ลุงเหมย
ข้าราชการครูบำนาญ นายชุมพล บุญเหมย

ตัวเรากับการสวดมนต์


สวดมนต์จะได้ผลหรือไม่ อยู่ที่ตัวเรา   หัวใจของการสวดมนต์นั้นอยู่ที่ จิต
                                                         และความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของผู้สวดเป็นสำคัญ  กล่าวคือ

๑.   ผู้สวดต้องมีศรัทธา  คือความเชื่อมั่นต่อคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ๔ พระ
                              ธรรม พระสงฆ์ และเชื่อมั่นว่า การสวดมนต์มหาเมตตาใหญ๋ (หลวง ) นี้จะนำไปสู่การตัดเวรตัดกรรมได้จริง

๒.   ผู้สวดต้องมีวิริยะ  คือความเพียร มุ่งมั่นสวดด้วยความเต็มใจ ตั้งใจ ไม่ทำด้วยความ
                          เกียจคร้าน

๓.  ผู้สวดต้องมีสติ  คือความตื่นตัว รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิตที่สวด พยายามประคับประคองจิต
                        ให้อยู่กับบทสวดทุกขณะ

๔.  ผู้สวดต้องมีสมาธิ  คือพยายามรักษาจิตให้จดจ่ออยู่กับบทสวดอย่างต่อเนื่อง ตั้งเต่
                            ต้นจนจบไม่เผลอไผลให้เรื่องอื่นเข้ามาแทรกแซง

๕.   ต้องใช้ปัญญาพิจารณาไปตามบทสวด  ให้รู้ว่าแต่ละศัพท์ แต่ละเนื้อความนั้นว่า
                                                     ด้วยเรื่องอะไร สามารถนำมาปฏิบัติให้
                                                     เกิดประโยชน์อย่างไร

     บทสวดเมตตาหลวงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสมอบให้แก่ภิกษุสำหรับสวดบริกรรม เพื่อเป็นอุบายย้อมจิตให้คุ้นชินกับความมีเมตตา จิตที่มีเมตตา จะเป็นจิตที่อ่อนโยน เยือกเย็น ยิ่งเมื่อได้สวดบ่อย ๆ ทุกวัน ๆ จิตก็ยิ่งจะอ่อนโยน เมื่อจิตอ่อนโยนมาก ๆ พลังแห่งเมตตาก็จะผลักดันกิเลสฝายโทสะที่อยู่ในใจให้ถอยห่างออกไป ยิ่งเจริญเมตตามาก ๆ โทสะยิ่งลดน้อย ใจก็ปลอดโปร่งมากขึ้น พลังแห่งเมตตาเหมือนน้ำที่ฉ่ำเย็น เมื่อเราส่งไปสัมผัสกับผู้ใด เขาก็จะรู้สึกได้ถึงความฉ่ำเย็น ซึ่งมีผลทำให้จิตใจของผู้นั้นสงบเย็นด้วย และเมื่เราส่งจิตที่มีเมตตานี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรแล้วไซร้  เขาจะสัมผัสรับรู้ถึงความปรารถนาดี ความสงบเย็น ความเป็นมิตรของเรา ซึ่งมีผลทำให้ความอาฆาตแค้นในใจของเขาลดน้อยลง และพร้อมที่จะให้อภัยแก่เรา เมื่อเขายอมให้อภัย เวรกรรมระหว่างเขากับเราก็จะสิ้นสุดลง

     บทสวดนี้มีปรากฎในพระไตรปิฎกเล่มที่  ๓๑  ชื่อว่า  เมตตากถา  มีเนื้อความโดยย่อว่า...สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายให้มาประชุมกัน แล้วตรัสพระธรรมเทศนาโปรด โดยในเบื้องต้นทรงแสดงอานิสงส์แห่งการแผ่เมตตาว่า ผู้เจริญเมตตาจะได้รับอานิสงส์มากมายถึง ๑๑ ประการ จากนั้นจึงทรงจำแนกการแผ่เมตตาออกเป็น  ๓ ประเภท คือ  ..  ๑.  การแผ่่เมตตาไปโดยไม่เจาะจงผู้รับ  ..  
                   ๒.  การแผ่เมตตาไปโดยเจาะจงผู้รับ      
                   ๓.  การแผ่เมตตาไปในทิศทั้ง ๑๐
ต่อมาได้มีครูบาอาจารย์หลายท่านเห็นว่าเป็นบทสวดที่ดี มีคุณประโยชนฺ์แก่ผู้สวดหลายประการ พระญาณสิทธาจารย์ ( หลวงปู่สิงห์  สุนฺทโร ) วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม นครราชสีมา ท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่ขาว  อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล หนองบัวลำภู ซึ่งหลวงปู่ขาวเองก็ได้รับการถ่ายทอดมาจาก หลวงปู่มั่น  ภูริทัตฺโต อีกทอดหนึ่ง ฉบับนี้จะเรียกว่า เมตตาหลวง หรือ มหาเมตตาหลวง  คำว่า หลวง แปลว่า ใหญ่

          ........เอาละญาติโยมกัลยาณธรรมและรัตนมิตรของอีตาลุงเหมยทั้งหลาย...ทีนี้เราก็จะเข้าสู่ลำดับของการสวดคาถามหาเมตตาใหญ่กันแล้ว  พึงทำใจให้สงบ ทำด้วยความตั้งใจจริง ไม่สักแต่ว่าทำ ให้ระลึกอยู่เสมอว่าเราทำเพื่อขออภัยโทษต่อเจ้ากรรมนายเวรที่เราเคยได้ล่วงเกินเขามา และการที่จะทำให้เขายอมอภัยแก่เรานั้น เราต้องทำด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจจริง ๆ เขาถึงจะเต็มใจให้อภัยและตัดกรรมตัดเวรได้จริง เมื่อจะเริ่มสวดควรตัดเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นความห่วง กังวลใจออกไปให้หมด สำรวมกาย วาจา ใจ กราบพระ ๓ ครั้ง ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ( คือการกราบที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๕ คือ ในขณะกราบต้องให้อวัยวะ ๕ ส่วนแตะพื้น คือ เข่า ๒ , ศอก ๒ รวมถึงฝ่ามือทั้ ๒ , หน้าผาก ๑ , การกราบมี ๓ จังหวะ คือ อัญชลี (ประนมมือ) วันทา (ไหว้) อภิวาท (กราบลง) จากนั้นเริ่มสวดมนต์ไปตามลำดับ ดังนี้

     ๑.  บทกราบพระรัตนตรัย  ...  อะระหังสัมมา .. สวากขาโต .. สุปฏิปันโน

     ๒.  บทนอบน้อมพระพุทธเจ้า ... นะโม ตัสสะ ภะคะวะถโต ๓ จบ ..

     ๓.  บทไตรสรณคมน์ ... พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ธัมมัง..สังฆัง .. ทุติยัมปิ พุทธัง                                      ตะติยัมปิ พุทธัง  จบลงที่ ตะติยัมปิสังฆัง...

     ๔.  บทสรรเสริญพระพุทธคุณ .. อิติปิโสภะคะวา ..

     ๕.  บทสรรเสริญพระธรรมคุณ .. สวากขาโต ....

     ๖.  บทสรรเสริญพระสังฆคุณ .. สุปฏิปันโน ...

     ๗.  บทแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง .. อะหัง สุขิโตโหมิ นิททุกโขโหมิ อะเวโรโหมิ
                                          อพยาปัชโฌ (อ่านว่า อับ-พะ-ยา-ปัด-โช) โหมิ
                                          อะนีโฆโหมิ , สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ

     ท่านกัลยาณธรรมละรัตนมิตรของอีตาลุงเหมยทั้งหลายครับ วันนี้ขอยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน ต่อไปก็จะเริ่มบทมหาเมตตาใหญ่ ให้เตรียมสมุด ปากกา ดินสอ เอาไว้บันทึกพระคาถานะครับ วันนี้ขออำนาจแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จงโปรดอภิบาลประทานพรให้ทุก ๆ ท่านจงถึงพร้อมด้วยจตุรพิธพรชัย อันมีอายุ วรรณะ สุขุ พละ และพร้อมทั้งธนะสารสมบัติในสิ่งที่พึงปรารถนาจงทุกประการ...กราบสาธุครับ

หมายเลขบันทึก: 562465เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2014 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2014 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท