การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์: ใบงาน ตัวช่วยกระตุ้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (ตอนที่ 3 จบ)


ความหลากหลาย

การสร้างใบงานที่ดีควรมีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเนื้อหาและรูปแบบวิธีการ อาจเป็นเกม แบบฝึกหัดต่างๆ เช่น เกมค้นหาคำศัพท์ เกมปริศนาอักษรไขว้ เกมจับคู่  เกมเติมคำในประโยคให้สมบูรณ์ วาดภาพ ขีดเส้นใต้ เกมจับผิด เกมคู่เหมือน เป็นต้น จึงควรนำมาใช้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะการวาดภาพเป็นวิธีการที่สำคัญมากและเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นการฝึกฝนทักษะการสังเกตและช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้ดีกว่าการเขียนคำศัพท์ นอกจากนี้การวาดภาพใส่รายละเอียด ยังเป็นการฝึกฝนทักษะทางศิลปะด้วย ทั้งนี้อาจจะใช้คำถามง่ายๆ เช่น ให้เด็กวาดรูปอะไรก็ได้ที่คิดว่าสวย หรือวาดรายละเอียดของลวดลายตกแต่ง

ทักษะทางคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้ในการเล่นเกมได้ การวัดและการประมาณค่าเป็นวิธีการที่ช่วยฝึกสมองสร้างความจำ ซึ่งเสริมทักษะให้การเรียนรู้ในห้องเรียนได้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาวามสามารถในการคำนวณ เช่น การคำนวณหาระยะทางจากโรงเรียนถึงพิพิธภัณฑ์ต้องใช้เวลาเดินทางนานเท่าใด? การออกแบบใบงานควรมีทั้งความหลากหลายและสร้างแรงจูงใจ การจัดองค์ประกอบสวยๆ และใช้แบบตัวอักษรที่ดึงดูดทำให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีข้อควรคำนึงเรื่องขนาดพื้นที่ว่างบนกระดาษใบงานควรมีขนาดที่เพียงพอที่ต้องการใช้ตอบคำถามหรือทำกิจกรรม ภาพที่ใช้ประกอบอาจจัดวางไว้ตรงกลางกระดาษ

ตัวอย่างที่ 3ใบงานที่ฝึกทักษะการคำนวณ

 

 การพัฒนาการเชื่อมโยงความรู้

สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดบอดของใบงาน คือ นักเรียนมักไม่สามารถปะติดปะต่อสาระความรู้จากตัววัตถุแม้ว่าครูผู้ออกแบบได้พัฒนาแบบฝึกหัดขึ้นหลากรูปแบบและมีการวางกรอบคำถามอย่างดี แต่อาจจะยังไม่ชัดเจนสำหรับผู้เรียน ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยเริ่มจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงนั้นมีความชัดเจนต่อทั้งครูและนักเรียน ลองจดบันทึกคำตอบบนใบงาน จากนั้นตรวจดูความเชื่อมโยงของคำตอบว่าสอดคล้องกันหรือไม่ นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใหม่ได้อย่างไร นอกจากนี้บางครั้งนักเรียนจำเป็นต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นอีกเพื่อคิดต่อ โดยอาศัยใบงานเป็นเพียงตัวช่วยชี้แนะกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ค้นหาคำตอบ เช่น การพยายามจินตนาการถึงรูปแบบวิถีชีวิตของคนที่เป็นเจ้าของ หรือเคยใช้วัตถุสิ่งของนั้น ซึ่งท้ายที่สุดนักเรียนจะสามารถตั้งคำถามด้วยตนเองและรู้จักวิธีการจดบันทึก อีกวิธีหนึ่ง คือ การตั้งโจทย์บทบาทสมมติขึ้นเพื่อให้นักเรียนช่วยกันอภิปรายและคิดหาทางแก้ปัญหากันเอง

 

 

ตัวอย่างที่ 4 ลักษณะใบงานที่พัฒนาการเชื่อมโยงความรู้

 

หลักสูตรการศึกษา

ประเด็นสำคัญของการไปทัศนศึกษายังพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้นั้น คุณครูควรกำหนดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการพานักเรียนไปเพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องใด หรือมีส่วนใดบ้างในพิพิธภัณฑ์ที่สอดคล้องตรงกับหลักสูตรการศึกษา อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์บางแห่งอาจไม่มีใบงานหรือแม้แต่บอร์ดให้ข้อมูล คุณครูจึงจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้นักเรียนแทน หากแต่วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาใบงานควรเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคุณครูที่ทราบดีเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษากับฝ่ายการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุได้ดีที่สุด ดังที่ทราบกันดี ไม่มีใบงานใดที่สมบูรณ์แบบ และจำเป็นต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตามยุคสมัยและรูปแบบการศึกษาเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น 

หมายเลขบันทึก: 559810เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2014 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท