้สำราญพระทัยก่อนเถิด แล้วเราจึงจะให้มีกำหนดนัดหมายออกไปแจ้ง ตามมีพระราชสาส์นมานั้น    พระเจ้ากรุงจีนได้แจ้งในพระราชสาส์ตอบกลับแล้วก็ดีพระทัย จึงสั่งให้นายทัพนายกองทั้งปวงสงบไว้
        ฝ่ายพระเจ้ามณเฑียรทอง ครั้นส่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปแล้ว จึงตรัสปรึกษาเสนาพฤฒามาตย์(ขุนนาง)ราชปโรหิต ข้าราชการผู้น้อย/ใหญ่ ทแกล้วทหารทั้งปวงว่า "ผู้ใดจะรับอาสาขี่ม้าแทงทวนสู้กามะนีทหารพระเจ้ากรุงจีนตัวต่อตัวได้บ้าง" เสนาพฤฒามาตย์ผู้น้อย/ใหญ่ ทแกล้วทหารทั้งปวงก็มิอาจรับอาสาได้ พระเจ้ามณเฑียรทองก็ทรงพระวิตกเป็นทุกข์พระทัยนัก จึงให้พระโหรมาคำนวณพระชันษาและชะตาเมืองดู โหรก็คำนวณพฎีกาดู ทูลถวายว่า "พระชันษาและชะตาเมืองยังดีอยู่ หาเสียไม่ นานไปจะได้ลาภอันประเสริฐอีก" พระเจ้ามณเฑียรทองได้ทรงฟังก็ดีพระทัย จึงให้ตีฆ้องร้องป่าวทั่วทั้งพระนครว่า "ผู้ใดรับอาสาสู้กับกามะนีทหารพระเจ้ากรุงจีนได้ พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดให้เป็นพระอุปราช เสนาบดีรับสั่งแล้วก็ให้ป่าวร้องไปทั่วพระนคร ไม่มีผู้ใดที่อาจออกรบอาสาได้
     ฝ่ายผู้คุมซึ่งคุมสมิงพระรามนั้น จึงเจรจากับเพื่อนกันตามเรื่องราว แล้วว่า"ครั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวจะแบ่งสมบัติให้กึ่งหนึ่ง ก็ยังไม่มีผู้ใดรับอาสา เห็นเมือง เห็นเมืองจะตกต่ำเสียละกระมัง" สมิงพระรามได้ยินดังนั้นก็คิดว่า ~แต่เราต้องพันธนาการตรากตรำอยู่นานแล้ว มิได้ขี่ช่าง,ม้า เหยีดมือ,เท้า เยื้องแขนซ้ายย้ายแขนขวาเล่นบ้างเลย รำคาญใจนัก เราจะกลัวอะไรกับกามะนีทหารจีน อันจะเอาชัยชนะนั้นไม่สู้ยากนัก ครั้นจะสั่งอาสาบัดนี้เล่า ก็เหมือนหาบสองบ่า อาสาสองเจ้าหาควรไม่คิดแล้วก็นิ่งอยู่ ครั้นรุ่งขึ้นผู้คุมได้ยินข้าหลวงมาป่าวร้องอีก จึงพูดกับเพื่อนกันว่า "ทัพจีนยกมาครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก หาทหารผู้ใดที่จะรับอาสาพระนครไว้นั้นเป็นอันยากแล้ว อย่าว่าแต่เมืองพม่าเท่านี้เลย ถึงเมืองใหญ่ๆกว่าเมืองพม่าสัก10เมืองก็เห็นจะสู้ไม่ได้ น่าที่จะเสียเมืองแก่จีนเป็นมั่นคง" สมิงพระรามได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า~กรุงอังวะนี้ เป็นต้นทางดังอุปมาดังหน้าด่านกรุงหงสาวดี พระเจ้ากรุงจีนยกทัพมาครั้งนี้ก็มีความปรารถนาจะใคร่ดูทแกล้วทหารอันมีฝีมือขี่ม้ารำเพลงทวนสู้กันตัวต่อ ตัว ถ้าไม่มีผู้ใดสู้รบ ถึงจะได้เมืองอังวะแล้วก็ไม่สิ้นความปรารถนาแต่เพียงนี้ เห็นศึกจีนจะกำเริบยกล่วงเลยลงไปติดกรงหงสาวดีด้วยเป็นมั่นคง ตัวเราเล่า ก็ต้องจองจำตรากตรำอยู่ ถ้าเสียกรุงอังวะแล้วจะหมายใจว่าจะรอดคืนไปเมืองหงสาวดีได้ก็ใช่ที่ จำเราจะรับอาสาตัดศึกเสียจึงจะชอบ อย่าให้ศึกจีนยกลงไปติดกรุงหงสาวดีได้คิดแล้วจึงพูดกับผู้คุมว่า "จะกลัวอะไรกับกามะนีทหารพระเจ้ากรุงจีนนั้น จะมีฝีมือดีสักเพียงไหน เรากลัวแต่ทหารเทพยดาที่เหาะได้ ซึ่งกามะนีกับเราก็เป็นมนุษย์เดินดินเหมือนกัน เราหากลัวไม่ พอจะสู้รบเอาชัยชนะ" นายผู้คุมได้ฟังก็ดีใจจึงตอบว่า ถ้าท่านรับอาสาได้แล้ว ก็ดียิ่งนัก เห็นท่านจะพ้นโทษได้ที่พระอุปราชมียศถาศักดิ์ใหญ่เป็นมั่นคง ไปเบื้องหน้าเราจะขอพึ่งบุญท่าน" สมิงพระรามตอบว่า"ซึ่งเรารับอาสานี้ จะหวังยศถาบรรดาศักดิ์หามิได้ ประสงค์จะกู้พระนครให้เป็นเกียรติยศไว้ และจะให้ราษฎรสมณชีพราหมณ์อยู่เย็นเป็นสุขเท่านั้น" ผู้คุมได้ฟังก็ชอบใจ จึงนำถ้อยคำสมิงพระรามรีบเข้าไปแจ้งแก่เสนาบดี เสนาบดีได้ฟังก็มีความชื่นชม จึงนำความเข้ากราบทูลพระเจ้ามณเฑียรทองตามคำสมิงพระรามว่านั้นทุกประการ

หมายเลขบันทึก: 562519เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท