“ผ่อเมืองน่าน ผ่านงานศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม กับการเปิดประตูเมืองสู่อาเซียน” (ตอนที่ ๑)


“ผ่อเมืองน่าน ผ่านงานศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม กับการเปิดประตูเมืองสู่อาเซียน”

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖

ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

 

วิทยากร

๑.      พระครูวิสิฐนันทวุฒิ (ศิระ จรณธมฺโม ณ น่าน) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง และ เจ้าคณะอำเภอภูเพียง

๒.      นพ.คณิต ตันติศิริวิทย์         อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน, หัวหน้าศูนย์ประสานงานประชาคมน่าน

๓.      นายญาณ สองเมืองแก่น       ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดน่าน, ผู้ทรงคุณวุฒิภูมิปัญญาท้องถิ่น จ.น่าน

๔.      ผศ.ลิปิกร มาแก้ว              ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มทร.ล้านนา

๕.      นายยลดา เกริกก้อง สวนยศ  สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน

ผู้ดำเนินรายการ

          อ.ทักษิณา ธรรมสถิต      ครูชำนาญการ วิทยาลัยเทคนิคน่าน หัวหน้าแผนกการตลาด

 

ผู้ดำเนินรายการ

          เราจะมาดูว่า ในมุมของแต่ละท่านจะเป็นอย่างไร แต่ละท่านถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ในการที่อยู่เมืองน่านมานาน ในส่วนที่มาเป็นตัวแทนในวันนี้ ก่อนอื่น จะขอเริ่มที่ศาสนาก่อน เพราะในการมอง จะมองอย่างไร ปัจจุบันนี้ บ้านเราจะก้าวเข้าสู่อาเซียน หลายคนตื่นเต้น หลายคนเฉยๆ บ้านเรานี้ เฉยๆ แน่ เพราะเวลาสอนภาษาอังกฤษ สอนภาษาจีน มีคนไปเรียนน้อย เรียนไปเรียนมากลับหายหมด เราก็เลยมาดูว่า บ้านเรานี้เป็นอย่างไร มามองกันในแต่ละมุมมองว่า เราจะก้าวไปสู่การเป็นอาเซียนอย่างไร ตัวแทนในด้านศาสนาก็คือ พระครูวิสิฐนันทวุฒิ ขอนิมนต์ท่านได้เล่าเรื่องในด้านศาสนาสักเล็กน้อย

 

พระครูวิสิฐนันทวุฒิ

          ขอเจริญพรคณะผู้ร่วมรายการ และเจริญพรคุณพ่อเสรี พิมพ์มาศ ที่เป็นครูบาอาจารย์ที่สอนอาตมาภาพ วันนี้ได้รับเกียรติมานั่งฟังอาตมาในคราวครั้งนี้ด้วย และครูบาอาจารย์ท่านผู้ทมีเกียรติทุกท่าน ในส่วนของพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน ถ้าจะมองยุคพระพุทธศาสนา ส่วนพระธาตุแช่แห้ง ก็ยังมีพระพุทธศาสนาอยู่ เรียกว่าพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม พออิทธิพลศาสนาจากสุโขทัย หรือลังกาวงศ์มาถึงเมืองน่าน ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนที่สุด คือองค์พระธาตุแช่แห้งที่สร้างขึ้นมา และวิวัฒนาการมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

          แต่ด้วยความเป็นประวัติศาสตร์น่านจริงๆ หลายท่านไม่รู้ว่าเมืองน่านเป็น “ตักศิลา” ที่สำคัญ หลายท่านนี้หมายความว่า ลูกหลานที่ได้รับทราบก็น้อย แต่ผู้หลักผู้ใหญ่มีแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของประชาคมในส่วนของความตระหนักถึง ความเป็นเมืองน่านนั้นมีอยู่แล้ว วันนี้จะมาพูดถึงการให้ลูกหลานทั้งหลายได้รับทราบและร่วมกัน โดยเฉพาะในส่วนสำคัญที่สุด ได้ยินพ่อหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร ได้พูดถึงพระศิริมังคลาจารย์ ซึ่งเป็นผู้รจนามหามังคลทีปนี หมายถึงว่า มงคล ๓๘ ประการ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ในอดีตเมื่อเกือบร้อยปี ก็ได้กล่าวถึงพระศิริมังคลาจารย์ ในมงคลทีปนีนั้นกล่าวไว้ว่า มีเถียงกันว่า มงคลหมายถึงอะไร แม้แต่เทวดา นักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ถกเถียงกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า มงคลมีอยู่ ๓๘ ประการ ถ้าใครอยากจะเป็นผู้มีมงคล ก็ปฏิบัติตาม ซึ่งตรงนั้นเกิดจากเมืองน่าน ที่พระศิริมังคลาจารย์ได้รจนาขึ้น เมื่อย้อนยุคไปเมื่อ ๔๐๐ – ๕๐๐ ปีก่อนของเมืองน่าน แสดงว่าเมืองน่านเป็นเมืองที่มาได้ยากที่สุด แต่นักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายก็เดินทางมาศึกษาที่เมืองน่าน ที่ถือว่าเป็นตักศิลา

          ณ ตอนนี้ เราย้อนยุคให้เร็วที่สุด ก็ต้องเริ่มต้นที่ประชาคมจังหวัดน่าน เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน อาตมาภาพและคณะสงฆ์ได้รับมอบหมายให้เข้าพบประชาคมจังหวัดน่าน มีคุณหมอคณิต และอีกหลายๆ ท่าน จนวันหนึ่ง พ่อหมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร ได้มอบเงินให้สร้างมหาวิทยาลัยหนึ่งขึ้นที่เมืองน่าน ปัจจุบันจากห้องเรียนวัดพระธาตุแช่แห้ง ก็ยกระดับเป็นวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน (SanghaCollege) ด้วยเงินปัจจัยของพ่อหมอบุญยงค์เอง ๑๐๐,๐๐๐ บาท และพัฒนามาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

          ในส่วนของพระพุทธศาสนา ก็พัฒนามาโดยตลอด แต่ก่อนจะเป็นวิทยาลัยสงฆ์นั้น ปรากฏว่า พระสงฆ์เมืองน่านมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ไปเรียนหนังสือที่อื่น ไปเรียนวิทยาเขตอื่น เช่นที่กรุงเทพมหานคร, นครราชสีมา, เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้พระสงฆ์ในเมืองน่านมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันพระสงฆ์ในเมืองน่านมีจำนวนมากขึ้น และสายต่างประเทศก็เข้ามาแล้ว  สักครู่คงจะได้พูดถึงสายต่างประเทศ ให้แก่ท่านทั้งหลายได้ทราบ ทำให้ปัจจุบันเมืองน่าน เป็นตักศิลาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

          เบื้องต้นคงจะได้แนะนำเพียงเท่านี้ก่อน แต่ก่อนเมืองน่านก็มีประวัติศาสตร์อยู่ ถ้าท่านทั้งหลายสนใจ ลองไปหาอ่านในมูลศาสนา มีพระหนึ่งใน ๗ รูป ที่ชื่อว่า พระสยัมภู ได้ส่งมาที่เมืองน่าน และทำให้เมืองน่านได้เรียนรู้ภาษาบาลี จะเห็นได้ว่า เจ้าผู้ครองนครน่าน เวลาท่านอธิษฐานอะไร ก็จะเขียนเป็นภาษาบาลี แสดงว่าเมืองน่านเป็นสุดยอดของภาษาบาลี และย้อนเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน พ่อน้อยพ่อหนาน ก็เก่งภาษาบาลี ฉะนั้นในมุมมองของศาสนานั้น จะเห็นว่าเข้มแข็ง

 

ผู้ดำเนินรายการ

          ขอขอบพระคุณพระครูวิสิฐนันทวุฒิ ตอนนี้ก็มามองในมุมมองอีกมุมหนึ่ง ดิฉันขออนุญาตมาตามในที่กำหนด คือ ศาสนา ศิลปะ สิ่งแวดล้อม และการเมือง ตอนนี้ขออนุญาตคุณญาณ สองเมืองแก่น ซึ่งท่านเป็นตัวแทนปราชญ์ชาวบ้าน ขอเชิญค่ะ

 

คุณญาณ สองเมืองแก่น

          ขอนมัสการพระคุณเจ้า พระครูวิสิฐนันทวุฒิ กราบเรียนท่านอาจารย์เสรี พิมมาศ และคณาจารย์ที่เคารพและน้องๆ เยาวชน นิสิต นักศึกษา พี่น้องชุมชนทางเวียงเหนือ บ้านพระเกิด บ้านเชียงแข็ง บ้านน้ำล้อม ในความคิดเห็นของผม เมืองน่านเรามีวิถีความเป็นอยู่เป็นอัตลักษณ์ของคนน่านอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันกว่าที่เราจะเข้าสู่อาเซียน จะถูกเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม เอกลักษณ์ ประเพณี แล้วคนน่าน มีความบกพร่องทางสุขภาพจิตอยู่ข้อหนึ่ง คือขาดความเป็นผู้นำ ทั้งที่ของเราดีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเรื่องเรือแข่ง ถ้าเอาคนบ้านเดียวกันมาเป็นโคชฝึกซ้อม ก็จะไม่มีใครเชื่อฟัง ต้องเอาคนต่างจังหวัดมา ทุกคนก็จะเชื่อฟังกันทั้งหมด สิ่งนี้ก็เปลี่ยนไป

          วิถีความเป็นคนน่าน มีการกินการอยู่ มีรั้วบ้าน มีตัวอาคารที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น แต่ปัจจุบันเราถูกเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างง่ายๆ จะขอเสนอแนะในด้านของจารีตและธรรมเนียม ตัวอย่างเช่นวิหารของวัดเรา สมัยก่อนไม่มีพรมปู จะปูเสื่อ คนไปวัดก็นุ่งซิ่น เกล้าผมที่เรียกว่า “เกล้าผมจ๊อกบ่าแขว่น” แล้วยิ่งกว่านั้นวิหารวัดเหมือนโรงหนัง เอาโต๊ะ เก้าอี้ ไปวาง ทำให้เกิดความมักง่าย

 

ผู้ดำเนินรายการ

          จะเกี่ยวกับคนเฒ่าคนแก่ ปวดเมื่อยหรือไม่?

 

คุณญาณ สองเมืองแก่น

          แต่ก็มีข้ออนุโลมที่ว่าง่ายๆ คือ เอาเก้าอี้ไปไว้ด้านหลัง หรือข้างๆ เมืองน่านมีจารีตประเพณี มีวัฒนธรรม เช่นการส่งศพ หรือส่งสการทานคราบ ปัจจุบันพี่น้องในเขตเทศบาลหลายๆ หมู่บ้าน ไม่มีการจูงศพ ถ้าเป็นข้าราชการก็เอามาไว้วัดสวนตาล เสร็จสรรพภายในวัด ไม่มีการช่วยเหลือกัน ไม่มีวิถีดั้งเดิมอันมีภูมิปัญญา แล้วเวลาเอาศพไปลอมเชียงของ หรือวัดสวนตาล ก็เอาขึ้นรถยนต์ไปอย่างรวดเร็ว คนก็เอารถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ไป ก็เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่มีจิตใจที่เอื้ออาทร หรือแบ่งน้ำใจซึ่งกันและกัน ขอเสร็จแล้วก็กลับ

          คนโบราณท่านได้ทำไว้อย่างดี เป็นภูมิปัญญา เราต้องดูวิถี ดูคุณค่าของความเป็นเมืองน่าน

 

ผู้ดำเนินรายการ

          อยากจะให้คุณญาณยกตัวอย่าง อย่างเช่นงานศพ บอกว่าคนสมัยอดีตทำอย่างไร?

 

คุณญาณ สองเมืองแก่น

          แต่ก่อนเมื่อส่งศพแล้วก็จะอยู่รอ การไปส่งศพหรือส่งสการทานคราบ ก็มีการจูงกันไป ดอกไม้จันทน์ก็ช่วยกันทำ

หมายเลขบันทึก: 561318เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2014 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2014 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท