รู้จักกันไหม...ไขมันทรานส์


ไขมันชนิดนี้ เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

ไขมันทรานส์ คืออะไร

                ไขมันทรานส์ (Trans Fat) หรือกรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty acid) เป็นกรดไขมันที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปาลม์ น้ำมันถั่วเหลือง หรือทำให้มีลักษณะเป็นกึ่งของแข็ง เช่น มาร์การีนหรือเนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม  เรียกกระบวนการนี้ว่า “ไฮโดรจิเนชั่น” (Hydrogenation) โดยจะมีชื่อบนฉลากอาหารคือ กรดไขมันชนิดทรานส์  (Trans Fat) หรือ Hydrogenated Oil หรือ Partially Hydrogenated Oil กระบวนการนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพกลายเป็นไขมันอิ่มตัวที่เต็มไปด้วยอันตราย

แหล่งอาหารที่มีไขมันทรานส์

อาหารที่มีไขมันทรานส์นั้น จะมีคุณสมบัติคือทำให้อาหารที่ปรุงนั้นเก็บได้นานโดยไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข และสามารถทนความร้อนได้สูง  ทำให้อาหารกรอบ รวมถึงมีรสชาติที่ใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์แต่มีราคาถูกกว่า ผู้ประกอบการจึงนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารมากมายเช่น ขนมอบหรือเบเกอรี่ที่มีมาการีนและเนยขาวเป็นส่วนประกอบ เช่น คุกกี้ แครกเกอร์ ขนมปัง กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งใช้น้ำมันทอด เช่น ไก่ทอด เฟรนช์ฟราย  โดนัท ครีมเทียม วิปปิ้งครีม เป็นต้น นอกจากนั้นการทำอาหารที่ใช้ความร้อนต่อเนื่องกันนานๆ หรือน้ำมันทอดที่ใช้ซ้ำหลายครั้ง เช่น มันทอด กล้วยทอด ปาท่องโก๋  ก็มีส่วนทำให้เกิดไขมันทรานส์ได้เช่นกัน และยังพบไขมันทรานส์อีกปริมาณเล็กน้อยในเนื้อสัตว์และนมสัตว์ เช่น นมวัว นมแกะ เป็นต้น

ผลของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ

                ในบรรดาไขมันทั้งหลายนักโภชนาการจัดให้ไขมันทรานส์มีอันตรายเป็นอันดับหนึ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม และแอลดีแอล-คอเลสเตอรอล หรือคอเลสเตอรอลตัวร้ายเพิ่มขึ้นแล้ว (เช่นเดียวกับการบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่นไขมันจากสัตว์และน้ำมันปาล์ม  ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด) ยังไปลดระดับของแอชดีแอล – คอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีอีกด้วย โดย มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกาว่าหากลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เพียงครึ่งเดียว จะป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ร้อยละ 10 – 12 และหากไม่รับประทานเลยจะป้องกันได้ถึงร้อยละ 18 -22และยังมีการวิจัยพบว่าไขมันทรานส์เกี่ยวข้องกับการเกิดอัลไซเมอร์  จอประสาทตาเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี ทำให้ตับทำงานผิดปกติ การอักเสบ และอาจเพิ่มความเสี่ยงการท้องยากในผู้หญิงอีกด้วย

การหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันทรานส์

        1.ลด/หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) เช่น โดนัท เค้ก คุกกี้ ฟาสต์ฟูด เฟรนส์ฟรายด์ ขนมอบกรอบ ขนมขบเคี้ยว

        2. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง โดยหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือที่ใช้น้ำมันที่ผ่านขบวนการ ไฮโดรจิเนชั่น ซึ่งมีข้อความว่า  “Trans Fat”  หรือ  “Hydrogenated Oil” หรือ “ Partially Hydrogenated Oil”

        3. เลือกใช้น้ำมันพืชในการปรุงประกอบอาหาร เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก  น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วเหลือง  น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น

        4.  อย่าลดไขมันทรานส์โดยกินไขมันอิ่มตัวแทน สิ่งที่ควรทำคือ เลือกอาหารที่มีไขมันทั้งสองชนิดต่ำไว้เสมอ

        5. ดื่มนมไขมันต่ำ (low fat milk) หรือ นมที่ไม่มีไขมัน (skim milk) แทนนมไขมันเต็มส่วน (whole milk)

        6. หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ไขมันสูง รับประทานปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมันเป็นประจำ

        7. กินผักและผลไม้ทุกมื้อ

    

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 559004เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2014 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่แบ่งปันนะครับ

...การอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท