ประสานพลังกับอสม. 10 ม.ค. 57


เข้าสู่ช่วงบ่ายของพวกเราที่มีแดดแรงตลอดทุกวันที่ผ่านมา ดูดพลังงานพวกเราไปพอสมควร แต่ไม่เป็นไร เพราะช่วงแรกที่จะนำมาให้ทุกคนได้อ่านกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเติมพลังงานให้กับตนเองของพวกเรา นั่นคือการกินอาหารกลางวัน =w=b นั่นเอง

ปกติพวกเราจะไม่ค่อยทำอาหารกลางวันกินเองกันอยู่แล้ว อย่างที่เคยบอกว่าตลาดไม่เปิดตอนกลางวัน เวลาของขาดก็เลยทำไม่ได้ จึงไปหาร้านขายอาหารถูกๆกินกัน ร้านก็ไม่ใกล้ไม่ไกล ร้านเดิมที่ทุกคนเคยได้อ่านผ่านตาไปแล้ว ร้านขายก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ข้างๆบ้านพี่เรณูนั่นเอง ให้ความรู้สึกว่า as you order มาก (ตามคำสั่งของท่าน) =w=b เพราะสามารถทำอาหารตามสั่งได้ด้วย

หลังจากกินอาหารกลางวันกันเสร็จแล้ว ก็รีบกลับมาทำงานต่อ และเตรียมตัวประชุมกับพี่อสม. บรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง เพราะเริ่มรู้แนวทางของแต่ละคน และรู้เป้าหมายร่วมกันจนเห็นเค้าโครงของสิ่งที่พวกเราจะทำกันแล้ว เพื่อนๆที่ไปสำรวจชุมชนก็กลับมาแล้ว ได้ข้อมูลของคนไข้มาเพิ่มบ้าง แม้จะไม่ถึง 10 คนแต่ก็ดีที่สุดแล้วเท่าที่พวกเราจะทำได้แล้ว จึงขอความอนุเคราะห์จากพี่ๆอสม.ว่าถ้าเจอคนไข้คนไหนที่ยังไม่ได้สัมภาษณ์ให้เรียกพวกเราได้เลย

งานที่ทำยามบ่ายสบายๆแบบนี้ก็คือ ทำป้ายอันที่สาม เป็นป้ายที่จะบอกถึงชื่อของโครงการของเรา นั่นคือ “เบาหวาน...น่ากลัวกว่าที่คิด” บรรยากาศการทำก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งการวาดรูปและระบายสี ทุกคนต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน น่ารักดีครับ =w=b มีทั้งฝ่ายวาดรูปและฝ่ายระบายสี

ถามว่าทำไมถึงคิดจะใช้ชื่อนี้เป็นชื่อของโครงการของเราล่ะ เพราะพวกเราเห็นว่าความตระหนักในโรคเบาหวานของคนไข้หมู่นี้มีอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นการทำให้พวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ว่าโรคเบาหวานถ้าไม่ควบคุมพฤติกรรมของตนเองก็เป็นโรคที่ร้ายแรงได้ ความน่ากลัวของโรคก็คือการที่ไม่มีอาการ ทำให้เราไม่รู้ว่าโรคนี้มีความรุนแรงไปมากแค่ไหนแล้วครับ ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจกระตุ้นความรู้สึกกลัวของคนไข้ในชุมชน เป็นการสร้างแรงจูงใจเชิงลบให้เกิดการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในที่สุด

หลังทำเสร็จแล้วก็สวยดีนะครับ ยิ่งเอาป้ายทั้ง 3 อันมาเปรียบเทียบกันก็สวยๆทั้งนั้นเลย ดูเป็นระเบียบ ตัวหนังสือคมชัด เหมาะกับคนที่สูงอายุแล้วจะได้ไม่ต้องเพ่ง เห็นได้ชัดเจน สิ่งนี้แหล่ะครับที่พวกเราจะนำไปใช้ในวันที่ 12 ม.ค. 57 หลังระบายสีเสร็จก็ต้องตากให้แห้ง

 

ระหว่างนี้พวกเราก็ไปรุมกันที่แผนที่เดินดิน ช่วยกันระบายสีและโน๊ตรายละเอียดของบ้านที่เป็นโรค ทำจนครบบ้านเท่าที่เราได้ข้อมูลมา ตอนนี้ในแผนที่เดินดินก็ขาดแต่พื้นที่รับผิดชอบของพี่อสม.

ป้ายทำอยู่ 2 ชั่วโมง แผนที่เดินดินทำไปเรื่อยๆ พี่จิ๋มก็มาหา ให้ลองตั้งป้ายที่ฝากมาให้ดูว่ามีป้ายไหนใช้ได้ใช้ไม่ได้บ้าง และตั้งกันเป็นหรือเปล่า ลองตั้งเหมือนทำกิจกรรมคร่าวๆก่อน เป็นการเตรียมตัวก่อนวันงาน และทำบรรยากาศให้พี่ๆอสม.ได้สัมผัสคร่าวๆว่าวันจริงจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ก็มาดูความคืบหน้าของงานด้วย

ประมาณ 16.00 น. พี่ๆอสม.ก็เดินทางกันมาถึงที่บ้าน พวกเราก็จัดเก้าอี้นั่งให้ที่บริเวณหน้าบ้าน และจัดบริเวณบ้านให้เหมือนสถานที่จัดกิจกรรม แต่ตอนนี้ยังไม่รู้หรอกว่าสถานที่จริงๆแล้วเป็นอย่างไร จัดอะไรไว้ตรงไหนได้บ้าง พี่อสม.มากันประมาณ 12 คน ก็นั่งเรียงแถวหน้ากระดานเลย

พอนั่งกันเสร็จเรียบร้อย เพื่อนๆก็พูดอธิบายว่าพวกเราจะจัดกิจกรรมอะไรกัน จัดที่ไหน จัดเมื่อไร และมีแผนการอะไรบ้าง ลำดับเหตุการณ์เป็นอย่างไร ให้พี่อสม.ทำอะไรในงานนี้ สุดท้ายก็พูดถามความรู้พื้นๆของเบาหวานว่าพี่อสม.ยังมีความรู้เรื่องนี้หลงเหลือกันอยู่หรือไม่ เพราะงานที่เราจะส่งต่อ พี่อสม.มีส่วนในการดำเนินกิจกรรมต่อไป เป็นการให้ชุมชนช่วยเหลือกันเอง มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกันเอง ดังนั้นคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก่อนที่จะไปรพ. พวกเขาก็จะต้องมาถามอสม.ก่อน อาจจะในแง่ความรู้หรือในแง่การดูแลตนเอง ซึ่งเราก็จะให้ความรู้เหล่านี้แก่อสม.หมดเลยในวันนี้ ในแง่ของความรู้ก็ตั้งแต่เบาหวานคืออะไร เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และมีภาวะแทรกซ้อนอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ในแง่การดูแลตนเองก็จะต้องให้ผู้ป่วยรู้ก่อนว่าเขาอยู่ปิงปองสีอะไร เพราะแต่ละสีมีวิธีการดูแลตนเองไม่เหมือนกัน นี่ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่พี่ๆอสม.จะต้องทำ โดยให้พี่อสม.แต่ละคนรับผิดชอบในการแนะนำการปฏิบัติตัวของแต่ละสี การที่ให้ทำแบบนี้ ข้อดีคือ เราจะได้พี่ๆอสม.ที่มีความรู้ในสีๆนี้โดยเฉพาะ ลักษณะคล้ายๆแพทย์เฉพาะทางอ่ะครับ แต่ข้อเสียคือ คนหนึ่งคนอาจต้องรับภาระเยอะกว่าปกติในกรณีที่ชุมชนมีคนไข้สีหนึ่งๆเยอะกว่าสีอื่น แต่อาจจะมีคำถามว่า แล้วทำไมไม่ให้แต่ละคนรู้แนวทางการปฏิบัติตัวของทุกสีเลยล่ะ ซึ่งวิธีนี้ข้อดีก็คือ ภาระงานเท่าเดิม เพราะแต่ละคนสามารถดูแลคนไข้ในเขตของตัวเองได้ ประหยัดทรัพยากรบุคคล เพราะคนเดียวดูแลได้ทุกคน แต่ข้อเสียคือ เป็ด หมายความว่าอาจจะรู้ของทุกสี แต่จะรู้แค่พื้นๆ เนื่องจากพี่อสม.ไม่ได้ดูแลแต่โรคเบาหวานเพียงอย่างเดียว การที่ให้เขาจำข้อมูลที่มากมายพร้อมๆกัน อาจทำให้จำอะไรไม่ได้เลย หรือจำได้แค่พื้นๆเท่านั้น เปรียบดั่งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปที่ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้ (ยกตัวอย่างซะเว่อเลย =_=“) พวกเราจึงคิดว่าวิธีแรกน่าจะดีกว่า รู้เรื่องเดียว 100% ไปเลย อย่างน้อยก็คาดหวังว่าสามารถดูแลและให้คำแนะนำผู้ป่วยสีนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะในชุมชน อสม.ก็เป็นเครือข่ายอยู่แล้ว สามารถติดต่อหากันได้ง่าย คนหนึ่งโทรหาอีกคนหนึ่งได้ค่อนข้างสะดวก

 

ขณะนี้เวลา 17.30 น. กิจกรรมให้ความรู้แก่พี่ๆอสม.ก็จบลง ทุกคนกลับไปด้วยความยินดีและความรู้เต็มเปี่ยม พอรู้ขอบเขตของกิจกรรมคร่าวๆ จะได้มีแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ขอขอบคุณพี่ๆอสม.ปากน้ำแหลมสิงห์มา ณ ที่นี้ด้วยครับ ส่วนพวกเราเวลาแบบนี้ก็ไปหาของมาทำอาหารเย็นไม่ทันแล้ว จึงตัดสินใจว่าจะออกไปกินข้างนอกบ้านละกัน

สำหรับช่วงบ่ายนี้ ทุกคนที่ติดตามอ่านอยู่คงเห็นว่างานของพวกเราต้องทำงานกันเป็นทีมจริงๆ ขาดคนใดคนหนึ่งไปไม่ได้ ช่วงเวลาแบบนี้แหล่ะครับที่จะสอนพวกเรา และอาจสอนผู้อ่านหลายๆคนด้วย งานบริการด้านปฐมภูมิเป็นงานที่ค่อนข้างยุ่งยากและลำบากกว่าขั้นอื่นๆ แต่เมื่อทำได้สำเร็จแล้วประชาชนทุกคนจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรค และประหยัดทรัพย์สินในการใช้ในการบริการทางสาธารณสุขได้มากเลย ช่วงนี้จบเพียงเท่านี้ รอติดตามชมช่วงเย็นของพวกเราต่อไปนะครับ =w=b

by Kiba-kun

หมายเลขบันทึก: 558982เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2014 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เวลางานยุ่งๆ จะมีเวลา ประมวลผล งาน การเรียนรู้น้อย

ทำให้ความรู้ตกหายระหว่างทาง

สู้ สู้ครับ

แล้วถ้า อสม รู้ทุกสี

แต่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านละคะ

สู้เข้าไปอย่าได้ถอยจ้ะ

พยายามให้รู้ทุกสีก่อนครับ แล้วค่อยให้พี่อสม.คุยกันเองว่าใครจะทำสีอะไร เพราะพี่อสม.แต่ละคนน่าจะรู้ศักยภาพของสมาชิกแต่ละคนอยู่แล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท