เทรนด์พิพิธภัณฑ์ในยุคสังคมออนไลน์ ตอนที่ 1


สำหรับศตวรรษที่ 21 นี้ หากใครจะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นสักแห่งก็คงต้องสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์บนเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสื่อสารที่อยู่รายรอบตัวเรา คือ ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมว่าเรากำลังอยู่ในโลกยุคแห่งข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริง อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นคำตอบสุดท้ายของรูปแบบการสื่อสารยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง สะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะระบบเครือข่ายทั่วโลกหรือเว็บไซต์ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่มีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งด้านเทคโนโลยีวิทยาการ เศรษฐกิจการค้าและการศึกษา สังคมวัฒนธรรม หรือแม้แต่การประกอบชีวิตประจำวัน อินเทอร์เน็ตเป็นรูปแบบการสื่อสารที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นช่องทางสำคัญสำหรับองค์กรทางวัฒนธรรมอย่างพิพิธภัณฑ์มีโอกาสที่จะนำเสนอข้อมูลแหล่งวัฒนธรรมในวิถีแนวใหม่ที่สร้างสรรค์เพื่อขยายองค์ความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น ดังที่เบอร์นาร์ด เอฟ ไรลี[1] ได้กล่าวไว้ว่า “สำหรับศตวรรษที่ 21 นี้ หากใครจะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นสักแห่งก็คงต้องสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์บนเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง โดยการเปิดให้บริการทางการศึกษาอย่างเสรีและสะดวกรวดเร็วแก่ทั้งครู นักเรียน นักศึกษา”

ตัวอย่างนิทรรศการเสมือนที่จัดแสดงงานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสต์

ที่มา  http://www.tetravol.com/Demos-Eng.html

ทุกวันนี้คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง (Virtual Museum) ขึ้นบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อขยายขีดจำกัดทางกายภาพของพิพิธภัณฑ์ ทั้งการสร้างนิทรรศการพิเศษซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะศิลปวัตถุที่ถูกจัดเก็บอยู่ในห้องคลัง หรือศิลปวัตถุที่มีความเปราะบางเกินกว่าจะนำมาจัดแสดงในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ก็สามารถนำมาจัดแสดงด้วยวิธีการบันทึกภาพดิจิตอล และใช้พื้นที่บนเว็บไซต์เป็นห้องนิทรรศการเสมือน (Online Exhibition) เช่นเดียวกับวัตถุที่แสดงในงานนิทรรศการชั่วคราว เพื่อขยายโอกาสให้กลุ่มผู้ชมได้ชมนิทรรศการต่อเนื่องอีกระยะเวลาหนึ่งหลังนิทรรศการจริงจบลง

ด้วยศักยภาพที่ไร้ขีดจำกัดของเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์และหอศิลปะไม่เพียงแต่สามารถเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านนิทรรศการในรูปแบบที่หลากหลายแล้วยังเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ชมทั่วทุกมุมโลกสามารถสืบค้นองค์ความรู้และข้อมูลของพิพิธภัณฑ์มากขึ้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกลได้ตลอดเวลาตามความต้องการของผู้ใช้ ตลอดจนการจัดทำคลังข้อมูลเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตอย่าง Google Art Project ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัทกูเกิ้ลกับพิพิธภัณฑ์ชั้นนำกว่า 150 แห่งทั่วโลกในการนำเสนอผลงานศิลปะชิ้นเยี่ยมต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้และชื่นชมผลงานศิลปะที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์จากทั่วทุกมุมโลกจำนวนกว่า 32,000 ชิ้นได้อย่างสะดวกและมีอิสระ ภาพถ่ายชิ้นงานศิลปะด้วยกล้องดิจิตอลที่มีคุณภาพและความละเอียดสูงมากเป็นพิเศษ (> 1,000 ล้านพิกเซล) ทำให้การชมผลงานศิลปะของผู้ชมได้รับประสบการณ์สมจริงเสมือนหนึ่งเดินเข้าไปชมในพิพิธภัณฑ์ด้วยตนเอง  

พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศมากมายให้ความสำคัญกับการขยายบริการความรู้บนโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะทั้งในปัจจุบันและอนาคตรูปแบบการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ในห้องเรียนอีกต่อไป กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงทำให้พิพิธภัณฑ์ต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์และแผนการดำเนินงานใหม่ให้ตอบสนองและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคดิจิตอลการปฏิวัติรูปแบบการให้บริการการศึกษาแก่ประชาชนในลักษณะของแหล่งข้อมูลการศึกษาออนไลน์ (Educational ResourceOnline) เป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑ์หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (Asian Civilization Museum, Singapore) มีการเผยแพร่ข้อมูลที่หลากหลายและจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อเอื้อประโยชน์ให้สถานศึกษาสามารถดาวน์โหลดและนำไปใช้ได้ทันที เช่น ไฟล์สมุดกิจกรรม (Worksheets) ตัวช่วยทำให้การเรียนรู้ในห้องนิทรรศการเพลิดเพลินและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งมีการออกแบบขึ้นเฉพาะให้เหมาะสมกับความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ใช้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย หรือไฟล์คู่มือการเรียนรู้สำหรับคุณครู (Educational Kit for Teachers) แนะแนวคุณครูให้วางแผนจัดการเรียนการสอน เตรียมพร้อมก่อนการพานักเรียนมาเรียนรู้จากห้องนิทรรศการ ขณะที่เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum, Taiwan) มุ่งเน้นให้บริการความรู้ผ่านบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) หลากหลายประเด็นที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีที่มีลูกเล่นดึงดูดใจให้เยาวชนสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัตถุชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์

 

 

 

เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum, France) สร้างสรรค์สื่อเรียนรู้ศิลปะออนไลน์ (Learning about Art) หลากรูปแบบให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์สามารถเลือกหัวข้อได้ตามความสนใจ และเหมาะกับทุกกลุ่มอายุ ได้แก่ รู้จักศิลปะ (A Closer look) เรียนรู้คุณค่า ความหมายและความงามของศิลปะผ่านผลงานศิลปวัตถุอย่างลึกซึ้งผ่านคลิปวีดีโอสั้น หรือหัวข้อเรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์ (Tales of the museum) ที่ออกแบบเพื่อเอาใจเด็กด้วยตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นมาเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากวัตถุในพิพิธภัณฑ์ให้น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย     

แหล่งอ้างอิง

[1] Reilly F.B. 2001. Merging or diverging? New international models from webs. Museum News. (January/February, 48-55, 84-55)

หมายเลขบันทึก: 559664เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2014 14:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2014 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum, France) เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่มากๆ.... ผู้เข้าชมไม่สามารถเดินชม และศึกษาในรายละเอียดได้อย่างทั่วถึงภายในวันเดียวได้ จึงมีเว็บไซต์แผนที่โซนต่างๆ พร้อมข้อมูลโบราณวัตถุต่างๆที่จัดแสดง เพื่อบริการให้ผู้ที่จะเข้าชมได้ศึกษาทั้งก่อน และหลังการเข้าชมนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท