ความเกี่ยวพันระหว่างกฎหมายสัญชาติกับกฎหมายการทูตและการกงสุล: งานดูแลสิทธิในสัญชาติของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ (ศึกษากรณีร่างกฎหมายการได้มาซึ่งสัญชาติรัสเซีย)


ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของผู้เขียนต่อความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายการทูตและการกงสุล ในประเด็นเรื่องงานด้านการดูแลสิทธิในสัญชาติของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ กรณีร่างกฎหมายการได้มาซึ่งสัญชาติของรัสเซีย

 

ข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของผู้เขียนต่อความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายการทูตและการกงสุล ในประเด็นเรื่องงานด้านการดูแลสิทธิในสัญชาติของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ กรณีร่างกฎหมายการได้มาซึ่งสัญชาติของรัสเซีย

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๐๐.๔๐ น.

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๘.๓๙ น.

http://www.gotoknow.org/posts/562510

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/ความเกี่ยวพันระหว่างกฎหมายสัญชาติกับกฎหมายการทูตและการกงสุล-งานดูแลสิทธิในสัญชาต/829578057067678 

----------------------------------------------------------------------

 

--------------------------------------

๑. บทนำ

--------------------------------------

            สืบเนื่องจากกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการการย้ายถิ่นของรัสเซีย (The Federal Migration Service and the Economic Development Ministry) ได้ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากให้กับนักธุรกิจซึ่งลงทุนในสหพันธรัฐรัสเซียและนักเรียนต่างชาติที่จบจากประเทศรัสเซียให้ได้รับสัญชาติรัสเซียเมื่อเร็วๆนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเด็นเรื่องจุดเกาะเกี่ยวในประเด็นเรื่องสิทธิในสัญชาติของบุคคลครั้งสมัยศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีกรณีศึกษาเกี่ยวข้องกับการให้สัญชาติของบุคคลว่าต้องมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริง (Genuine Link) กับประเทศผู้ให้สัญชาติ

             บันทึกฉบับนี้ ผู้เขียนต้องการนำเสนอบทบาทของกฎหมายสัญชาติในเวทีของการทูตและการกงสุลในยุคปัจจุบันว่ามีความเกี่ยวพันและสัมพันธ์กันอย่างไรในฐานะของผู้ศึกษาวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล ภายใต้หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านอาจารย์แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร พี่หมี ชญา ภัทราชัย และการถอดบทเรียนระหว่างคาบเรียน น.๗๔๙ ปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุลจนเกิดมาเป็นบันทึกฉบับนี้ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

 

--------------------------------------

๒. แนวคิดพื้นฐานเรื่องงานทางการทูตและทางการกงสุล

--------------------------------------

            การทำความเข้าใจในเรื่องแนวคิดพื้นฐานเป็นส่วนที่สำคัญเพื่อทำให้เข้าใจร่วมกันในแนวคิดและขอบเขตของการนำเสนอข้อมูลว่าคิดเห็นอย่างไร ในเบื้องต้น ผู้เขียนขอนำเสนอแนวคิดของอาจารย์แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ผู้สอนวิชาปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุลในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านมองว่า[๑]

            “อ.แหววอยากแสดงความเห็น ๒ ประเด็น อันแรกในส่วนที่ว่า งานดูแลสิทธิในสัญชาติของคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นประเด็นในวิชากฎหมายการทูตและการกงสุลหรือไม่ อยู่ที่แนวคิดว่า เราศึกษาโดยเอาอะไรเป็นวัตถุแห่งการศึกษาค่ะ หากเราเอาอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยการทูตและการกงสุลเป็นตัวตั้ง เราก็คงเห็นด้วยว่า การศึกษาควรเห็นที่ "ตัวทูตและกงสุล" ดังนั้น เราจึงควรศึกษาถึงประเด็นที่แวดล้อมตัวบุคคลทั้งสอง กล่าวคือ (๑) เขาคือใคร (๒) เขาทำงานอะไร (๓) เขามีเอกสิทธิแค่ไหน และ (๔) เขามีความคุ้มกันอย่างไร แต่หากเราศึกษาวิชานี้ โดยเอามนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง เราก็จะเอาสัมพันธภาพทางกฎหมายที่รัฐจะต้องดูแลคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐหรือจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นจุดศูนย์กลาง ดังนั้น เรื่องของอนุสัญญาเวียนนาทั้งสองก็จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าของรัฐที่ดูแลคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐที่เราควรเอามาศึกษา และพัฒนากรอบความคิดที่เกิดใน ค.ศ.๑๙๖๑ - ๑๙๖๓ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์โลกใน ค.ศ.๒๐๑๔ ดังนั้น แม้ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในสัญชาติและสิทธิในการเข้าเมืองของคนที่มีหรือจะมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐจะไม่อยู่ในอนุสัญญาทั้งสอง เราก็คงต้องศึกษา และน่าจะสำคัญกว่า เรื่องตัวทูตและกงสุลเอง เราคงตระหนักว่า งานบริการมนุษย์ของทูตและกงสุลน่าจะให้ความสำคัญกว่าเรื่องของงานให้เอกสิทธิและความคุ้มกันกับทูต

            ...ประเด็นที่สองต่อนะคะ...การที่รัสเซียทำเรื่องนี้ขึ้นว่า มันเป็นการเปิดเจรจากับโลกทั้งใบหรือไม่คะว่า ฉันจะรับรองสิทธิในการแปลงสัญชาติให้แก่คนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับฉัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยในทางสังคมและวัฒนธรรม ฉันจะกบฏต่อแนวคิดของศาลโลกใน ค.ศ.๑๙๗๑ แล้วล่ะ เรามาศึกษาคดีเก่าๆ ของรัฐดีไหมคะว่า เคยมีกรณีที่ศาลโลกเคยชี้ในกรณีที่รัฐหนึ่งเสนอบริการสิทธิในสัญชาติโดยสัมพันธภาพทางเศรษฐกิจไหมคะ และในกรณีดังกล่าว ศาลโลกว่าอย่างไร

            สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียนนั้น ได้เคยนำเสนอไปแล้วครั้งหนึ่งในประเด็นเรื่องงานทางการทูตไว้ในบันทึกเรื่อง “ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม การทูตและ งานทางการทูตในปัจจุบัน”[๒] 

            ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า งานด้านการดูแลสิทธิในสัญชาติของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ จึงมีประเด็นที่มีความเกี่ยวพันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการศึกษาวิชาปัญหาว่าด้วยกฎหมายการทูตและการกงสุล ทั้งนี้ ผู้เขียนขอแยกความเห็นออกเป็น ๒ ประเด็น เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น

            (๑) ข้อความคิดพื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายสัญชาติกับกฎหมายการทูต

            งานการทูต มีหลายมิติขึ้นอยู่กับว่า เรามองในมิติใด ตามที่ผู้เขียนเข้าใจ หากมองในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเห็นว่า การทูตเป็นเรื่องของการเจรจา แนวคิดนี้ก็จะยอมรับแน่นอนว่า การเปิดพื้นที่ในการเจรจาเพื่อให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคลย่อมเป็นงานทางการทูต แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองแนวคิดการทูตเดิม หรือในมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คงมีข้อถกเถียงกันพอสมควรว่า การเปิดพื้นที่เจรจาเพื่อให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคลจะเป็นงานทางการทูตหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมมองที่ว่า เป็นการแสดงท่าทีของรัฐๆหนึ่งออกไปสู่ประชาคมโลก โดยเป็นท่าทีที่ทำโดยหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐนั้น เช่น การแสดงท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศหนึ่งออกไปภายนอกประเทศ ผู้เขียนเห็นว่า น่าจะยอมรับได้ในฐานะงานทางการทูตที่เป็นเรื่องของการแสดงท่าทีและจุดยืนของประเทศหนึ่ง

            (๒) ข้อความคิดพื้นฐานว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายสัญชาติกับกฎหมายการกงสุล

            งานทางการกงสุลเป็นงานที่มีขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลและอำนวยประโยชน์ต่อบุคคล เช่นเดิม หากมองในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่มองในเรื่องของการจัดการปัญหาตัวบุคคลและให้สิทธิบุคคล โดยยอมมองในมุมที่กว้างมากขึ้น งานให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคลก็เป็นงานทางการกงสุลด้วย ในขณะที่ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง งานด้านการให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคล ต้องย้อนกลับไปมองที่ผู้มีอำนาจในการให้สิทธิ ซึ่งต้องกระทำผ่านรัฐ ดังนั้น จึงน่าจะไม่มีปัญหาหากมองว่า งานการให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคลเป็นงานทางด้านการกงสุล

 

--------------------------------------

๓. ข้อเท็จจริงกรณีร่างกฎหมายการได้มาซึ่งสัญชาติของประเทศรัสเซีย

--------------------------------------

            ตามบทความเรื่อง Want to be Russian? It helps to have $300,000. ใน Russia Beyond the Headlines หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของประเทศรัสเซีย[๓] กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการการย้ายถิ่นของรัสเซีย (The Federal Migration Service and the Economic Development Ministry) ได้ร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อลดขั้นตอนความยุ่งยากให้กับนักธุรกิจซึ่งลงทุนในสหพันธรัฐรัสเซียและนักเรียนต่างชาติที่จบจากประเทศรัสเซียให้ได้รับสัญชาติรัสเซีย

            นักธุรกิจที่ลงทุนอย่างน้อยสิบล้านรูเบิลหรือราวๆ ๓๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ในประเทศรัสเซีย และผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันในประเทศรัสเซียซึ่งทำงานในประเทศรัสเซียอย่างน้อย ๓ ปี จะมีคุณสมบัติเพื่อขอสัญชาติรัสเซีย ซึ่งในปัจจุบัน การขอสัญชาติรัสเซียทำได้เพียง ๒ กรณี คือ (๑) คนต่างชาติที่แต่งงานกับบุคคลที่มีสัญชาติรัสเซีย (๒) บุคคลที่เกิดในอดีตสหภาพโซเวียตและไร้สัญชาติเท่านั้น

            สำหรับนักเรียนที่ประสงค์จะมีสัญชาติรัสเซียนั้น ต้องได้รับปริญญาหลังจากวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๒๐๐๒ และทำงานในประเทศรัสเซียอย่างน้อย ๓ ปี ซึ่งร่างกฎหมายไม่ได้จำกัดว่า ต้องทำงานภายหลังจากที่ได้รับปริญญา ดังนั้น นักศึกษาที่ทำงานไปพร้อมกับการศึกษาสามารถเริ่มนับอายุความ ๓ ปีการทำงานได้ก่อนจบการศึกษา ในการนี้ นาย Pavel Chernykh ผู้แทนด้านการทำงานทางเทคนิคระหว่างประเทศของรัสเซีย (Worldskills International Russian Technical Delegate) กล่าวว่า กฎหมายใหม่จะสามารถใช้บังคับกับนักเรียนได้ถึงสองล้านคน ซึ่งโดยปกติจะมีนักเรียนประมาณ ๒๐ – ๒๕ % ที่เป็นนักเรียนต่างชาติเมื่อเทียบกับอัตราส่วนของนักเรียนทั้งหมด

            แต่อย่างไรดี นาย Valdislav Grib รองเลขาธิการของหอการค้ารัสเซีย (deputy secretary of the Russian Public Chamber) ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากร่างกฎหมายใหม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับงบประมาณของรัฐเพราะจำนวนเงินในการลงทุนค่อนข้างน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับการลงทุนที่ประเทศควรจะเรียกร้องหากมีการให้สัญชาติใหม่เพราะอาจกระทบต่อเงินบำนาญและการประกันสุขภาพในอนาคต และนาย Majumder Amin หัวหน้าสหพันธ์แรงงานรัสเซีย (head of the Russian migrants’ federation) เชื่อว่า ความคิดริเริ่มนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการลงทุนในประเทศ ทั้งจากจีน อินเดีย และยุโรป จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น และที่สำคัญจะควบคุมนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้นหากพวกเขามีสัญชาติรัสเซีย

            ตามสถิติของหน่วยงานการบริการย้ายถิ่นของรัสเซีย จำนวนคนสัญชาติรัสเซียเพิ่มมากขึ้นจาก ๙๕,๗๓๗ คนในปีค.ศ. ๒๐๑๒ ไปยัง ๑๓๕,๗๘๘ คนในปีค.ศ.๒๐๑๓

 

--------------------------------------

๔. ตัวอย่างอื่นๆที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับงานการให้สิทธิในสัญชาติแก่บุคคล

--------------------------------------

            ในฐานะของผู้ศึกษาวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล ผู้เขียนจึงขอหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจประกอบการเขียนบันทึกฉบับนี้ซึ่งผู้เขียนได้รับคำแนะนำมาจากท่านอาจารย์แหวว รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร พี่หมี ชญา ภัทราชัย รวมไปถึง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในคาบเรียน น.๗๔๙ ปัญหากฎหมายการทูตและการกงสุล เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ เช่น

  • ประเด็นเรื่องนโยบายการให้สัญชาติฝรั่งเศสแก่นักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบปริญญาเอกในประเทศฝรั่งเศสและมีคะแนนยอดเยี่ยม
  • ประเด็นสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่มีการให้สัญชาติไทยแก่ชาวตะวันตกที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทย
  • ประเด็นการออกกฎหมายภายในเพื่อกำหนดเงื่อนไขสำหรับการได้สัญชาติสำหรับผู้อยู่อาศัยในดินแดนของประเทศในสหภาพยุโรปตามข้อ ๖ ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสัญชาติ ปี ค.ศ. ๑๙๙๗ (European Convention on Nationality)
  • ประเด็นตามคดี Nottebohm ซึ่งมีการฟ้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เกี่ยวข้องกับการขอแปลงสัญชาติเป็นลิกเตสไตน์โดยการชำระเงินให้กับเทศบาลของประเทศลิกเตนสไตน์

 

--------------------------------------

๕. ความเกี่ยวพันระหว่างกฎหมายสัญชาติกับการทูตและการกงสุล

--------------------------------------

            เมื่อมาถึงส่วนนี้ ผู้เขียนขอย้ำวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความอีกครั้ง นั่นก็คือ การเขียนเพื่อตอบโจทย์ของกฎหมายสัญชาติในฐานะที่มีความเกี่ยวพันกับการทูตและการกงสุล โดยไม่ขอวิเคราะห์ถึงรายละเอียดในประเด็นเรื่องของการได้มาหรือแปลงสัญชาติ

            ตามข้อเท็จจริง กรณีที่ประเทศรัสเซียร่างกฎหมายและกำลังจะผ่านกฎหมายว่าด้วยสัญชาติฉบับใหม่ที่เพิ่มช่องทางในการได้สัญชาติของบุคคลที่มีสัญชาติอื่นให้ได้มาซึ่งสัญชาติรัสเซียนั้น ผู้เขียนขอแยกออกเป็น ๒ ประเด็นดังนี้

            (๑) มุมมองด้านการทูต

            บทบาทหนึ่งของงานการทูต หากมองตามแนวการทูตดั้งเดิมและแนวการทูตสมัยใหม่ซึ่งผู้เขียนอธิบายไว้แล้วในบันทึกเรื่อง “ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม การทูตและ งานทางการทูตในปัจจุบัน”[๔] งานด้านการทูตหมายถึง งานการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยงานด้านการเป็นตัวแทนของประเทศ งานด้านการเจรจาทางการทูต งานด้านการข่าวสาร และงานด้านการคุ้มครอง ปกปักรักษา และส่งเสริมผลประโยชน์ของคนในชาติและของประเทศในส่วนรวม

            ดังนั้น เมื่อมาปรับกับข้อเท็จจริงกรณีที่ประเทศรัสเซียพยายามผ่านกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการได้มาซึ่งสัญชาติรัสเซีย แบ่งย่อยได้อีก ๒ ประการ

            ประเด็นแรก การที่กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการการย้ายถิ่นของรัสเซีย (The Federal Migration Service and the Economic Development Ministry) ซึ่งเป็นอันแน่นอนว่า เป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนรัฐ ได้เปิดเวทีในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประเทศในการนำเสนอนโยบายใหม่ของประเทศ โดยใช้ฐานอำนาจของรัฐบาลรัสเซียในการชี้แจงสู่ประชาคมโลกว่า ประสงค์จะให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในรัสเซียและนักเรียนที่เรียนจบและทำงานในประเทศรัสเซีย ไม่น้อยกว่า ๓ ปี มีสิทธิได้สัญชาติรัสเซีย

            ในประเด็นที่สอง บทบาทอีกบทบาทหนึ่งของงานด้านการทูตคือ การเจรจา น่าสนใจว่า การที่มีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่ชื่อว่า Russia Beyond the Headlines ซึ่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในความควบคุมของรัฐบาลของประเทศรัสเซีย การนำเสนอทางนี้ เป็นประเด็นทางการทูตหรือไม่ เพราะไม่ได้กระทำโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจโดยตรงอย่างกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการย้ายถิ่นของรัสเซียโดยตรง แต่เป็นการตีแผ่ทางอ้อมผ่านประชาคมโลกออนไลน์ ในประเด็นนี้ อาจยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ได้พอสมควรว่าเป็นประเด็นเรื่องการทูตหรือไม่ เนื่องจากผู้ที่ทำหน้าที่กระจายข่าวสารในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน่วยงานของรัฐเท่านั้น และสื่อออนไลน์เช่นนี้ในปัจจุบันดูเหมือนจะทำหน้าที่ได้รวดเร็วและแพร่หลายมากกว่าหน่วยงานของรัฐ

            แต่ที่ตอบได้อย่างชัดเจนโดยไม่น่าจะเป็นปัญหาให้ถกเถียงกันในแวดวงวิชาการ คือ การที่ประเทศรัสเซียร่างกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า การที่เสนอให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศตามจำนวนเงินลงทุนที่กำหนดซึ่งท่านอ.แหววมองว่า เป็นการเสนอบริการสัญชาติโดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วย ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการนำเงินมาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเมื่อนักลงทุนได้สัญชาติรัสเซียแล้ว ประเทศรัสเซียน่าจะควบคุมนักลงทุนซึ่งมีสัญชาติของตนได้ง่ายขึ้น และในส่วนของกรณีของการให้สัญชาติแก่นักเรียนที่เรียนจบในประเทศรัสเซียและทำงานต่อในประเทศก็เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า ประเทศรัสเซียต้องการคนที่มีความรู้เพื่อทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศของตน อีกทั้ง เมื่อนักเรียนทำงานในประเทศรัสเซียแล้ว การได้สัญชาติรัสเซียมา ก็จะทำให้รัฐสามารถควบคุมการทำงานของบุคคลดังกล่าวได้สะดวกมากขึ้น

            (๒) มุมมองด้านการกงสุล

            หากมองในมุมมองด้านงานการกงสุลอาจแตกต่างจากงานด้านการทูตเล็กน้อย เนื่องจากงานด้านกงสุลมีขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบุคคล ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่บุคคลหนึ่งๆพึงได้รับ สัญชาตินับเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิและหน้าที่อันเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ สำหรับตามข้อเท็จจริง คงต้องลงที่เนื้อหาของการได้มาซึ่งสัญชาติรัสเซียตามข้อเท็จจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานดูแลสิทธิในสัญชาติของบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ

            ผู้เขียนเห็นว่า เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐในการรับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคล ซึ่งตามข้อเท็จจริง หากประเด็นเรื่องร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสัญชาติของรัสเซียผ่าน ต้องดูว่า จะสร้างภาระที่เพิ่มขึ้นให้แก่บุคคลต่างชาติที่ได้รับสัญชาติรัสเซีย หรือเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลต่างชาติที่ได้รับสัญชาติ หากมองว่า การได้มาซึ่งสัญชาติรัสเซียของนักลงทุนต่างชาติและนักเรียนที่จบและทำงานต่อในประเทศรัสเซีย ได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มขึ้นจากการมีสัญชาติรัสเซียนับว่าเป็นประเด็นที่น่าพิจารณา เช่น ความสะดวกต่อการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการทำงานในประเทศรัสเซียมีเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียสามารถควบคุมตรวจสอบบุคคลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นและเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศ

            แต่ที่ต้องน่าระวังเป็นพิเศษ คือ การได้มาซึ่งสัญชาติ เป็นกฎหมายที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง เพราะไม่น่าจะใช้เรื่องที่ว่า ใครอยากมีสัญชาติไหนก็สามารถมีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องพิจารณาถึงจุดเกาะเกี่ยวในความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า จุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริง (Genuine Link) ที่นอกจากเป็นเรื่องของเงินที่นำมาลงทุน หรือทำคุณประโยชน์เพียงเล็กน้อยให้แก่ประเทศเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นเรื่องการได้มาซึ่งสัญชาติของรัสเซียตามแนวที่กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการย้ายท้องถิ่นของรัสเซียพยายามทำขึ้น จึงน่าติดตามว่าผลจะเป็นอย่างไร

 

--------------------------------------

๖. สรุป

--------------------------------------

            งานเรื่องสัญชาติกับเรื่องการทูตและการกงสุล ดูเผินๆเหมือนจะแยกกันอยู่ เพราะจับกันคนละกลุ่มเป้าหมาย หากมองในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างสัญชาติกับการกงสุล อาจพอไปได้ว่า เป็นเรื่องการปกป้องสิทธิของคนชาติของรัฐ แต่ในขณะที่การทูตซึ่งดูเป็นเรื่องที่ห่างออกไปพอสมควร เพราะคนทั่วไปอาจมองการทูตในฐานะของการเป็นตัวแทนประเทศ การเจรจาในระดับระหว่างประเทศเท่านั้น โดยลืมไปว่า การให้สัญชาติแก่บุคคล ย่อมต้องกระทำผ่านกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดท่าทีและแนวนโยบายของรัฐอันอาจมองได้ว่า เป็นเรื่องของตัวแทนของรัฐที่นำเสนอต่อประชาคมโลกในระดับระหว่างประเทศ

 

 

            [๑] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, แสดงความคิดเห็นเรื่อง “งานดูแลสิทธิในสัญชาติของคนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเป็นประเด็นในวิชากฎหมายการทูตและการกงสุลหรือไม่?,” ใน “Thanapat Chatinakrob’s Facebook Timeline,” แสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗,

https://www.facebook.com/t.chatinakrob/posts/10203018398038569 (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗).

            [๒] ธนภัทร ชาตินักรบ, ต่อสู้กับขีดจำกัด: ขอบเขตของการนิยาม “การทูต” และ “งานทางการทูต” ในปัจจุบัน,” ใน “มุมมองด้านกฎหมายระหว่างประเทศของนักศึกษากฎหมายชั้นปริญญาโท,” 

http://www.gotoknow.org/posts/561246 (สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗).

            [๓] Kommersant, “Want to be Russian? It helps to have $300,000,” Russia Beyond the Headlines, February 12, 2014, under “Society,”

http://rbth.ru/society/2014/02/12/want_to_be_russian_it_helps_to_have_300000_34135.html (accessed February 23, 2014)

             [๔] ธนภัทร ชาตินักรบ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ ๒.

หมายเลขบันทึก: 562510เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2014 01:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 19:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท