ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม : สถานที่เรียน


ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม

ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม (2) :

สถานที่เรียนของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism)

 

      สถานที่เรียนในทรรศนะของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism) นั้นเราจะพบว่า  สถานที่เรียนหรือโรงเรียนจะต้องเป็นสถาบันที่มีการให้การอนุรักษ์วัฒนธรรม  แต่เน้นสภาวะแวดล้อมทางอุดมคติและสัญลักษณ์ 

 

     สถานที่เรียนนั้นถือว่ามีบทบาทโดยตรงตามความคาดหวังที่สังคมต้องการ  เพราะการศึกษาตามแนวคิดนี้  ต้องการให้สังคมเข้ามา มีส่วนในการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ได้ยึดถือกันมาอย่างยาวนานโดยการยึดหลักการอบรมจิตใจเด็กให้มีระเบียบวินัยอันดีงามที่ยึดถือกันมาเพราะเป็นสิ่งที่สามารถส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  การเป็นอยู่ที่พึ่งพาอาศัยกันโรงเรียนต้องรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อสร้างวินัยทางจิตใจ  เน้นที่ความหมายที่เป็นนามธรรม  ผู้เรียนต้องได้รับการสอนให้เกิดมโนทัศน์ในเรื่องขนบธรรมเนียมที่มีมาตั้งแต่อดีต

 

       จะเห็นได้ว่า สารัตถนิยมจัดเป็นวิธีการแบบดั้งเดิม ที่ใช้ระเบียบวินัยในการก่อให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนทางสติปัญญา  เพราะเหตุว่าธรรมชาติของความรู้ส่วนมากนั้นเป็นนามธรรม  และไม่อาจจะนำมาแยกแยะเป็นปัญหาให้แก้ได้ ซึ่งสารัตถนิยมเห็นว่า การสอนให้เด็กเรียนรู้นั้นควรจะสอนให้เกิดความเข้าใจในสาระที่สำคัญ รับเนื้อหาสาระให้พอเหมาะกับระดับทางจิตใจ  และสติปัญญาของเด็กที่พึงรับได้

     การจัดสถานที่เรียนควรมีความหมายเหมือนอยู่ในชีวิตจริงที่พร้อมด้วยอาคารสถานที่  ห้องสมุดในรูปแบบลักษณะปัจจุบันในสมัยนั้นก็เป็นไปไม่ได้  แต่การศึกษาในลักษณะแบบสารัตถนิยมเป็นการเอาลักษณะทางปรัชญาจิตนิยมมาเป็นเป้าหมายทางการศึกษา   แนวทางปรัชญาในแง่อุดมคติในการดำเนินการ     ถ้าหากเป็นในปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ความก้าวหน้าทางปัจจัยแวดล้อมของสถานที่ เป็นเพียงปัจจัยแวดล้อมตัวหนึ่ง   แต่ปัจจัยแวดล้อมนี้ต้องเอื้อต่อการให้บุคลากรที่ทำหน้าที่ทางการศึกษาของสารัตถนิยม  การเข้าถึงนั้นก็คือความดีและความจริงของชีวิต  นอกเหนือไปจากการเป็นอยู่แบบธรรมดา และเป้าหมายของการมีความพร้อมบริบูรณ์ของปัจจัยภายนอก  สิ่งที่นักสารัตถนิยมต้องการเน้นคือ  การทำตามหน้าที่ของบุคคลและสถาบัน  ครูทำหน้าที่ของครู นักเรียนทำหน้าที่ของนักเรียน ซึ่งต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน และการทำหน้าที่ของตนนั้น ก็ต้องมาจากการที่ตนได้รับการฝึกฝนอบรมมาในสิ่งที่งาม  และได้เข้าถึงสิ่งที่ดีงามนั้น

 

      ลัทธิสารัตถนิยมเห็นว่าสถานที่เรียนไม่เพียงแค่เป็นสถานที่เรียน  ที่มีลักษณะเน้นเรื่องการปลูกฝังความเชื่อแนวอุดมคติเชิงสัญลักษณ์  ที่ต้องการมุ่งเน้นปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกที่ดีงาม  ออกมาจากจิตใจ หรือเห็นว่า โรงเรียนต้องเป็นอาคารสถานที่  ที่มิได้ให้ความหมายอะไรเลยเท่านั้น  แต่สถานที่เรียนจะต้องเป็นสถานที่  ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคม ต้องการให้การศึกษาเป็นเครื่องมือรับใช้สังคม  โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาจากอดีต ซึ่งได้แก่การมุ่งปลูกฝังหรือการให้อุดมคติแก่ชีวิตอย่างยั่งยืนมากกว่า การเน้นการศึกษาด้านอื่นๆ ซึ่งสถานศึกษาตามแนวคิดของลัทธิสารัตถนิยม จึงต้องตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบด้านศีลธรรม  มากกว่าสิ่งอื่นใด และการได้มาซึ่งการปลูกฝังศีลธรรมนั้น  คือการพยายามให้สถานศึกษามุ่งจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม  ศีลธรรมหรือ การสร้างอุดมคติที่ดีงาม ต่อผู้เรียนเพื่อเป็นแรงจูงใจต่อผู้เรียน

ปล.

เนื้อหาเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ ป.โท ของผู้เขียน

ด้วยเมตตาธรรมค้ำจุนโลก

 

หมายเลขบันทึก: 558964เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2014 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

....เหง้าบัวตัวอยู่ใต้..........ผิวนที
ยังชีพเฉกอินทรีย์.............รอบข้าง
แวดล้อมรอบชั่วดี.............มีหมด
ก่อเกิด “ตัวตน” สร้าง........"รู้ชอบ”คือประเด็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท