ความสุขของอากง


เมื่อวันพฤหัสบดี ที่9 ดิฉันเรียนในวิชาการสังเกตและให้เหตุผลทางคลินิกพื้นฐานและได้มีโอกาสpresentงานให้อาจารย์อีและอาจารย์Popฟังเกี่ยวกับเคสที่ได้ไปสังเกตดูงานกิจกรรมบำบัดที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก  ดิฉันรับผิดชอบการสังเกตเคสฝ่ายกาย ซึ่งเคสนี้เป็นอากงอายุ75ปี ที่เป็นโรคDouble hemiparesis  (spastic ด้านซ้าย) อากงคนนี้เค้าพูดไม่ได้ เดินไม่ได้ต้องนั่งบนwheelchair ตลอดเวลา แต่ยังสามารถใช้มือด้านขวาซึ่งเกร็งน้อยกว่าหยิบจับสิ่งของได้ โดยดิฉันสังเกตได้จากที่อากงทำกิจกรรม เช่น หยิบกรวยมาซ้อนเป็นชั้นๆ  , หยิบลูกบอลจากตะกร้าหนึ่งไปอีกตะกร้าหนึ่งได้ และสิ่งที่ดิฉันสังเกตเห็นจากเคสนี้คือ อากงจะไม่แสดงสีหน้าว่ามีความสุขหรือไม่มีความสุขในการทำกิจกรรม มีแต่เพียงความเป็นประกายในแววตาเท่านั้นที่สามารถสังเกตได้ แล้วสิ่งที่น่าสนใจในการเข้าไปสังเกตเคสนี้คือ   เราจะทำให้อากงมีความสุขได้อย่างไรล่ะ ?

 

วิธีการสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ 
   ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อผู้สูงอายุ ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในบั้นปลายชีวิต วิธีการก็เช่นเดียวกับที่ผู้สูงอายุทำด้วยตนเอง แต่ต่างกันที่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นผู้ทำให้ การทำให้นั้นไม่ควรทำด้วยหน้าที่ เพราะสิ่งที่ทำนั้นจะไม่อ่อนโยน ไม่นุ่มนวล และไม่ได้เกิดความรู้สึกที่ดี เพราะไม่ได้ออกมาจากใจ แต่การทำต้องทำด้วยใจ  ด้วยความรัก และด้วยความปรารถนาดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผู้สูงอายุสามารถรับรู้ได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้น ถ้าใครยังไม่เคยทำ สามารถฝึกหัดทำและค่อยๆ ทำ จะทำได้ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า จะตั้งใจทำหรือไม่ วิธีทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกระทำได้  ดังนี้

1.
การปรับตัวของลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุ 
เมื่อประสงค์จะให้ผู้สูงอายุปรับตัวเพื่อให้ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุก็ต้องปรับตัวของตนเองด้วย ที่ยอมรับกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น โดยการปรับใจ ปรับความคิด และหาวิธีการที่จะปรับการทำกิจวัตรประจำวันและการทำงานของตนเองให้สอดรับกับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะถ้าผู้ดูแลทุกคนที่เป็นทั้งลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง หรือผู้รับจ้างมาดูแลผู้สูงอายุปรับตัวได้แล้ว ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น และช่วยทำให้การสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุประสบความสำเร็จ  

2.
การเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุด้วยความรัก 
การที่จะดูแลเอาใจใส่ใครนั้น ต้องถามตนเองว่า “รักเขาหรือเปล่า” เพราะเมื่อเรารักใคร เราก็จะทำสิ่งต่างๆ ให้กับคนที่เรารักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการที่ได้ดูแลบุพการีหรือญาติผู้ใหญ่ที่เรารัก วิธีการเอาใจใส่ดูแลผู้สูงอายุให้มีความสุขนั้น คือ การที่ลูกหลานมาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุบ่อยๆ การที่ลูกหลานแสดงความรักด้วยการโอบกอด และ/หรือหอมแก้ม เป็นสัมผัสที่ทำให้ผู้สูงอายุรับรู้ถึงความรักและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้สูงอายุ การให้เวลาในการพูดคุย และ/หรือการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุ หรือพาผู้สูงอายุเข้าร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วยเท่าที่ทำได้ตามสภาพของผู้สูงอายุ เพื่อทำให้ผู้สูงอายุได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว การให้เกียรติและให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ เช่น คอยซักถามเกี่ยวกับสุขภาพ ความรู้สึก สภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ขอคำปรึกษาจากผู้สูงอายุเมื่อเวลามีปัญหา ให้ผู้สูงอายุช่วยในการอบรมหลาน หรือดูแลกิจการภายในบ้านเท่าที่ทำได้ พาไปตรวจสุขภาพประจำปีโดยสม่ำเสมอ เมื่อเจ็บป่วยก็พาไปพบแพทย์ คอยเฝ้าดูแลใกล้ๆ เมื่อเจ็บป่วย หรือให้การช่วยเหลือเมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จัดหาอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ พาไปออกกำลังกาย หรือถ้าไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ก็ต้องช่วยบริหารร่างกายให้ ดูแลในเรื่องการทำกิจวัตรประจำวัน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุด้วยความนุ่มนวล อ่อนโยน และถนอมจิตใจ ดูแลในเรื่องเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว ที่นอน และสิ่งแวดล้อมภายในห้องของผู้สูงอายุให้สะอาดและสะดวกในการใช้ การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น การอยู่เป็นเพื่อนเมื่ออยู่คนเดียว ผู้สูงอายุจะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง พาไปพบปะเพื่อนๆ หรือเข้าทำกิจกรรมของชมรมหรือสมาคมในชุมชน และ/หรือสังคม พาไปวัดหรือโบสถ์หรือสุเหร่าเพื่อปฏิบัติธรรม ช่วยจัดหาสิ่งสนับสนุนในการทำงานอดิเรกหรือการทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยในการประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนให้มีรายได้ตามที่สมควรแก่โอกาส หรือให้เงินแก่ผู้สูงอายุไว้ใช้จ่ายส่วนตัว  จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขต่อการดูแลเอาใจใส่ที่ให้นั้น 

3.
การสร้างอารมณ์ขันให้ผู้สูงอายุ
ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่าอารมณ์ขันจะช่วยลดความกดดัน ทำให้จิตใจเบิกบานและมีความสุข ฉะนั้น ลูกหลาน ญาติพี่น้องและผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องพยายามช่วยกันสร้างบรรยากาศในการที่จะทำให้เกิดอารมณ์ขันในผู้สูงอายุ วิธีการสร้างอารมณ์ขันให้สูงอายุก็เช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่ดูแลคุณแม่ พบว่า การได้ยั่วให้คุณแม่ยิ้มและหัวเราะจากใจวันละครั้ง ด้วยการพูดหรือแสดงพฤติกรรมหยอกล้อให้ตลกหรือขำ ช่วยลดความซึมเศร้าและความเหงาให้กับคุณแม่แถมยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้คุณแม่สร้างอารมณ์ขันให้ตนเองและคนรอบข้างอีกด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นในครอบครัว เพราะแต่ละคนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เกิดความใกล้ชิดสนิทสนมกัน และเกิดความรักต่อกัน   

   ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการสร้างความสุขในผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก เพียงแต่ผู้สูงอายุเริ่มที่จะทำตนเองให้มีความสุข ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ดูแลผู้สูงอายุหันกลับมาสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุ เท่านี้ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

อ้างอิงจาก http://www.stou.ac.th/stoukc/elder/main1_9.html

        ซึ่งรายละเอียดด้านบนนี้เป็นการสร้างความสุขในผู้สูงอายุทั่วไปในสังคม แต่ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วย เราจะทำให้เขามีความสุขได้อย่างไรกัน อันดับแรก ดิฉันคิดว่า การที่อากงนั่งอยู่บนwheel chairตลอดเวลานั้นก็อาจทำให้องกงไม่มีความสุขได้แล้ว เราลองคิดดูว่า ถ้าเป็นตัวเราเองนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม ไม่ได้เปลี่ยนไปนั่งและสัมผัสบรรยากาศที่อื่นเลยก็คงไร้ความสุข ดิฉันจึงคิดว่า การที่เราให้อากงเปลี่ยนสถานที่หรือย้ายอากงไปนั่งทำกิจกรรมบนเก้าอี้แบบอื่นที่ไม่ใช่นั่งอยู่บนwheel chairอย่างเดียว

                การทีเราจะทำกิจกรรมยามว่างให้เกิดประโยชน์และเกิดความสุข ญาติหรือคนดูแลควรมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมด้วย อย่างเช่น ทำกิจกรรมไปพร้อมๆกัน และควรหากิจกรรมที่อากงชอบในอดีต หรือค้นหาความต้องการหรือความสนใจในปัจจุบัน โดยให้อากงชี้รูปกิจรรมที่ชอบและอยากทำ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อากงทำกิจกรรมที่ชอบและมีความสุข โดยไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอย่างเปล่าประโยชน์

                และการสร้างความสุขเล็กๆให้อากงโดยการพูดชม เช่น “อากงเก่งจังเลย” เพื่อเป็นการให้กำลังใจหลังจากการทำกิจกรรมที่ฝึกเสร็จแล้ว การที่ดวงตาของอากงเป็นประกายเวลาเราพูดด้วยถือเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงว่าอากงรับรู้ในสิ่งที่เราพูดและทำให้เขาเกิดความสุขจากคำพูดเราได้

                และเนื่องจากอากงเป็นผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถพูดได้ วิธีการที่เราจะทำให้เรารู้ว่าอากงมีความสุขนั่นก็คือ อาจจะให้ชี้สัญลักษณ์ระดับความสุขเป็นscoreคะแนน วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่เราสามารถรับรู้ได้ว่า อากงมีความสุขมากน้อยแค่ไหน ถึงแม้อากงจะพูดหรือสื่อสารกับเราไม่ได้

                จากการที่เราได้เรียนรู้ได้สังเกตเคสที่ผ่านมา ทำให้เราว่า คนไข้สามารถปรับตัว ยอมรับ รับรู้ เข้าใจตนเองได้ สามารถช่วยเหลือตนเองได้พอควร และทำให้เกิดความสุข คุณภาพชีวิตที่ดีได้โดย คนรอบข้าง ญาติ คนดูแลเป็นส่วนสำคัญในการเข้าไปมีส่วนเสริมสร้างความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆวันได้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 559001เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2014 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครอบครัว..อบอุ่น..(จะน้อยลง..หรือไม่มี..เป็นปัญหาที่กำลังเป็นอยู่ในขณะนี้)..สังคมแตกต่าง..ใน..ด้านฐานะ..และ..การครองชีพ..(ค่ารักษาบริการ..แพง..จน..คนจน..เข้าไม่ถึง..ทั้งนี้..ผู้สูงอายุ..มีจำนวนมากขึ้นจนและไร้ญาติจะทำอย่างไร..)...การประกันสังคม..ไม่ประสพผล..(เพราะอะไร)....ญาติ..พ่อแม่พี่น้อง..ปู่ย่า..ตายาย..กำลังเป็นเพียง..สัญญลักษณ์....ในสังคม..ล้มเหลว...(อาจจะเป็นแค่ฝัน..จะมีความสุข..เหมือน..อากง)....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท