การเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์: ใบงาน ตัวช่วยกระตุ้นการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (ตอนที่ 2)


ในบทความของเกล เดอบิน[1] ได้อภิปรายถึงประโยชน์ของการนำสื่อประเภทใบงาน (กระดาษหรือสมุดที่ประกอบไปด้วยคำถาม หรืองานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเฉพาะเพื่อให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหา เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่สร้างแรงกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กนักเรียนสนใจศึกษาเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์) มาใช้ในงานพิพิธภัณฑ์ว่าหากมีการออกแบบใบงานและการบอกเส้นทางที่ดี ใบงานจะสามารถสร้างแบบแผนการเข้าชมในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั้งเรื่องขนาดพื้นที่ที่เข้าชม การใช้เวลา ความรู้ที่ได้รับและการชื่นชมวัตถุจัดแสดงซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าหลายคนจะไม่ชอบใบงานและมักโต้แย้งว่าการทำใบงานเป็นการจำกัดประสบการณ์ ทำให้เด็กมุ่งเน้นแต่การเติมคำตอบในใบงานมากกว่าให้ความสนใจกับวัตถุและสิ่งจัดแสดง นอกจากนี้เกล เดอบิน ยังได้ให้แนวทางการวางแผนและการเขียนใบงานที่ดีว่าควรทำอย่างไรซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การฝึกปฎิบัติ เทคนิคการตั้งคำถาม ทักษะในการสร้างใบงานให้สมบูรณ์และสัมพันธ์กับหลักสูตรการศึกษา รวมถึงการให้คำอธิบายบรรณานุกรมที่เป็นประโยชน์ การตั้งคำถามสำหรับใบงานนั้นเป็นเรื่องง่ายแต่จำเป็นต้องใช้ทักษะอย่างมากในการออกแบบให้ได้ใบงานที่ใช้อธิบายความวัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ได้ดี การคิดวิเคราะห์กำหนดรูปแบบใบงานและสรรหาวิธีการต่างๆ ที่ทำให้ใบงานนั้นมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยผู้เขียนได้แปลเก็บความและเรียบเรียงสาระจากบทความดังกล่าวดังต่อไปนี้

         สิ่งที่ควรคำนึงในการกำหนดรูปแบบของใบงานมี 5 ประการ คือ:

- การฝึกปฏิบัติ

- เทคนิคการตั้งคำถาม

- ความหลากหลาย

- การพัฒนาการเชื่อมโยงความรู้

- หลักสูตรการศึกษา

 

การฝึกปฏิบัติ

ใบงานที่ไม่มีประสิทธิภาพอาจมีข้อผิดพลาดจากจุดเล็กจุดน้อยที่คาดไม่ถึงเพราะ ขาดการเตรียมตัว ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานเกล เดอบิน จึงเสนอแนะวิธีการตรวจสอบลักษณะของใบงานเสียก่อน

  • มีเด็กจำนวนมากเท่าไหร่ที่ต้องมุ่งความสนใจไปยังพื้นที่แคบๆ หรือมองดูวัตถุเพียงจุดเดียว? เป็นไปได้หรือไม่ที่จะออกแบบใบงานที่สามารถทำให้เด็กกระจายตัวไปยังพื้นที่รอบๆ  โดยหลีกเลี่ยงอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่สามารถมองเห็นวัตถุนั้นๆ 
  • มีอะไรอีกบ้างที่อาจขัดขวางเด็กในการมองเห็นวัตถุที่ปรากฎในใบงาน? ตู้ที่จัดแสดงวัตถุสูงเกินไปหรือไม่? มีแสงสะท้อนของกระจกจากมุมที่เด็กมองดูไหม?
  • ชื่อสถานที่ที่ซ่อนคำตอบในใบงานนั้นชัดเจนไหม? ชื่อห้องหรือตู้จัดแสดงที่ถูกต้อง ควรให้ข้อมูลทิศทางที่ชัดเจนเมื่อเด็กจำเป็นต้องย้ายไปห้องถัดไป
  • คำตอบแบบไหนที่คาดว่าจะได้รับ? ควรยกตัวอย่างคำตอบมากกว่าใช้คำอธิบายยืดยาว เด็กที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ตอบใบงานจะหาคำตอบได้ง่ายขึ้น โดยสร้างกรอบพื้นที่ให้สำหรับวาดภาพ หรือจุดเส้นประสำหรับเขียนคำตอบ หากคุณครูต้องการหลายคำตอบการใส่เลขลำดับและช่องว่างจะเป็นคำบอกใบ้ที่ช่วยให้เด็กรู้ว่าต้องมองหาคำตอบต่อไปเรื่อยๆ
  • ควรดูว่าระดับความยากง่ายของคำศัพท์และความยาวของข้อความว่าเหมาะกับอายุและความสามารถในการเรียนรู้หรือไม่ ข้อความควรสั้นกระชับและใช้คำศัพท์ง่ายๆ

 

เทคนิคการตั้งคำถาม

การตั้งคำถามนั้นเป็นหัวใจสำคัญของใบงานที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่นคำถามจากนิทานเรื่อง

“โกล์ดดิล็อคกับหมีสามตัว” (Goldilocks and the three bear)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ “โกล์ดดิล็อค” ผู้มีเรือนผมสีทอง วันหนึ่งเธอเดินเล่นหลงเข้าไปในป่า เจอบ้านหลังหนึ่งเคาะประตูและเข้าไปข้างใน พบว่าไม่มีใครอยู่เลยเห็นแต่ข้าวต้ม 3 ชามวางอยู่บนโต๊ะ เด็กหญิงรู้สึกหิวจึงลองกินข้าวต้มชามแรกซึ่งร้อนเกินไป ชามที่ 2 ก็เย็นเกินไป ส่วนชามที่ 3 ข้าวต้มอุ่นพอเหมาะ เธอกินข้าวต้มจนหมดชามแล้วรู้สึกง่วงนอน จึงเดินขึ้นบันไดไปบนชั้น 2 พบเตียงนอน 3 หลังและลองขึ้นไปนอนดู เตียงแรกมีขนาดใหญ่เกินไป เตียงที่ 2 ก็ยังใหญ่เกินไป จนถึงเตียงที่ 3 มีขนาดพอดีตัว เด็กหญิงเผลอนอนหลับไปจนครอบครัวหมี 3 ตัวกลับมาถึงบ้านและพบว่ามีใครบางคนชิมข้าวต้มในชาม 2 ใบแรกของพ่อหมีและแม่หมี และกินข้าวต้มในใบที่ 3 ของลูกหมีจนหมดเกลี้ยง ทั้ง 3 ตัวจึงขึ้นไปบนชั้น 2 ก็พบว่าเตียงนอนของทั้งพ่อหมีและแม่หมีมีร่องรอยบางคนเคยนอนบนเตียง พอถึงเตียงของลูกหมีก็พบเด็กหญิงยังคงนอนหลับอยู่ ทันใดนั้นโกล์ดดิล็อคก็ตื่นขึ้นเห็นหมี 3 ตัว จึงตกใจรีบวิ่งลงบันไดชนกับเก้าอี้ของลูกหมีจนเก้าอี้หัก พอเปิดประตูได้ก็วิ่งหนีเข้าไปในป่า จากนั้นโกล์ดดิล็อคไม่เคยหวนกลับมาที่บ้านของหมี 3 ตัวอีกเลย

  1. ในเรื่องนี้มีหมีกี่ตัว ?
  2. ข้าวต้มคืออะไร ?
  3. คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณเป็นลูกหมี ?
  4. สาวน้อยผมทองควรจะถูกลงโทษจากการทำเก้าอี้พังไหม?
  5. ใครเข้าไปในบ้านที่หมี 3 ตัวอาศัยอยู่ ?
  6. ในเรื่องนี้อะไรเกิดขึ้นเป็นลำดับแรก ?
  7. หลังจากเก้าอี้ของลูกหมีพังเกิดอะไรขึ้น?
  8. คุณคิดว่าหมี 3 ตัวจะล็อคประตูบ้านไหมครั้งต่อไป?
  9. เรื่องนี้เหมือนกับเรื่องหมีอื่นๆ ที่คุณเคยอ่านไหม?
  10. เด็กผู้หญิงทุกคนเหมือนสาวน้อยผมทองหรือไม่?

คำถามเหล่านี้บางคำถามต้องอาศัยความจำจากเนื้อเรื่อง และใช้ความคิดเล็กน้อย (ดูข้อที่ 1, 5, 6 และ 7) บางคำถามต้องอาศัยความคิดเห็นและการคิดมากยิ่งขึ้น (ดูข้อที่ 3, 4, 8, 9 และ 10) และมีเพียงคำถามเดียว (ข้อ 2) ที่ต้องอาศัยความรู้เดิมแม้ไม่ได้ตั้งใจฟังเรื่องทั้งหมด ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพิ่มขึ้นอีกว่า ข้าวต้มเป็นสิ่งที่ทานได้และควรมีอุณหภูมิความร้อนที่พอเหมาะ 

ใบงานที่ดีอาจต้องถามคำถามที่ใช้ระดับความคิดทั้งยากและง่าย แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะใช้คำถามที่ง่ายๆ คิดไม่ซับซ้อน และบางครั้งอาจพลิกแพลงคำถามด้วยการเปลี่ยนวลีคำถามในประโยคก็สามารถทำให้คำถามมีความซับซ้อนขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น “ในนิทานเรื่องนี้มีหมีกี่ตัว?” อาจเปลี่ยนเป็น “จำนวนของหมีในนิทานมีความสำคัญอย่างไร?”

คำถามที่ต้องการเพียงคำตอบแค่ ใช่/ไม่ใช่ ก็สามารถปรับให้น่าสนใจขึ้นได้ เช่นเดียวกับคำถามประเภทนับจำนวนซึ่งจะเป็นประโยชน์หากตัวเลขคำตอบที่ได้นั้นมีนัยสำคัญต่อคำถามในข้อถัดไป ควรหลีกเลี่ยงคำถามประเภทที่ต้องการคาดเดา แต่ใช้คำถามประเภทที่มีเงื่อนไข การสมมติ หรือแสดงความคิดเห็นแทน จากหนังสือ In the good guide:A Sourcebook for Interpreters, Docents and Tour Guides ของเอลิสัน กรินเดอร์ และซู แม็คคอย ได้กำหนดลักษณะคำถามไว้ 4 ประเภท จำแนกได้ดังนี้

  1. คำถามเน้นความจำ (Memory questions) เป็นคำถามที่ต้องการหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด จัดเป็นรูปแบบคำถามที่แคบที่สุดและใช้ระดับความคิดน้อยที่สุด ต้องการเพียงคำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากความจำที่ถูกต้องแม่นยำซึ่งคำตอบที่ได้มักเป็นเพียงคำตอบเดียว ลักษณะคำถาม ได้แก่ จำนวนเท่าไหร่ ชื่ออะไร สิ่งนี้คืออะไร อันไหน

ตัวอย่างที่ 1 ลักษณะคำถามปลายปิด

2. คำถามปลายปิด(Convergent questions) เป็นคำถามที่เน้นคำตอบที่เหมาะสมหรือคำตอบที่ดีที่สุด คำถามมักพุ่งไปยังคำตอบสำเร็จรูปที่รู้กันอยู่แล้ว โดยต้องการคำตอบที่เน้นการอธิบาย เปรียบเทียบ หรือแสดงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ผู้ตอบต้องใช้ระดับความคิดที่ซับซ้อนขึ้นมากกว่าคำถามเน้นความจำ ลักษณะคำถาม ได้แก่ สิ่งนี้เป็นอย่างไร ของสิ่งนี้คล้ายกับอะไร ของสิ่งนี้แตกต่างกับชิ้นอื่นอย่างไร

3. คำถามปลายเปิด(Divergent questions) เป็นคำถามที่เน้นคำตอบที่เป็นไปได้มากกว่า 1 ข้อ ลักษณะคำตอบที่ต้องการเน้นความคิดจินตนาการโดยอาศัยการคิดวิเคราะห์ หาสมมติฐานและสามารถใช้ความรู้ในการแก้ปัญหา และบางครั้งต้องการให้คิดแบบคาดเดา วินิจฉัยและจำลองแบบขึ้นใหม่ ลักษณะคำถามมักใช้วลี ได้แก่ ถ้าหากว่า มีกี่วิธี ลองจินตนาการ

4. คำถามแสดงความคิดเห็น(Judgmental questions) เป็นคำถามที่เน้นคำตอบเฉพาะบุคคล หรือคำตอบพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเลือก การประเมินหรือใช้ระบบวิธีคิดที่ต้องแสดงความเห็น การให้คุณค่าหรือแสดงความเชื่อ ผู้ตอบต้องใช้การคิดวิเคราะห์ ใช้หลักฐานยืนยันประกอบอย่างมีเหตุมีผล อาจต้องใช้กฎเกณฑ์หรือมาตรฐานประกอบการคิดตัดสินใจ คำตอบจึงเปิดกว้างมากที่สุดและต้องใช้ระดับความคิดสูง ลักษณะคำถาม ได้แก่ คิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ มีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร คิดว่าสิ่งไหน และทำไม

การออกแบบพัฒนาใบงานอาจเลือกใช้คำถามจากแต่ละประเภทก็ได้ คำถามที่ดีสำหรับใบงานนั้นนอกจากน่าสนใจแล้วยังต้องมีเหมาะสมด้วย ซึ่งวัตถุประสงค์ของการไปทัศนศึกษายังแหล่งเรียนรู้ หรือพิพิธภัณฑ์ก็เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่จัดแสดง ดังนั้นคำถามจึงควรพุ่งเป้าไปยังวัตถุไม่ใช่บอร์ด หรือป้ายคำบรรยายที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุอยู่แล้ว การตั้งคำถามเกี่ยวกับวัตถุจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัววัตถุเสียก่อนว่าสามารถสื่อความหมายที่เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับบริบทต่างๆ ได้อย่างไร อาทิ วิถีชีวิตของคนในสังคม รูปแบบวิธีการใช้งาน หรือเก็บรักษาวัตถุนั้นๆ ทั้งนี้ ควรเน้นความสำคัญไปที่การสังเกตตัววัตถุไม่ใช่การอ่านบอร์ด

 

 

ตัวอย่างที่ 2 ลักษณะคำถามแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ควรคำนึงด้วยว่าเด็กต้องมีพื้นความรู้เดิมแค่ไหนจึงจะสามารถตอบคำถามในใบงานได้ กระบวนการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์จะประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับพื้นความรู้เดิมของนักเรียนและการเตรียมความพร้อมของเด็ก เด็กที่มีความเข้าใจและมีพื้นฐานในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มาก่อนจะสามารถจัดลำดับความคิดได้ดีขึ้นเมื่อได้เห็นวัตถุของจริง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงคำถาม เช่น ใครสร้าง? สร้างเมื่อไหร่? การตั้งถามลักษณะนี้ถ้าผู้ตอบมาทัศนศึกษาเป็นครั้งแรก หรือไม่มีพื้นความรู้มาก่อนก็จะตอบไม่ได้ และควรเลี่ยงการใช้คำถามแบบคลุมเครือ ในหนึ่งประโยคควรมีเพียงคำถามเดียวและอาจใช้เทคนิคการขึ้นต้นประโยคด้วยการใช้คำกริยาซึ่งเป็นการบอกใบ้ว่าต้องการให้ทำอะไร ตัวอย่างเช่น “ลองบอกความแตกต่างระหว่างตัว X กับ Y” แทนการเริ่มต้นประโยคคำถามว่า “อะไรคือความแตกต่างระหว่าง X กับ Y” นอกจากนี้ยังมีคำกริยาอื่นๆ ที่ช่วยดึงดูดความสนใจ เช่น วาดภาพ อภิปราย อธิบาย หรือ ลองเดา เป็นต้น 

 

[1] Durbin Gail. 1999. “Improving Worksheets” ใน The Educational Role of the Museum. พิมพ์ครั้งที่ 2. London: Routledge. หน้า 92-97

หมายเลขบันทึก: 559808เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2014 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2014 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท