แนวคิด ทฤษฎีการพัฒนานวัตกรรม Borg Model


แนวคิด ทฤษฎีการพัฒนานวัตกรรม Borg Model

             การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างหรือค้นหาแนวคิด แนวปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้เพื่อพัฒนากลุ่มคน หน่วยงาน หรือองค์กร จุดหมายปลายทางที่คาดหวังจึงเป็นการมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ  เช่น แนวคิด พฤติกรรม วิถีปฏิบัติ ที่คาดหมายว่าจะดีขึ้น ซึ่งรูปแบบการวิจัยมักใช้วิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) วิจัยปฏิบัติการ (Action Research) วิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) และการวิจัยประเมินผล (Evaluation Research) 

            การวิจัยและพัฒนาทำให้ได้มาซึ่งรูปแบบ วิธีการ ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม งานประยุกต์ทางด้านต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การเมืองการปกครอง  การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ เป็นต้น   

            บอร์ก และ กอล (Walter R. Borg & Meredith Damien Gall,1979 : 627) กล่าวไว้ว่า การวิจัยและพัฒนาบางครั้งเรียกการวิจัยเน้นการพัฒนา (Research based development) เป็นกลยุทธ์ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างหรือค้นหาแนวคิด แนวปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่นำไปใช้เพื่อพัฒนากลุ่มคน หน่วยงาน หรือองค์กร  จุดหมายปลายทางที่คาดหวังจึงเป็นการมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ เช่น แนวคิด พฤติกรรม วิถีปฏิบัติ  ที่คาดหมายว่าจะดีขึ้น  รูปแบบการวิจัยมักใช้วิจัยเชิงทดลอง  วิจัยปฏิบัติการ (action research) และวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participation research) ตัวอย่างของงานวิจัยและพัฒนา เช่น การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร  การวิจัยและพัฒนาการเกษตร  การวิจัยและทางการแพทย์  เป็นต้น

ขั้นตอนของระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนา

                ขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาในที่นี้นำเสนอตามแนวของ บอร์ก  และ กอล (Walter R. Borg & Meredith  Damien Gall,1989 : 785-795)  ประกอบด้วย 10 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : รวบรวมข้อมูลและผลงานวิจัย

            ขั้นรวบรวมข้อมูลและผลงานวิจัยซึ่งจะครอบคลุมการประเมินความต้องการ การสำรวจตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัยขนาดเล็กและการเตรียมรายงาน หลังจากผู้วิจัยตัดสินใจแล้วว่าควรจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อะไร เพื่อความมั่นใจว่าผู้วิจัยมีกรอบทฤษฎี และผลการวิจัยเพียงพอที่จะชี้แนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สนใจ ผู้วิจัยจึงต้องศึกษาเอกสาร ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นอกจากนี้บางครั้งอาจจะได้ข้อมูลมาโดยการสังเกตภาคสนามในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะสร้างขึ้นถ้ามีความจำเป็น หรืออาจจะต้องมีการทำการวิจัยขนาดเล็กเพื่อหาคำตอบ ซึ่งงานวิจัยและทฤษฎีที่มีอยู่ไม่สามารถตอบได้ในการทำการศึกษาตามที่กล่าวมานั้นมีจุดประสงค์เพื่อจะนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์  เมื่อรวบรวมข้อมูลได้ครบตามที่ต้องการแล้วจึงดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

 

ขั้นตอนที่ 2 : การวางแผนการวิจัยและพัฒนา 

จุดสำคัญของการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือการกำหนดวัตถุประสงค์เฉพาะของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น วัตถุประสงค์ของการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เขียนในรูปผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เป็นต้น  ถ้าเป็นไปได้ควรที่จะเขียนวัตถุประสงค์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม กำหนดวิธีการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนทรัพยากรที่ต้องการเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านกำลังคน งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ และระยะเวลา  เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 : การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เบื้องต้น  

          การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เบื้องต้น ประกอบด้วย การเตรียมการผลิต กระบวนการผลิตและการประเมินผล   หลักการที่สำคัญของขั้นตอนนี้คือ ต้องกำหนดโครงสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้ผลย้อนกลับจากการทดสอบภาคสนามให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขั้นตอนที่ 4 : การทดลองใช้ครั้งที่ 1  (กลุ่มเล็ก)

การทดลองใช้กลุ่มเล็กเป็นการทดลองเบื้องต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ผลการประเมินเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ การสังเกตและการสอบถามเป็นการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก เช่น โรงเรียน 1-3 โรง เด็กนักเรียน 6-12 คน เป็นต้น

สิ่งสำคัญคือการสร้างสถานการณ์ทดลองให้มีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์จริงที่จะนำผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไปใช้ ถ้าสถานการณ์การทดลองมีความแตกต่างไปจากสถานการณ์จริงแล้วผู้วิจัยจะประสบปัญหาเรื่องการสรุปอ้างอิงผลการทดลองจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่ง 

ขั้นตอนที่ 5 : การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 1

            เป็นการทบทวนปรับปรุงผลิตภัณฑ์ อันเป็นผลมาจากการทดลองใช้ครั้งที่ 1 ในกลุ่มเล็กของขั้นตอนที่ 4 เพื่อพร้อมที่จะนำไปทดลองกลุ่มใหญ่ต่อไป

 ขั้นตอนที่ 6 : การทดลองใช้ครั้งที่ 2 (กลุ่มใหญ่)

            เป็นการนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองกับกลุ่มขนาดใหญ่ เช่น ทำการทดสอบกับโรงเรียนจำนวน 5-15 โรง มีกลุ่มตัวอย่าง นักเรียน 30-100 คน เป็นต้น

          การประเมินผล ใช้การทดสอบก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์(Pre-test และ Post-test) นำผลที่ได้จากการประเมินโดยเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ หรือกลุ่มควบคุมที่เหมาะสม

            วัตถุประสงค์หลักของการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มใหญ่ คือ ต้องการจะบ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาที่เขียนอย่างชัดแจ้งในรูปของวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ระเบียบวิจัยเชิงประเมินในการทดลองกลุ่มใหญ่นิยมใช้ระเบียบวิธีวิจัยทดลอง

ขั้นตอนที่ 7 : การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 2

            หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์กับกลุ่มขนาดใหญ่แล้ว นำมาปรับปรุงแก้ไขผลิตภัณฑ์อีกครั้ง  เพื่อให้ได้ผลดีและมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้มากขึ้นก่อนที่จะนำไปทดลองภาคสนามขนาดใหญ่ในขั้นต่อไป 

 

ขั้นตอนที่ 8 : การทดลองใช้ ครั้งที่ 3 (ทดสอบภาคสนามขั้นปฏิบัติการ)

            หลังจากปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์จนมีความมั่นใจในด้านคุณภาพ ผู้วิจัยเห็นสมควรนำรูปแบบไปทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบความพร้อมสู่ปฏิบัติ ในขั้นตอนนี้ต้องใช้กลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เช่น นำไปใช้ในโรงเรียน 10-13 โรง นักเรียน 40-200 คน เป็นต้น

            การประเมินผล จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเกตการณ์ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์

ขั้นตอนที่ 9 : การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ครั้งที่ 3 (ขั้นสุดท้าย)

เป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยใช้ผลจากการทดสอบภาคสนามปฏิบัติการมาเป็นเกณฑ์ในการปรับปรุงแล้วจึงนำผลิตภัณฑ์ที่ได้นั้นไปเผยแพร่

ขั้นตอนที่ 10: การนำผลิตภัณฑ์ไปใช้และการเผยแพร่

 เป็นการเสนอผลิตภัณฑ์ต่อที่ประชุมวิชาการและตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารหรืออาจจะมีการเผยแพร่โดยวิธีการอื่น เช่น การเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อให้ผลที่ได้จากการวิจัยเผยแพร่ไปในวงกว้าง และเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปทุกระดับชั้น

คำสำคัญ (Tags): #Borg Model#นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 558911เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2014 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2014 13:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท