ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 8 - (ถ้ำโสนภัณฑาร์ - ราชคฤห์), INDIA


ตามรอยพระศาสดาในแดนพุทธภูมิ ตอนที่ 8 - (ถ้ำโสนภัณฑาร์ - ราชคฤห์ )

วันที่ 7 ของการเดินทาง (23 พย. 2556)

ถ้ำโสนภัณฑาร์ (Son Bhandar Caves) หรือถ้ำคลังมหาสมบัติของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงความมั่งคั่ง ร่ำรวยของกรุงราชคฤห์ที่เหนือกว่าเมืองอื่น ๆในสมัยนั้น มหาสมบัติเหล่านี้อยู่ในถ้ำหินที่เกิดจากการขุดเจาะภูเขาเวภารบรรพต (Rock cut chambers) ซึ่งมีอยู่ 2 ถ้ำอยู่ติดกัน เกิดจากหินก้อนเดียวกัน 

ถ้ำที่อยู่ทางทิศตะวันตก (Son Bhandar - West cave) เป็นถ้ำที่เชื่อว่ามีการรักษาความปลอดภัย และมีเส้นทางไปสู่มหาสมบัติ ชื่อของถ้ำ ”โสนภัณฑาร์”น่าจะได้มาจากถ้ำด้านตะวันตกนี้ เพราะ “Son bhandar” แปลว่า “store of gold”  พื้นที่ด้านในของถ้ำเป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 10.4 x 5.2 เมตร ผนังถ้ำด้านนอกมีประตูและหน้าต่าง ทั้งด้านในและด้านนอกชองถ้ำ มีอักขระโบราณและเครื่องหมายต่างๆ สลักไว้หลายแห่ง  ด้านซ้ายของประตูมีรูปเล็ก ๆ ของพระวิศนุกรรม (Vishnu) จึงเป็นไปได้ว่าถ้ำสองแห่งนี้อยู่ในครอบครองของชาวฮินดูมาเป็นเวลาช้านาน และใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศานา ระหว่างประตูและหน้าต่างมีอักษรโบราณสลักไว้ ซึ่งอาจเป็นรหัสลับหรือลายแทงที่บอกเส้นทางไปสู่คลังมหาสมบัติแห่งนี้ คนในท้องถิ่นเชื่อว่า พระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระมารดาของพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้เก็บซ่อนมหาสมบัติ หลังจากที่พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาตพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระราชบิดา ต่อมาภายหลังจึงยกให้กับลัทธิเชนของศาสนาฮินดู เชื่อกันว่าถ้ำนี้ยังมีสมบัติอยู่ และรอมีผู้มีบุญที่คู่ควรกับสมบัติในถ้ำมาเปิดจึงจะสามารถเปิดได้ ชาวท้องถิ่นเล่าต่อกันมาว่า เส้นทางที่จะไปยังมหาสมบัตินี้ อาจเป็นเส้นทางที่ทะลุผ่านภูเขาเวภารบรรพต (Vaibhargiri) ลูกนี้ไปออกที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา (Saptaparni Cave) ก็ได้

เมื่อครั้งอังกฤษยังปกครองอินเดียอยู่ อังกฤษเคยพยายามระเบิดผนังถ้ำเพื่อหาทางเข้าไปค้นหาสมบัติ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ยังเหลือร่องรอยไหม้ดำ ๆ ที่เกิดจากการยิงปืนใหญ่ไว้ตรงขอบประตูด้านบนของทางเข้าถ้ำ  ความลี้ลับของถ้ำยังคงมีอยู่ตลอดมา อักษรและเครื่องหมายโบราณแบบเดียวกับที่เห็นที่ถ้ำนี้ นี้นอกจากพบในอินเดียแล้ว ยังพบที่ ชวา (Java)และบอร์เนียว (Borneo) ด้วย แต่ยังไม่มีผู้ใดสามารถถอดรหัสได้ จึงเป็นปริศนาลึกลับของถ้ำโสกัณฑาร์จนถึงทุกวันนี้

ถ้ำที่อยู่ทางทิศตะวันออก (Son Bhandar - East cave) มี 2 ชั้น ชั้นบนทำด้วยอิฐ ซึ่งสร้างเพิ่มเติมภายหลังในสมัยราชวงศ์คุปต์ (Cupta) ผนังถ้ำชั้นล่างที่อยู่ด้านหน้าของทางเข้า ชำรุดและพังลงมาบางส่วน สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากผลกระทบของการบูรณะด้านบนของถ้ำก็เป็นได้ 

ผนังถ้ำชั้นล่างด้านในแกะสลักรูปมหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร ของลัทธิเชน (Jain) นิกายทิคัมพร ดูคล้าย ๆ กับพระพุทธรูปแต่ไม่ได้นุ่งห่มสบงและจีวร เชนมี 2 นิกาย คือนิกาย "ทิคัมพร" (นุ่งลมห่มฟ้า) เปลือยกายล่อนจ้อน อีกนิกายหนึ่งคือนิกาย "เศวตัมพร" คือนุ่งขาวห่มขาว  

ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #.
หมายเลขบันทึก: 560091เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2014 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2014 12:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณกับเรื่องราวดี ๆ ที่มากสาระจ้ะ

ขอบคุณอาจารย์ คุณมะเดื่อ และอาจารย์ อักขณิช ที่ให้ดอกไม้ค่ะ

ขอบคุณ คุณมะเดื่อสำหรับภาพดอกอัญชัญที่สดสวยและกำลังใจค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ kanchana muangyai ผอ.อัญชัญ ครุฑแก้ว และอาจารย์ Dr. Pop ที่ให้ดอกไม้ค่ะ อนุโมทนาบุญร่วมกันนะคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท