ภาษีอากรค้าง


ภาษีอากรค้าง

สมเจตน์ ประสงค์ดี

กรมสรรพากร

          ภาษีอากร คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับจัดเก็บจากราษฎร  โดยไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้เสียภาษีอากรโดยตรง เป็นรายได้หรือทรัพยากรที่ได้มีการเคลื่อนย้ายจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐบาล และไม่ก่อให้เกิดภาระชำระคืนแก่รัฐบาล เป็นสิ่งที่เรียกเก็บจากบุคคล ทรัพย์สิน หรือธุรกิจ เพื่อการสนับสนุนรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่น และเป็นการโอนทรัพยากรใดๆ อันมีลักษณะบังคับแต่มิได้เป็นการลงโทษจากภาคเอกชนไปสู่ภาครัฐบาล โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

          หลักการจัดเก็บภาษีอากร ตามทฤษฎีของ Adam Smith วางหลักการจัดเก็บภาษีอากรเบื้องต้นไว้
4 ประการ คือ

          1. หลักความเป็นธรรม (Equality)

          2. หลักความแน่นอน (Certainty)

          3. หลักความสะดวก (Convenience)

          4. หลักการประหยัด (Economy)

          หลักความเป็นธรรม (Equality)

          ประชาชนทุกคนในแต่ละประเทศ ควรจะต้องเสียสละรายได้หรือผลประโยชน์ตามฐานะทางเศรษฐกิจ หรือรายได้แห่งตน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของรัฐ ทั้งนี้ เพราะแต่ละคนต่างได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากรัฐ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การป้องกันประเทศ ความคุ้มครองจากรัฐ เป็นต้น

          หลักความแน่นอน (Certainty)

          ระบบภาษีอากรที่จะทำให้ประสิทธิภาพจัดเก็บที่ดี จะต้องมีความแน่นอนชัดเจนต่อผู้เสียภาษีอากร ในเรื่องต่างๆ คือ อัตรา กำหนดเวลาการยื่นแบบรายการ สถานที่เสีย วิธีการเสีย ภาระภาษีอากร การทำรายได้ และหนี้ภาษีอากร

          หลักความสะดวก (Convenience)

          การจัดเก็บภาษีอากรทุกชิดควรจะต้องจัดเก็บตามวัน เวลา สถานที่ที่ผู้เสียภาษีสะดวก และจะต้องอำนาจความสะดวกในการเก็บภาษีอากรแก่ผู้เสียภาษีอากรด้วย

          หลักการประหยัด (Economy)

          การจัดเก็บภาษีอากรทุกชนิดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บน้อยที่สุด แต่สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้จำนวนมากที่สุด ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีอากรดังกล่าวรวมถึงค่าใช้จ่ายของผู้เสียภาษีอากรในการเสียภาษีอากรด้วย

          นอกจากหลักการจัดเก็บภาษีอากรเบื้องต้นที่ Adam Smith ได้วางไว้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ต่อมาได้มีการพัฒนาหลักการจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มเติม และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ

          หลักความเสมอภาค (Equity)

          หลักความยุติธรรมในการเสียภาษีอากร หรือหลักความสามารถในการเสียภาษีอากร (Ability to Pay Principle) หมายถึง ผู้ที่มีทรัพย์สินมาก (Wealth) เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษีอากรมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินน้อย ดังนั้น ระบบภาษีอากรที่ดี จะต้องมีความยุติธรรมเสมอภาคกันในระหว่างผู้เสียภาษีอากรทุกคน

          ความยุติธรรมดังกล่าว จะต้องพิจารณาทั้งในด้านความเป็นธรรมเกี่ยวกับภาษีอากรที่จัดเก็บและด้านการปฏิบัติในการจัดเก็บด้วย

          หลักการยอมรับ (Acceptability)

          การที่ประชาชนผู้เสียภาษีจะให้การยอมรับในระบบภาษีอากรมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการยอมรับในระบบการจัดเก็บของกรมสรรพากร จึงจะทำให้เกิดความสมัครใจที่จะเสียภาษีอากรที่ถูกต้อง ดังนั้น การตรากฎหมาย หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ เกี่ยวกับภาษีอากร จึงควรให้ประชาชนผู้เสียภาษีอากรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ตลอดจนแสดงให้ผู้เสียภาษีอากรได้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเสียภาษีอากรกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากรัฐบาลอย่างชัดเจน

          หลักความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ (Enforceability)

          ภาษีอากรทุกประเภทที่จัดเก็บจะต้องสามารถทำการจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิผลในทางปฏิบัติ เช่น ภาษีที่เกิดจากการใช้จ่ายหรือการบริโภค ภาษีการค้าปลีก ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลที่ดีในการจัดเก็บทางทฤษฎีที่จะช่วยให้การกระจายรายได้ให้เป็นธรรมและช่วยรักษาเสถียรภาพทางราคาอย่างอัตโนมัติ แต่การจัดเก็บอาจเป็นไปได้ไม่สะดวกในทางปฏิบัติ เป็นต้น

          หลักการทำรายได้ (Productivity)

          ระบบภาษีอากรที่ดีนั้นจะต้องครองคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ในทุกๆ กิจกรรม สามารถขยายตัวได้รวดเร็วตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้แก่รัฐได้เป็นอย่างดี

          หลักความยืดหยุ่น (Flexibility)

          ภาษีอากรที่ดีควรจะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เข้ากับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และสามารถทำรายได้ให้กับรัฐบาลในอัตราที่สูง ซึ่งส่งผลให้รายได้จากภาษีอากรเพิ่มขึ้นหรือลดลงเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของรายได้ประชาชาติ (GDP) ดังนั้น ภาษีอากรจึงทำหน้าที่ในการปรับอุปสงค์รวม (Aggregate Demand) ให้เป็นไปโดยเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่าภาษีที่มีความยืดหยุ่นสูงจะเป็นเครื่องมือช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้โดยตัวเอง

          ภาษีอากร ที่อยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบจัดเก็บของกรมสรรพากร ตามประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ประกอบด้วยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

          ภาษีอากรแต่ละประเภทประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้กำหนดวิธีการเสียภาษี การคำนวณภาษี อัตราภาษี การยื่นแบบแสดงรายการและชำรภาษี สถานที่เสียภาษี และกำหนดเวลาไว้ หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญา

          ภาษีอากรค้าง หมายถึง ภาษีอากรซึ่งต้องเสียหรือนำส่ง เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว ถ้ามิได้ชำระ (เสีย) หรือนำส่ง (มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514)

          เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง อำนาจดังกล่าวอธิบดีกรมสรรพากรจะมอบให้รองอธิบดีหรือสรรพากรเขตก็ได้

          วิธีการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม ส่วนวิธีการอายัดให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

          เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าว ให้หักค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในการยึดและขายทอดตลาด และเงินภาษีอากรค้าง ถ้ามีเงินเหลือให้คืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน

          เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรได้มีคำสั่งยึดหรืออายัดแล้ว ห้ามผู้ใดทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท  

          ในกรณีผู้กระทำความผิดดังกล่าวเป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ดังกล่าวด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

          เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากร หรือสรรพากรจังหวัด (พื้นที่) มีอำนาจ

          (1) ออกหมายเรียกผู้ต้องรับผิดชำระภาษีอากรค้างและบุคคลใด ๆ ที่มี เหตุอันเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากรค้างมาให้ถ้อยคำ

          (2) สั่งบุคคลดังกล่าวใน (1) ให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันจำเป็นแก่การจัดเก็บภาษีอากรค้างมาตรวจสอบ

          (3) ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานสรรพากรทำการตรวจค้นหรือยึดบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นของบุคคลดังกล่าวใน (1)

          การดำเนินการตาม (1) หรือ (2) ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือคำสั่ง การออกคำสั่งและทำการตาม (3) ต้องเป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

          ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือสรรพากรจังหวัด (พื้นที่) เจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

----------------------------

หมายเลขบันทึก: 559579เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2014 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2014 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรื่องของภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญ ...ประชาชนต้องทราบ และมีความตระหนักที่จะต้องรับผิดชอบเสียภาษีให้กับประเทศนะคะ...ขอบคุณค่ะ

เป็นเรื่องที่ผมมีความสนใจกระหายใคร่รู้เพิ่มครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท