ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม


ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม

ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม (Essentialism)(1)

 

๑ ปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม (Essentialism)

 

      สำหรับปรัชญาการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม ถือได้ว่าเป็นสำนักปรัชญาที่มีประวัติความเป็นมา  เกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับแนวคิดอุดมคตินิยมและจิตนิยม ซึ่งรูปแบบคติความเชื่อของลัทธิสารัตถนิยม  เป็นการเชื่อมั่นถึงมรดกความเชื่อที่มาจากอดีตว่า  เป็นสิ่งที่ดี  มีคุณค่าเพียงพอ กับความต้องการ ในการนำเอาไปใช้ในชีวิต   คนในยุคหลังหรือผู้เรียน  เป็นเพียงแต่ผู้รับสืบทอด หรือเอาไปใช้และปฏิบัติไปตามนั้น ไม่จำเป็นที่จะเสียเวลาไปกับ  การศึกษาค้นคว้าหาสิ่งใหม่อื่นเพิ่มเติม  การเรียนการสอนของลัทธินี้ จึงถือว่าผู้สอนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  สถานที่เรียนก็ต้องอาศัยสถานที่   ที่เกี่ยวข้องกับอดีต  เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์  หรือสิ่งที่สื่อสะท้อนถึง การเข้าถึงจิตวิญญาณที่สูงส่งที่มีต่ออุดมคติของชีวิต

 

๑.๑ ประวัติความเป็นมาของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism)

      แนวคิดของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism) เน้นความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์  รักษาวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ที่มาจากอดีตซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ   เพลโตและอริสโตเติล เป็นแนวคิดผสมระหว่างอุดมคตินิยมกับสัจนิยม  ผู้ที่ยึดถือตามหลักอุดมคตินิยม  เน้นหนักเกี่ยวกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์และวรรณคดีฝึกให้นักเรียนเกิดทัศนคติซาบซึ้งในคุณงามความดี   เป็นผลจากการเรียน    วรรณคดี  หรือประวัติศาสตร์เป็นต้น  ส่วนผู้นิยมสัจนิยมก็ยึดมั่นและเชื่อในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  ซึ่งนักปราชญ์ได้วางหลักเกณฑ์ไว้แล้ว  แต่เป็นไปในรูปของการถ่ายทอดหลักเกณฑ์เก่าๆ ไว้ 

 

      คำว่า Essentialism   เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า  “Essentia”  หมายถึง สาระหรือที่เป็นแก่นสารที่จำเป็นหรือสารัตถะ (Essence) หากอธิบายความหมายโดยรากศัพท์แล้วปรัชญา Essentialism หมายถึงลัทธิที่มีความสนใจและความเชื่อในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญทั้งหลาย  อันเป็นแกนกลางของแต่ละสังคมที่จะขาดเสียมิได้  เช่นความรู้  ทักษะ  ทัศนคติ  ค่านิยม วัฒนธรรมและอื่นๆ การต่อต้านความคิดประสบการณ์นิยมตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๒๐

 

     การก่อตั้งลัทธิปรัชญาสารัตถนิยมอย่างเป็นระบบนั้นเพิ่งเริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ  ๔๐  ปีเศษ กล่าวคือก่อตั้งเมื่อ ปี ค.ศ.๑๙๓๐  โดยมีนักการศึกษาและนักปรัชญาทั้งฝ่ายจิตนิยม  และฝ่ายวัตถุนิยมของอเมริกันที่มีทรรศนะทางอนุรักษ์นิยม  ได้รวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อรณรงค์ในการที่จะต่อต้านแนวคิดฝ่ายพิพัฒนาการนิยม  และขณะเดียวกันก็เผยแพร่แนวคิดฝ่ายสารัตถนิยม  โดยนักการศึกษาที่เป็นผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มสารัตถนิยมขึ้นมานั้นก็ได้แก่  William  C.  Bagley   และมีนักการศึกษาที่มีชื่ออื่นๆ ร่วมด้วยหลายท่าน เช่น Thomas.  Briggs,  Isaac  L.  Kandel  และ Herman  H.  Horne  เป็นต้น  โดยผู้นำทางการศึกษาเหล่านี้ได้ตั้งเป็น  “คณะกรรมการฝ่ายสารัตถวาทเพื่อความก้าวหน้าทางการศึกษาของอเมริกา” ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี  ค.ศ. ๑๙๓๘    คณะกรรมการนี้ได้รณรงค์อย่างแข็งขันมาจนถึงปี  ค.ศ. ๑๙๔๖  ภายหลังที่  Bagley  ถึงแก่กรรมไปแล้ว  กิจกรรมของคณะกรรมการนี้ซบเซาไป  แต่อย่างไรก็ตาม  อิทธิพลของแนวคิดทางการจัดการศึกษาตามลัทธิปรัชญานี้ดูยิ่งจะแพร่ขยายออกไปมาก  รวมถึงอิทธิพลที่มีต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ซึ่งเราจะพบว่าแนวคิดของฝ่ายสารัตถนิยมนั้น  มิได้มาจากปรัชญาบริสุทธิ์ลัทธิใดลัทธิหนึ่งโดยเฉพาะ  ในบางลักษณะนั้นก็จะเห็นว่าเป็นแนวคิดมาจากลัทธิจิตนิยม และฝ่ายเทวนิยมหรือฝ่ายศาสนา และมีส่วนหนึ่งของสารัตถนิยมที่เป็นแนวผสมระหว่าง idealism กับ Realism อยู่ดัวย

 

๑.๒ จุดมุ่งหมายการศึกษาของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism)

 

     สำหรับจุดมุ่งหมายทางการศึกษาของลัทธิสารัตถนิยม(Essentialism) นั้นจะเน้นการถ่ายทอดความรู้ที่มีมาตั้งแต่อดีต   เพราะเห็นว่าการศึกษาได้ผ่านกาลเวลา และได้รับการคัดสรรจากผู้รู้ หรือนักปราชญ์มาแล้ว  จึงกล่าวได้ว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาลัทธิสารัตถนิยม  เป็นลักษณะของการรักษามรดก  ธำรงรักษาสิ่งต่างๆ ที่เป็นอดีตเอาไว้โดยการให้ความสำคัญ ทั้งระบบต่างๆ ในความพอดีหรือการให้เราวางตนอยู่ในทางสายกลาง คือความพอดี

 

     ดังนั้น เราอาจจะสรุปได้ว่าลัทธิสารัตถนิยมมีจุดมุ่งหมายการศึกษาอยู่ที่การเน้นถึงการศึกษาที่ต้องธำรงรักษา มรดกจากอดีตไว้ เพราะได้ผ่านการตรวจสอบ  พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี คนในยุคหลัง หรือผู้เรียน  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในยุคต่อมา เป็นเพียงผู้ที่ทำความเข้าใจ  ยึดถือ  และธำรงรักษาเอาไว้เท่านั้น

 

ปล.

เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนจะทยอยลง..

ด้วยเมตตาธรรม

หมายเลขบันทึก: 558900เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2014 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2019 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ความหมาย..สารัตถะ - สารัต - สาระ - สาร - ข้อมูล - เรื่อง - เหตุผล - แก่นแท้ - ความจริงอย่างเดียวที่เปรียบเทียบได้ - นำใช้เป็นประโยชน์ได้

เคลื่อนตัวได้


โคจรค่อยเกิดขึ้นตามเวลา - ทรงตัวในเวลา - โคจรค่อยเสื่อมสูญตามเวลา - มีลักษณะอดีต - แก้ไขไม่ได้ - แนวอนุรักษ์

- เติมแต่งเข้าสมานผสานศาสตร์อื่นๆได้ - ที่สำคัญงอได้แต่หักไม่ได้..มิฉะนั้นเสียรูปทางปรัชญา

ขอพระอาจารย์พระจาตุรง์ อาจารย์สุโภ ทยอยลงด้วยเมตตาธรรมเพื่อให้กระผมติดตามเป็นระดับขั้นตอนไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท