บันทึกขั้นตอนการปฏิบัติงานของทีมงานกระจกเงาในการให้ความช่วยเหลือกรณีคำร้องเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือ “น้องนิค”


บันทึกขั้นตอนการปฏิบัติงานของทีมงานกระจกเงาในการให้ความช่วยเหลือกรณีคำร้องเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำ หรือ “น้องนิค”

14 ตุลาคม 2013 เวลา 8:30 น.
 --------------------------------------------------------------------------------------

บันทึกขั้นตอนการปฏิบัติงานของทีมงานกระจกเงาในการให้ความช่วยเหลือกรณีคำร้องเด็กชายนิวัฒน์จันทร์คำ หรือ “น้องนิค”

โดย นางสาวรัชนีวรรณ สุขรัตน์    เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  

เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๖ แก้ไขเพิ่มเติม ๑๔  ตุลาคม  ๒๕๕๖,แก้ไขเพิ่มเติม  ๕ ก.พ.๒๕๕๗

----------------------------------------------------------------------------------------

๑ กันยายน  ๒๕๕๖

เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. น้องแหม่ม สุรีย์ อุ่ยแม เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (StatelessChildren Project :SCPP) ผู้ประสานงานโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงรายรับเรื่องร้องขอความช่วยเหลือกรณีไร้สิทธิ ไร้รัฐไร้สัญชาติ ของนายนิวัฒน์จันทร์คำ จากนางสาวพัชยานี ศรีนวล ผู้จัดการสำนักงานโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (StatelessChildren Project :SCPP)  จังหวัดเชียงใหม่เพื่อส่งต่อและรับเคสที่อยู่ในพื้นที่ดูแลในจังหวัดเชียงราย  ผ่านช่องทางสื่อสารทางโทรศัพท์ และคุณพัชยานี.ได้ให้เบอร์โทรติดต่อพร้อมสำเนาอีเมล์ให้กับทางน้องแหม่มในการประสานงานช่วยเหลือเคสเป็นลำดับต่อไป

๒ กันยายน ๒๕๕๖   

น้องแหม่ม สุรีย์ อุ่ยแม เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงรายโทรประสานงานติดต่อเพื่อพูดคุยซักถามถึงที่มาที่ไปของน้องนิวัฒน์ จันทร์คำแต่เนื่องจากน้องติดเรียนเลยไม่สะดวกในการพูดคุยเลยให้ติดต่อผ่านช่องทางอีเมล์แทนการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์

๓ กันยายน ๒๕๕๖ 

น้องนิวัฒน์ จันทร์คำ สื่อสารกลับมาทางอีเมล์ที่น้องแหม่มสื่อสารไปเมื่อวันที่2 กันยายน 2556เนื้อหาในการสนทนาคือการบอกเล่าเรื่องราวของตัวน้องนิวัฒน์และข้อกังวลที่น้องอยากสอบถามคือเรื่องเกี่ยวกับช่องทางหรือแนวทางการศึกษาต่อของตัวน้องเองที่ใกล้จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

๖ กันยายน ๒๕๕๖ 

น้องแหม่มได้นำเรื่องราวของเคสที่รับเรื่องมาปรึกษาในทีมทำงานของมูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงราย และ คุณวีระอยู่รัมย์ ผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา และดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการโครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ(Stateless

Children Project :SCPP) เพื่อหาทางช่วยเหลือเคสนี้เป็นลำดับต่อไป  สรุปผลการพูดคุยในทีมทำงานเราจะเสนอเคสน้องนิวัฒน์เข้าสู่โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๒๗ กันยายน  ๒๕๕๖ 

น้องแหม่มติดต่อไปหาน้องนิวัฒน์ เพื่อนัดหมายและสอบถามความพร้อมกรณีที่จะมีคณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ไปพบน้องนิวัฒน์และครอบครัวที่อาศัยอยู่ณ ปัจจุบัน ทางน้องนิวัฒน์ไม่มีปัญหาในการพบเจอครั้งนี้

๒ ตุลาคม  ๒๕๕๖ 

น้องนิวัฒน์ติดต่อมาหาน้องแหม่มทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามว่าทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ  (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงราย และทีมโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเดินทางมาหาน้องเมื่อไร

๓ ตุลาคม  ๒๕๕๖ 

เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงราย ประกอบด้วยนางสาวสุรีย์ อุ่ยแม นางสาวรัชนีวรรณ สุขรัตน์ และคณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ประกอบด้วย อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา  เดินทางไปพบน้องนิวัฒน์และครอบครัว

วันนี้เราไปพบเจอ  น้องนิวัฒน์ จันทร์คำ  น้องสายพร จันทร์คำ (น้องสาวน้องนิวัฒน์)และป้าเอื้อยคำ ตานคำ สรุปการพูดคุยวันนี้คือแนวทางการช่วยเหลือน้องนิวัฒน์และน้องสายพรในการยื่นขอสถานะบุคคลและในส่วนของป้าเอื้อคำคือให้ความรู้และทำความเข้าใจเรื่องการถ่ายทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยให้ป้า บุตรสาว และสามี ไปทำบัตร และไปทำบัตรประกันสุขภาพ ๓๐ บาท เป็นการด่วน

น้องนิวัฒน์ จันทร์คำ ได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล ถึง คณะบดีคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผ่าน อาจารย์พันธุ์ทิพย์กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา  ถึงอธิการบดี

๕ ตุลาคม๒๕๕๖ 

นายยุทธชัย จะจู เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ  (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ไปนัดหมายป้าเอื้อยคำเพื่อนัดหมายไปถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย ในรายละเอียดการพูดคุยมีการทำความเข้าใจให้ป้าเอื้อยพรเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมต้องมีการถ่ายบัตรทั้งที่ป้าถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามความเข้าใจของป้าเอื้อยคำก็น่าจะเพียงพอแล้วแต่โดยกฎหมายต้องมีการถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยด้วย  ป้าเอื้อยคำ ยังไม่รับปากว่าจะพร้อมตามวันที่เรานัดหมายหรือไม่  แต่ขอโทรนัดสามีก่อนแล้วจะติดต่อกลับมานายยุทธชัย  จะจู ฝากเบอร์โทรกลับเป็นเบอร์มือถือและเบอร์ที่ทำงาน๐๕๓-๗๓๗๔๒๕ ในการติดต่อกลับ

๖ ตุลาคม๒๕๕๖ 

น้องนิวัฒน์ติดต่อกลับมาหา นายยุทธชัย จะจูทางโทรศัพท์ และเล่าเรื่องราวหลังจากการไปพบเจอกันครั้งแรกที่บ้านของญาติที่น้องมาอาศัยอยู่ว่าผู้เป็นลุงไม่พอใจที่ให้คนที่ไม่รู้จักไปหาที่บ้าน เพราะเกรงกลัวว่าจะเป็นกลุ่มคนที่มาหลอกเพื่อหวังผลประโยชน์ทางนายยุทธชัย แนะนำให้น้องนิวัฒน์ทำความเข้าใจกับลุงและป้าเอื้อยคำ ถึงการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของพวกเราในครั้งนี้ให้เข้าใจตรงกัน

น้องนิวัฒน์ติดต่อกลับมาอีกครั้งแจ้งว่าทางลุงและป้าเอื้อยคำเข้าใจเหตุผลการทำงานและการให้ความช่วยเหลือของทีมเราและนัดหมายเพื่อไปรับป้าเอื้อยคำ  และลูกสาวคนโต ที่อำเภอแม่สายเพื่อเดินทางไปอำเภอเชียงแสนไปถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  พร้อมนัดเจอลุง(สามีป้าเอื้อยคำ) ที่อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย ในวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๖

๗ ตุลาคม๒๕๕๖ 

นายยุทธชัย จะจูติดต่อกลับน้องนิวัฒน์เพื่อขอเลื่อนการเดินทางไปถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยของป้าเอื้อยคำสามี และลูกสาวคนโต เป็นหลังวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๖ เพราะทางทีมงานไม่สะดวกในวันเวลาดังกล่าว  เนื่องจากติดภารกิจ

๘ ตุลาคม๒๕๕๖ 

คุณยุทธชัย จะจู ได้รับโทรศัพท์ จากหมายเลข๐๘๔-๘๙XXXXX [1]อ้างตัวเป็นผู้ประสานงาน และเป็นญาติกับป้าเอื้อยคำ โดยแจ้งว่า “ ตนเองได้โทรศัพท์ไปสอบถามที่อำเภอเชียงแสนเกี่ยวกับการถ่ายทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ปลายสายอ้างว่า ทางอำเภอเชียงแสนไม่มีการดำเนินการถ่ายบัตรใดๆ สำหรับคนกลุ่มนี้

พร้อมทั้งห้ามคุณยุทธชัยและทีมงานไม่ให้เข้าไปให้ความช่วยเหลือหรือติดต่อครอบครัวป้าเอื้อยคำอีก โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้ป้าเอื้อยคำกลัวมาก  ส่วนเรื่องของน้องนิวัฒน์ และน้องสายพร จันทร์คำทางปลายสายแจ้งว่าจะเข้าไปดำเนินการเองโดยทางเรามิต้องเข้าไปเกี่ยวข้องอีก

นางสาวรัชนีวรรณ สุขรัตน์ รับโทรศัพท์ที่เบอร์๐๕๓-๗๓๗๔๒๕ ปลายสายอ้างว่าโทรมาจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติโทรมาขอสายคุณเชษฐา  อำพันพงศ์เพื่อสอบถามว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการโทรไปนัดหมายเพื่อถ่ายบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยของป้าเอื้อยคำสามี และลูกสาวคนโต ใช่ไหม และได้สอบถามทางเราว่า คุณวีระเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงาใช่หรือไม่ 

หลังจากการพูดคุยเบื้องต้น เราต่อสายให้คุยกับคุณวีระอยู่รัมย์ โดยตรง ทราบชื่อผู้โทร ชื่อ สุรวี (ชื่อตามกล่าวอ้างของปลายสายที่โทรเข้ามา) เขาแจ้งว่าโทรมาจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสอบถามและต้องการทราบข้อมูลนายเชษฐา อำพันพงศ์

คุณวีระแนะนำตัวเองและแจ้งปลายสายให้ทราบว่าคุณเชษฐา เคยทำงานที่มูลนิธิกระจกเงาจริง แต่ลาออกไปนานกว่า ๑๐ ปีแล้วและจะตรวจสอบว่าคุณเชษฐา อำพันพงศ์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีนี้หรือไม่ตามคำกล่าวอ้างของผู้โทรปลายสาย

๑๑.๔๙ น. คุณวีระ อยู่รัมย์ ได้โทรไปที่ หมายเลข๐๘๔-๘๙XXXXXเพื่อทำความเข้าใจและแจ้งเหตุผลที่เราเข้าไปช่วยเหลือน้องนิวัฒน์กับเจ้าของเบอร์นี้ที่โทรเข้ามาหาคุณยุทธชัย[1]

จากการพูดคุยทางปลายสายไม่ต้องการให้ทางมูลนิธิกระจกเงาเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือน้องนิวัฒน์และน้องสายพร  จันทร์คำอีก แต่ทางเรายืนยันจะให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้เขาทราบว่าถ้าเขาทำเช่นนี้เท่ากับว่าละเมิดสิทธิของเด็ก  เพราะกรณีของน้องนิวัฒน์  และน้องสายพร จันทร์คำ

ณ ช่วงเวลานั้นเด็กไม่มีผู้ปกครองโดยชอบธรรมด้วยกฎหมาย และทางน้องนิวัฒน์เองได้เขียนจดหมายเพื่อ

ขอความช่วยเหลือจากทาง โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยส่งผ่านอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตราสายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา 

คุณวีระแจ้งให้ปลายสายที่อ้างตัวเป็นญาติน้องนิวัฒน์แจ้งให้น้องนิวัฒน์ทำหนังสือเพื่อยกเลิกการร้องขอความช่วยเหลือจากทางมูลนิธิกระจกเงาและทางโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราไม่ได้รับคำตอบในส่วนนี้เพราะคนปลายสายไม่ยินดีที่จะให้น้องนิวัฒน์และป้าเอื้อยคำติดต่อกับเราอีกและอ้างว่าตนติดต่อกับมูลนิธิเตือนใจแล้ว

๑๖.๕๘ น. นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์ พยายามติดต่อไปที่น้องนิวัฒน์ เพื่อเช็คสภาพน้องณ เวลานี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์มือถือ เลยเลือกอีกช่องทางหนึ่งทางการสื่อสาร โดยส่งข้อความผ่าน Facebook เพื่อให้น้องรับทราบและติดต่อกลับในกรณีที่น้องได้อ่านข้อความนี้  ซึ่งถือว่าวิธีการนี้ไม่แน่นอนในเรื่องคำตอบเลย ว่าน้องนิวัฒน์จะได้รับสารนี้หรือไม่

๑๗.๑๐ น. น้องนิวัฒน์ติดต่อกลับมาทางเฟรชบุค  แต่ทางนางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์เองยังไม่ได้เปิดข้อความอ่าน ณเวลานั้น

๑๙.๑๗ น. นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์ได้เปิดอ่านข้อความที่น้องนิวัฒน์ตอบกลับมาทาง Facebook

“คือพี่แอนคับผมมีอะไรจะเล่าให้ฟังครับ  ผมรู้แล้วนะคับตอนนี้ว่าแม่ผมอยู่ไหนครับ

แม่ผมแต่งงานใหม่แล้วคับกับชาวไทยลื้อสัญชาติพม่าครับ  แล้วตอนนี้แม่ผมก็จะมารับผมและน้องไปตรวจDNAเพื่อพิสูจน์สัญชาติพม่าแล้วนะครับ

ส่วนเรื่องของป้ากับลุงผมแกไม่ยอมไปทำบัตรเลยหล่ะครับผมอธิบายแล้วอธิบายอีกว่าพวกพี่ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาเขามาดีแกก็ไม่ยอมเชื่อครับผมเลยอยากขอพี่ๆอย่าพึ่งโทรไปหาแกนะครับเพราะตอนนี้แกจะคิดมากจนเป็นเรื่องใหญ่ไปแล้วหล่ะคับ

ผมขอโทษแทนป้ากับลุงด้วยนะคับถ้าป้าผมพูดอะไรที่ล่วงเกินพี่ๆทีมงานมูลนิธิกระจกเงานะครับ

ส่วนเรื่องของผมกับน้องผมคาดว่าจะไปอยู่ฝั่งพม่าเลยครับถ้าพิสูจน์สัญชาติพม่าแล้วได้สัญชาติพม่าครับ

ผมขอขอบพระคุณพี่ๆทีมงานที่ให้ความช่วยและผมอยากบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงผมและน้องแล้วนะคับเพราะผมเจอแม่แล้วคับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

นิกและน้องสาว ”

หลังอ่านข้อความที่น้องตอบกลับมา  นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์ ประสานน้องนิวัฒน์กลับทางโทรศัพท์  และพยายามสอบถามความเป็นอยู่ ณ เวลานี้  และที่มาที่ไปของแม่ซึ่งน้องเองยังไม่รู้อะไรมากมายเกี่ยวกับ แม่ เราขอพบน้องในช่วงเวลานั้นเลย แต่ทางน้องนิวัฒน์ไม่สะดวกที่จะพบเรา เพราะเวลานั้นลุง (สามาป้าเอื้อยคำ) กลับมาที่บ้านที่แม่สายและน้องนิวัฒน์เองก็มีปากเสียงกับลุงพอสมควรในการอธิบายเพื่อทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของทีมงานที่น้องนิวัฒน์  มาร้องขอความช่วยเหลือ 

 

ลุงได้ติดต่อให้แม่มารับน้องและตนเองข้ามไปอยู่ด้วยกันกับแม่ที่ประเทศพม่า น้องนิวัฒน์แจ้งว่าวันนี้แม่พาน้องสายพร  จันทร์คำ ข้ามไปฝั่งประเทศพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนตนเองนั้นจะข้ามตามไปวันพรุ่งนี้พร้อมกับพ่อเลี้ยง  คนไทยลื้อที่เปิดร้านขายของอยู่ทางโน้น  ข้ามแม่น้ำกั้นชายแดน ไทย – พม่า ที่บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  ประเทศไทย 

๑๙.๕๕น.  นายวีระอยู่รัมย์,นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์ จากมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งทำงานภายใต้โครงการคุ้มครองเด็กไร้รัฐ (Stateless Children Project :SCPP)  จังหวัดเชียงรายและนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์  และคุณ wikanda pattiboonจากโครงการบางกอกคลีนิค  มาร่วมสนทนาปรึกษาหารือถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในวันนี้ที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกันพร้อมกับพูดคุยถึงความต้องการของน้องนิวัฒน์และสาเหตุความเร่งด่วนในการเดินทาง  ผ่านทาง Inbox Facebook  ของนางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์

๒๑.๑๗ น.  น้องนิวัฒน์ ติดต่อเข้ามาทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อยืนยันที่จะข้ามไปฝั่งประเทศพม่า โดยให้เหตุผล ว่าเพื่อข้ามไปทำความเข้าใจหลาย ๆ เรื่องราวจากผู้เป็นแม่  และที่สำคัญเพื่อยื่นขอพิสูจน์สถานะบุคคลสัญชาติพม่าตามแม่เป็นลำดับต่อไป  

น้องได้แจ้งข้อกังวล  เรื่องที่พักอาศัยในประเทศไทยในกรณีที่น้องกลับมาเพื่อศึกษาต่อ  ทางทีมงานเจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา  แจ้งให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้  และน้องเองก็คลายความกังวลไปได้มาก

เราชวนน้องเข้าไปคุย  และบอกลาอาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และอาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา  และพี่ ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ  เพราะทุกคนห่วงน้องนิวัฒน์มาก น้องแจ้งว่าไม่สะดวกใช้อินเตอร์เน็ตในช่วงเวลานั้นเพราะเงินในโทรศัพท์มือถือหมด ไม่สามารถออนไลน์อินเตอร์เน็ตได้  คุณวีระ อยู่รัมย์   ได้ทำการเติมเงินโทรศัพท์ให้น้องนิวัฒน์  จำนวน ๑๐๐ บาทเพื่อให้น้องสามารถเชื่อมสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ในช่วงเวลานั้น

๙ ตุลาคม  ๒๕๕๖ 

น้องนิวัฒน์ ติดต่อมาหาเราก่อนออกเดินทางข้ามแดนไปประเทศพม่า และสัญญาจะติดกลับมาให้เร็วที่สุดเมื่อน้องเดินทางไปถึงจุดหมาย

๑๐  ตุลาคม ๒๕๕๖ 

๐๗.๐๖ น.  น้องนิวัฒน์  ติดต่อกลับมาที่นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ น้องจึงติดต่อมาที่ นางสาวสุรีย์  อุ่ยแม เพื่อแจ้งให้เราทราบว่า ขณะนี้น้องนิวัฒน์ได้เจอแม่  และน้องสายพรแล้ว  และจะพักอาศัยที่  เมืองลา ประเทศพม่าสักพักใหญ่ ๆ เพื่อพิสูจน์สถานะตัวบุคคล สัญชาติพม่า  โดยทางพ่อเลี้ยงจะเป็นคนเดินเรื่องรวมไปถึงเอกสารต่าง ๆ ให้ตนเองและน้อง พร้อมขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือ และจะติดต่อกลับมาหาเราใหม่

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖

๐๙.๔๓ น.  น้องนิวัฒน์ ติดต่อกลับมาทางโทรศัพท์มือถือข้าพเจ้า  น้องนิวัฒน์แจ้งว่า น้องสายพร ได้เพิ่มชื่อเข้าไปในทะเบียนราษฎรพม่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเรียนต่อที่พม่าเลย  ส่วนตัวน้องนิวัฒน์เองตอนนี้ยังมีปัญหาเพราะโตแล้ว อยู่ในเกณฑ์อายุคนวัยทำงาน   ต้องใช้เวลา และต้องอยู่อาศัยเป็นเวลานานในท้องที่นั้น ๆ  น้องนิวัฒน์ ห่วงเรื่องการเรียนที่ยังค้างคาที่ฝั่งไทย และตัดสินใจกลับมาเพื่อมาเรียนต่อให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ โดยจะขอย้ายจากโรงเรียนเดิม  ที่อำเภอแม่สาย  ไปเรียนที่ จังหวัดตรัง  น้องนิวัฒน์ จะเดินทางเข้ามาประเทศไทย ทางอำเภอแม่สายในวันที่ ๓ หรือวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้   และขอความช่วยเหลือด้านสถานะบุคคล (บัตรเลข ๐)

ข้าพเจ้า ได้ปรึกษา นายวีระ  เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือ  นายวีระได้ให้คำปรึกษาแก่ข้าพเจ้าว่า  ให้คุยกับน้องนิวัฒน์เรื่องการย้ายโรงเรียนที่น้องนิวัฒน์ต้องการย้ายไปอยู่กับป้าจันทร์ ที่จังหวัดตรังและเรียนต่อที่โรงเรียนเดิม  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นทางทีมงานมูลนิธิกระจกเงาจะช่วยเหลือทางทะเบียนราษฎร์ลำบากมาก  เพราะหลายขั้นตอนต้องเดินทางติดต่อประสานงาน  และพร้อมจะช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย ช่วงที่เรียนในประเทศไทยถ้าน้องนิวัฒน์ต้องการ

ข้าพเจ้าโทรศัพท์แจ้งน้องนิวัฒน์  ตามที่คุณวีระ ได้อธิบายให้ฟัง และให้น้องนิวัฒน์ตัดสินใจอีกครั้ง น้องนิวัฒน์ตัดสินใจเลื่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เป็นวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ นี้  และจะติดต่อกลับมาหาข้าพเจ้าอย่างเร็วที่สุด

๒๑  พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลา ๐๗.๓๓ น.  น้องนิวัฒน์ ติดต่อมาทางโทรศัพท์มือถือของข้าพเจ้า (นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์) และบอกว่าตนเองตัดสินใจแล้วที่จะกลับมาเรียนให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  แต่ถ้ากลับเข้ามาติดปัญหาเรื่องที่พักเพราะน้องนิวัฒน์ ไม่กลับไปพักบ้านลุงกับป้าเช่นเดิมแล้ว   ข้าพเจ้าแจ้งให้น้องทราบถึงข้อมูลบ้านนานา บ้านพักที่รองรับเด็กที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ  เพื่อช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย  และส่งให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาด้วย   จากการพูดคุยน้องนิวัฒน์สบายใจเรื่องที่พัก  และให้ข้าพเจ้าคุยกับพ่อเลี้ยง  เพื่อให้พ่อเลี้ยงสบายใจว่าเราให้การช่วยเหลือน้องด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่หวังสิ่งใดตอบแทน   จากการพูดคุยกับพ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์  พ่อบอกให้เราทราบว่า  น้องนิกอยู่ทางฝั่งพม่าแบบไม่มีความสุขเลย  เพราะน้องอยากเรียนหนังสือ  พ่อเลี้ยงก็กังวลใจถ้าน้องนิกกลับมาเรียนต่อจะอยู่ที่ไหน  ข้าพเจ้าอธิบายถึงที่พัก  และการให้ความช่วยเหลือของเราให้พ่อเลี้ยงเข้าใจ  พ่อเลี้ยงก็เบาใจในเรื่องนี้  และนัดหมายเดินทางมาส่งน้องนิวัฒน์ที่ฝั่งไทยในเช้าวันที่ ๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖  ในวันที่น้องเดินทางมาถึง ข้าพเจ้าแจ้งให้พ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์ทราบว่า เราจะไปรับน้องที่บริเวณด่านแม่สายและไปส่งน้องที่บ้านนานา

๒๒  พฤศจิกายน  ๒๕๕๖

เวลาประมาณ  ๐๙.๐๐ น.  ข้าพเจ้า (นางสาวรัชนีวรรณ  สุขรัตน์)  ได้ประสานงานไปที่บ้านนานา  เพื่อขอความช่วยเหลือด้านที่พักให้น้องนิวัฒน์เข้าไปพักพิงช่วงกำลังศึกษาในฝั่งไทย  ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าขอปรึกษาและประชุมเร่งด่วนเรื่องนี้ และซักถามความเป็นมาของน้องนิวัฒน์ที่ทางมูลนิธิกระจกเงาเข้าไปให้ความช่วยเหลือ  และทางบ้านนานาจะติดต่อกลับมาก่อนเวลาเที่ยงของวันนี้

เวลาประมาณ ๑๑.๔๕ น.  ทางบ้านนานาติดต่อกลับมาแจ้งผลการประชุมรับน้องนิวัฒน์  ซึ่งทางบ้านนานาแจ้งว่าทางบ้านนานาให้เรานำน้องมาส่งเข้าบ้านพักได้เลย 

เวลาประมาณ  ๑๑.๕๐ น.  น้องนิวัฒน์ติดต่อมาหาข้าพเจ้าทางโทรศัพท์ว่าเดินทางข้ามมาถึงฝั่งประเทศไทยแล้ว  และจะรอข้าพเจ้าที่บริเวณด่านอำเภอแม่สาย

เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น.  ข้าพเจ้าพร้อมด้วย นางสาวสุรีย์  อุ่ยแม เดินทางไปอำเภอแม่สาย  จุดหมายคือบริเวณนัดหมาย หน้าห้างหงส์ฟ้าพลาซ่า  เพื่อรับน้องนิวัฒน์และพ่อเลี้ยงไปที่บ้านนานา

เวลาประมาณ ๑๔.๓๐ น.  ข้าพเจ้า  นางสาวสุรีย์  อุ่ยแม  น้องนิวัฒน์  และพ่อเลี้ยง  เดินทางไปบ้านนานา  ถึงบ้านนานาได้เจอกับครูเหงา ผู้ก่อตั้งบ้านนานา  พูดคุยเกี่ยวกับความเป็นมาและการให้ความช่วยเหลือน้องนิวัฒน์ ที่ทางมูลนิธิกระจกเงาเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือทางด้านสถานะบุคคล  และส่งน้องนิวัฒน์ให้อยู่ในความดูแลของบ้านนานา   ก่อนกลับครูเหงาได้ย้ำให้พ่อเลี้ยงเร่งทำด้านสถานะบุคคลของน้องนิวัฒน์ทางฝั่งพม่าให้เรียบร้อยก่อนการเปิดอาเซียน  เพราะจะยังไม่ยุ่งยากมากนัก  แต่ถ้ารอจนเปิดอาเซียนการยื่นขอสถานะบุคคลของประเทศพม่าจะยุ่งยากกว่านี้

เวลาประมาณ  ๑๖.๓๐ น.  ข้าพเจ้า  นางสาวสุรีย์  อุ่ยแม  พ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์ เดินทางกลับจากบ้านนานา  และไปส่งพ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์ที่ด่านแม่สาย  เพื่อกลับข้ามฝั่งพรหมแดนก่อนด่านปิดในวันนี้  ระหว่างการเดินทางจากบ้านนานา  ไปด่านแม่สาย  ข้าพเจ้าได้พูดคุยกับพ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์ ถึงความเป็นอยู่ทางฝั่งพม่า  และถามถึงน้องสายพร  ที่ติดตามแม่ไปอยู่ทางฝั่งพม่า  พ่อเลี้ยงน้องนิวัฒน์เล่าว่า  ตนเองทำนา  ปลูกผัก  บางปีก็ได้ขายแต่ส่วนใหญ่จะปลูกไว้กินเองมากกว่า  ส่วนแม่น้องนิวัฒน์  น้องสายพร   เปิดร้านค้าขายของชำเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน  ความเป้นอยู่ไม่ถึงกับลำบากแต่ด้วยการปกครองของประเทศพม่าที่ยังถือว่าคนไทยใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยทำให้หมู่บ้านไทยใหญ่ที่ตนเองอยู่ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร  ถึงด่านเราล่ำลาพ่อเลี้ยงน้องนิกและส่งข้ามด่านพรหมแดนไทย – พม่า ในเย็นวันนั้น

๒๓  พฤศจิกายน ๒๕๕๖

เวลาประมาณ  ๑๑.๐๐  น. ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปสอบถามน้องนิวัฒน์  เพื่อเช็คสภาพหลังจากเข้าไปพักที่บ้านนานาในคืนแรก  น้องนิวัฒน์บอกว่าสามารถอยู่ได้ไม่มีปัญหา  และอยู่ได้ด้วยความสบายใจ  ข้าพเจ้าถามถึงเพื่อนที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นเด็กในวันใกล้เคียงกัน  น้องนวัฒน์บอกว่าได้เจอเพื่อนและพูดคุยทำความรู้จักกันแล้ว   ก่อนการพูดคุยเสร็จในวันนั้น  ข้าพเจ้าได้บอกน้องนิวัฒน์จะติดต่อกลับไปน้องนิวัฒน์อีกครั้งในเย็นวันที่ ๒๔  พฤศจิกายน ๒๕๕๖  เพื่อสอบถามหลังจากไปเรียนวันแรก

๒๔  พฤศจิกายน ๒๕๕๖

๑๘.๑๕ น.  ข้าพเจ้าโทรศัพท์หาน้องนิวัฒน์  เพื่อสอบถามเรื่องการเรียน หลังจากหยุดเรียนหลายวันช่วงระหว่างการตัดสินใจในแนวทางการศึกษาต่อช่วงที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า  น้องนิวัฒน์เล่าว่า การไปเรียนวันแรกไม่พบปัญหาอุปสรรคใด ๆ ครูและเพื่อนก็ให้การต้องรับเช่นเดิม  แต่ที่ต้องรีบคืองานค้างสะสมช่วงที่น้องไม่ได้มาเรียนตั้งแต่วันเปิดเรียนวันแรกที่ต้องตามสะสางงานที่ค้างอยู่   และพูดคุยกันในแผนอนาคตที่น้องอยากเรียนต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖  น้องนิวัฒน์บอกว่าตนเองชอบด้านคอมพิวเตอร์  อยากเรียนต่อทางวิศวคอมพิวเตอร์ เพราะตนเองถนัดและสนใจเป็นพิเศษ ส่วนเรื่องที่พักอาศัยก็ไม่มีปัญหา

ก่อนวางสาย  ข้าพเจ้าได้กำชับกับน้องกรณีเกิดปัญหาไม่ว่ากรณีใดใดให้น้องติดต่อหาข้าพเจ้าหรือนางสาวสุรีย์  อุ่ยแม ทันทีอย่าด่วนตัดสินใจคนเดียวเด็ดขาด 

๑๗  ธันวาคม ๒๕๕๖ 

ประสานน้องนิวัฒน์เพื่อนัดหมายการเดินทางมาเข้าร่วมเวที " การวิจัยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย - พม่า"

๑๘  ธันวาคม  ๒๕๕๖ 

น้องนิวัฒน์ เข้าร่วมเวที " การวิจัยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย - พม่า"  ซึ่งในเวทีนี้บทบาทสำคัญของน้องนิวัฒน์ ในฐานะกรณีศึกษากลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย - พม่า ที่ยังไร้โอกาสและยังไม่มีรัฐใดรองรับ

การเดินทางมาร่วมเวทีพูดคุยในครั้งนี้  น้องนิวัฒน์ต้องผ่านด่านตรวจจำนวน 3 ด่าน และถูกเรียกตรวจฉี่ในด่านสุดท้ายก่อนเข้าตัวเมืองเชียงราย  โชคยังดีที่น้องไม่โดนตรวจบัตรประจำตัวประชาชน เพราะน้องเองยังไม่มีบัตรยืนยันความเป็นตัวตนในรัฐใดให้ถือครอง  มีเพียงใบรับรองผลการศึกษาจาก โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ เท่านั้นยที่น้องถือติดตัวมาระหว่างการเดินทางข้ามเขตอำเภอ  และนี่คืออีกสิ่งสะท้อนที่สิทธิของคนเราโดนถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎหมาย  

๑๙  ธันวาคม  ๒๕๕๖   

นางสาวสุรีย์ อุ่ยแม นางสาวรัชนีวรรณ สุขรัตน์ และคณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ประกอบด้วย อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และ อาจารย์รัชนีกร ลาภวณิชชา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และเจ้าหน้าที่องค์กรเครือข่ายจากจังหวัดตาก  และ อ.แม่อาย  จังหวัดเชียงใหม่  เดินทางไปบ้านนานา  เพื่อพบครูเหงา  นายกรรจร เจียมรัมย์  ผู้ก่อตั้งบ้านนานา  ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพักพิงของเด็กเร่ร่อน ไม่จำกัดเชื้อชาติ สอนให้เด็กรู้จักการอยู่ในสังคมโดยพึ่งพาตนเองและสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้ รู้จักการปลูกผักปลูกหญ้าไว้กิน

ครูเหงาบอกว่า “ บางครั้ง คนเราก็มัวแต่มองอนาคตของตัวเอง ตั้งความหวังของตัวเองเอาไว้ เราก็คิดถึงแต่ตัวเอง จนลืมมองคนรอบข้างไป ”  การพูดคุยเพียงระยะเวลาสั้นแต่ได้เปิดมุมมองใหม่ให้หลายๆคนได้มองเห็นสังคมมากขึ้น

๑๔.๓๐ น.  พวกเราเดินทางไปเยี่ยมคณะครูผู้สอนและร่วมพูดคุยถึงประเด็นปัญหานักเรียนในโรงเรียนด้านสถานะบุคคลที่ยังมีตกค้างอีกหลายสิบคน ณ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์  ซึ่งน้องนิวัฒน์กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕  เราได้เข้าพบ อ.ดา ตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายอาคารสถานที่  อาจารย์สุชา มณีวรรณ  ผู้รับผิดชอบดูแลในส่วนของงานทะเบียนนักเรียน

การพบปะพูดคุยประเด็นปัญหาของนักเรียนในโรงเรียนที่ยังมีปัญหาสถานะบุคคลและปัญหาของน้องนิวัฒน์  ซึ่งปัจจุบันน้องนิวัฒน์ยังไม่ได้รับบัตรประจำตัวนักเรียนที่ทางโรงเรียนออกให้  เราสอบถามในส่วนนี้ทางอาจารย์ที่รับผิดชอบแจ้งว่า บัตรนักเรียนกำลังดำเนินการและจะรีบแจกจ่ายถึงมือนักเรียนให้เร็วที่สุด  และจะแก้ปัญหาโดยการทำบัตรนักเรียนชั่วคราวให้น้องนิวัฒน์ถือก่อนในระยะนี้จนกว่าบัตรนักเรียนตัวจริงจะแล้วเสร็จ

๒๙  มกราคม ๒๕๕๗

ข้าพเจ้า และนางสาวสุรีย์  อุ่ยแม  เดินทางไปโรงเรียนแม่สายประสิทธิศาสตร์  เพื่อตามเรื่องบัตรนักเรียนให้น้องนิวัมน์หลังจากการเข้าไปพบปะพุดคุยกับทางโรงเรียนเมื่อวันที่  ๑๙  ธันวาคม  ๒๕๕ต  ที่ผ่านมา  โดยประสานผ่านทางอาจารย์สุชา  มณีวรรณ  ฝ่ายวิชาการโรงเรียน  

จากการเข้าพบทางอาจารย์ได้เตรียมบัตรนักเรียนชั่วคราวไว้ให้น้องนิวัฒน์เพื่อใช้แทนบัตรจริงเป้นการชั่วคราวก่อน  และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์เรื่องแนวทางการศึกาาต่อของนักเรียนในโรงเรียนและกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาสถานะบุคคล  พร้อมทั้งขอข้อมูลนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติในโรงเรียนเพื่อส่งต่อให้อาจารย์พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร  คณะทำงานโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย   คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๗

๑๓.๐๐ น.  ข้าพเจ้าติดต่อเพื่อขอเอกสารมารดาของน้องนิวัฒน์  ทางน้องนิวัฒน์จะติดต่อทางบ้านเพื่อให้พ่อเลี้ยงนำเอกสารมาให้ที่ชายแดนไทย - พม่า จังหวัดท่าขี้เหล็ก ทางน้องนิวัฒน์เล่าว่าพ่อเลี้ยงติดต่อมาทางโทรศัพท์ให้น้องนิวัฒน์เตรียมตัวกลับไปสำรวจประชากรพม่าในวันที่ ๑๕ ถึง ๒๐  มีนาคม  ๒๕๕๗  นี้ 

 

--  จบ  --

หมายเลขบันทึก: 561110เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2014 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท