มารู้จัก (e-Commerce) กันเถอะ


กลยุทธ์พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

         

การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประมวลรายการธุรกรรมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สนับสนุนธุรกรรมขององค์กร เช่น การโฆษณา การทำตลาด การสนับสนุนลูกค้า การนำส่งสินค้า และการชำระค่าสินค้า เป็นต้น ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้มีการพัฒนาระบบ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่เกิดขึ้น และกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากผู้บริโภค ดังนั้นหากองค์กรต้องการสร้างความได้เปรียบในเชิงกลยุทธ์ จึงจำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

          อินเทอร์เน็ต หมายถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์นานาชาติที่มีสายตรงต่อไปยังสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทั่วโลก ผู้ใช้เครือข่ายนี้สามารถสื่อสารถึงกันได้ทางอีเมล สามารถสืบค้นข้อมูลและสารสนเทศ รวมทั้งคัดลอกแฟ้มข้อมูลและโปรแกรมมาใช้งานได้ อินเทอร์เน็ตเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงเครือข่ายมากมายหลายเครือข่ายเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยน สื่อสาร และใช้งานข้อมูลอื่นๆ ร่วมกันได้โดยผ่านสัญญาณในระบบ จึงทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (พรรณี สวนเพลง.2552.น.187-188)

          ในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร และกลายเป็นโครงสร้างหลักสำหรับการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะระบบอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อธุรกิจเข้ากับลูกค้าและระบบธุรกิจอื่นๆ ได้อย่างง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำ จึงทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเทคโนโลยีที่เป็นสากล และมีความง่ายในการใช้งานที่เป็นมาตรฐานสำหรับทุกๆ องค์กร การเชื่อมต่อกันของระบบคอมพิวเตอร์ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้องค์กรสามารถสื่อสารถึงกันได้โดยตรง ทำให้ลดขั้นตอนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานลง รวมทั้งมีเทคโนโลยี เว็บไซต์ ยังเปิดให้บริการแก่ลูกค้า 24 ชั่วโมงสามารถขายสินค้าที่เป็นข้อมูลข่าวสาร เช่น เพลง วีดีทัศน์ และข้อมูลที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวกและรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ เช่น ราคาสินค้า รายละเอียดของสินค้า และบริการ เป็นต้น อีกทั้งระบบอินเทอร์เน็ตสามารถทดแทนช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ขยายวงกว้างได้มากกว่าเดิม สามารถสร้างที่ระบายสินค้าที่น่าสนใจ และสามารถให้บริการลูกค้าได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทนจำหน่าย นอกจากนี้การให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตยังลดค่าดำเนินดารธุรกรรมลงได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการค้นหาผู้ซื้อและผู้ขาย การรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับสินค้า การต่อรองเงื่อนไขต่างๆ การเขียนและการบังคับใช้สัญญา การนำส่งสินค้า และการให้ข่าวสารเกี่ยวกับผู้ซื้อผู้ขาย เป็นต้น

          ระบบอินเทอร์เน็ตได้สร้างสังคมเสมือนแบบออนไลน์ เป็นสังคมที่ผู้คนอยู่ในสถานที่ต่างๆกัน แต่มีความสนใจในเรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้ สังคมเสมือนบางแห่งได้กลายเป็นรากฐานของระบบธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ivillage.com นำเสนอชุมชนออนไลน์สำหรับผู้หญิงที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย งานบ้าน และเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร  เป็นต้น ในสังคมเสมือนแบบออนไลน์สมาชิกจัดตั้งเว็บเพจของตนเองขึ้นมาเข้าร่วมการสนทนาออนไลน์กับกลุ่มต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนสนใจ ซึ่งแหล่งรายได้ของสังคมเสมือนได้จากการใส่โฆษณา (Banner) หรือ Pop Up Ads ซึ่งเป็นการแสดงกราฟฟิกบนเว็บเพจเกี่ยวกับสินค้าต่อสมาชิกในสังคมเสมือน Banner จะเชื่อมต่อเข้ากับเว็บไซต์ของเจ้าของโฆษณาเพื่อทำให้คนที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของสินค้าได้ทันทีที่ต้องการ ส่วน Pop Up ทำงานในลักษณะตรงกันข้ามคือ จะเปิดหน้าต่างของตนเองขึ้นมาโดยอัตโนมัติโดยให้ผู้ใช้เข้าไปในเว็บเพจที่มันถูกติดตั้งเอาไว้ ซึ่งถ้าผู้ใช้ไม่ต้องการชมจะสั่งปิดหน้าต่างด้วยตนเอง

          ทั้งนี้รูปแบบทางธุรกิจผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบันนี้คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นความพยายามที่จะขยายการติดต่อทางสังคมด้วยการสร้างการเชื่อมต่อผ่านแต่ละบุคคล โดยมีเว็บไซต์ในการเชื่อมโยงผู้คนผ่านทางธุรกิจของตนเองหรือการเชื่อมโยงผ่านส่วนบุคคล ช่วยให้มีการติดต่อระหว่างเพื่อนหรือเพื่อนของเพื่อนเข้ากับตัวแทนฝ่ายขาย ให้การแนะนำในการหางานทำ หรือติดต่อกับเพื่อนใหม่ เว็บไซต์ที่ให้บริการทางนี้โดยเฉพาะได้แก่ เฟชบุ๊ก และทวิตเตอร์ เป็นต้น แหล่งข้อมูลบนเว็บมีปริมาณมากมายมหาศาลเกินกว่าที่คนทั่วไปจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ จึงได้เกิดบริการชนิดใหม่ขึ้นเรียกว่า ประตูสู่เว็บ หรือ เว็บท่า ซึ่งเป็นเว็บที่นำเสนอ ประตูเสมือนเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งเป็นประตูเสมือนสำหรับเว็บไซต์ภายในองค์กร ตัวอย่างเช่น Yahoo ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการส่งีเมล และทำหน้าที่คล้ายกับสารบัญของข้อมูลข่าวสารบนระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมีการนำเสนอข่าวสารทั่วไป ข่าวกีฬา พยากรณ์อากาศ สารบัญโทรศัพท์ แผนที่ เกม และบริการอื่นๆ เป็นต้น

          โดยสรุป อินเทอร์เน็ตได้ถูกนำมาใช้ในธุรกิจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจำลองของการทำธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตและมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น ผู้ให้บริการข่าวสาร ผู้ให้บริการรายการธุรกรรม ตลาดการค้าแบบออนไลน์ ผู้ให้บริการเนื้อหา ผู้ให้บริการเชื่อมต่อออนไลน์ ชุมชนเสมือน และประตูข่าวสาร เป็นต้น ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีเครือข่ายสังคมออนไลน์เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต

          จากความสำคัญของการใช้อินเทอร์เน็ตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจำลองของการทำธุรกิจ และก่อให้เกิด พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทำธุรกิจการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือรูปแบบการดำเนินธุรกรรมทางการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการซื้อสินค้า ขายสินค้า จัดส่งสินค้า และการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ หรือสารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ขายไม่จำเป็นต้องพบหน้ากันโดยตรงก็สามารถซื้อขายสินค้าและบริการนั้นได้ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ คือการดำเนินธุรกรรมใดๆ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช่แค่การซื้อขายสินค้าหรือบริการต่างๆบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินการธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภายในองค์กรหรือระหว่างองค์กร การบริการลูกค้า การทำงานร่วมกันระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจ ที่สามารถสื่อสารถึงกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต และเอ็กซ์ทราเน็ต ดังนั้นธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์จึงครอบคลุมขอบเขตที่กว้างกว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          การเปลี่ยนแปลงของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นที่น่าจับตามองในอนาคต เนื่องจากมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งในกลุ่มของผู้ซื้อและผู้ขายได้ก่อให้เกิดแนวโน้มที่น่าสนใจหลายประการคือ

1. ธุรกิจบนเว็บไซต์จะเป็นแบบทะเลสีแดง จากจำนวนผู้เข้าใช้งานเพิ่มมากขึ้น ผู้ให้บริการมีมากขึ้น จึงมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องมีการปรับตัวสร้างจุดแข็งของตัวเองเพื่อความอยู่รอด

2. การชำระเงินออนไลน์เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้น มีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตโดยตรงและการใช้การชำระเงินผ่านดิจิตอล เช่น Paypal เป็นต้น

3. มีการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เกิดลูกเล่นทางการตลาดใหม่ๆ เช่น การทำโปรโมชั่น และการให้ส่วนลด เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้ามากขึ้นทำให้เกิดการทำธุรกรรมทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

4. การขยายตัวของ 3G ที่จะมีทั่วประเทศ ทำให้เกิดโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับพาณิชย์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่

5. รูปแบบการซื้อขายสินค้าจะเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเครือข่ายสังคมออนไลน์จะได้รับความนิยมทั้งในฐานะเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน การรวมกลุ่มผู้บริโภคที่มีความคิดเห็นและมีความต้องการคล้ายๆกัน ตลอดจนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งในการขาย

 

  • คุณสมบัติของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในปัจจุบันเนื่องจากมีคุณสมบัติดังนี้ (โอภาส เอี่ยมสิริวงศ์ 2554 น.260-269)

          1. มีอยู่ทุกแห่ง พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกแห่ง โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ของร้านค้าจริง ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าขณะที่อยู่บ้านด้วยการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสามารถใช้งานผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรูปแบบพานิชย์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (m-Commerce) ได้ ซึ่งการที่บริโภคสามารถดำเนินธุรกรรมได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ไม่เสียเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นความแตกต่างกับการค้าในรูปแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับองค์กร

          2. ขอบเขตครอบคลุมทั่วโลก พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์อนุญาตให้ดำเนินธุรกรรมการค้าได้อย่างไร้พรมแดน ทำให้ระยะทางที่ห่างไกลข้ามซีกโลกไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป ส่งผลต่อการปฏิวัติรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ต้องถูกจำกัดขอบเขต มาเป็นรูปแบบที่เรียกว่า ตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถขยายตลาดธุรกิจออกไปสู่ตลาดโลกได้โดยไม่ยาก ก่อให้เกิดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการลงทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนแบบเดิม

          3. มีมาตรฐานระดับสากล การสื่อสารบนพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีมาตรฐานในระดับสากล โดยใช้ระบบสื่อสารบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบเปิด มีความยืดหยุ่นสูง ส่งผลให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีแพล็ตฟอร์มแตกต่างกัน สามารถเชื่อมโยงสื่อสารกันได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ โดยจะมีโปรโตคอลมาตรฐานอย่าง TCP/IP เป็นกลุ่มของกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้เป็นข้อตกลงด้านการสื่อสาร เพื่อรับส่งข้อมูลระหว่างกัน

          4. มีความสมบูรณ์ของข่าวสาร เทคโนโลยีพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้มีความสมบูรณ์ของข่าวสารที่ส่งถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อความเสียงหรือวีดีโอที่ถูกนำมาประสมรวมกันเป็นเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และนำมาเสนอผ่านเว็บที่มีลูกค้าจำนวนมากเข้าถึง โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอต่อหน้าลูกค้าอย่างเดิมๆ อีกต่อไป

          5. มีการโต้ตอบระหว่างกัน เทคโนโลยีพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถโต้ตอบและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ทำให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง การใช้เว็บไซต์เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นข้อความกระดานสนทนา อีเมล และการแชท เป็นต้น

          6. มีความหนาแน่นของสารสนเทศ ความหนาแน่นของสารสนเทศในตลาดพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเรื่องของราคาและต้นทุนสินค้า จะมองในรูปแบบที่เรียกว่า ทะลุผ่าน คือผู้บริโภคสามารถค้นหาเพื่อเปรียบราคาขายสินค้าในตลาดได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางคนพยายามค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ เพื่อหาราคาต้นทุนสินค้าที่แท้จริงจากผู้ขายต่างๆ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ขายเช่นกัน ที่ผู้ขายหันมาใช้กลยุทธ์การตั้งราคาสินค้าเดียวกันนี้ให้แตกต่างกันตามกลุ่มลูกค้า ตัวอย่างเช่น อาหารเสริมที่ใช้ตราสินค้าแตกต่างกันที่วางขายอยู่บนพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีการตั้งราคาแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างนี้ล้วนมาจากโรงงานที่เป็นแหล่งผลิตเดียวกันทั้งสิ้น

          7. มีความเป็นเฉพาะตัวและการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบุคคล เทคโนโลยีพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสามารถใช้ความเป็นเฉพาะตัวและการปรับแต่งให้เหมาะสมกับบุคคล เพื่อเข้าถึงเป้าหมายทางการตลาดเฉพาะบุคคลได้ ด้วยการนำข้อมูลส่วนตัวที่ได้จากประวัติของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความสนใจ รสนิยม และพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ผ่านมา นำมาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการแกลูกค้า ซึ่งจะถูกปรับให้เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละบุคคล บนพื้นฐานข้อมูลส่วนตัวที่มีความเป็นเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย

          8. เป็นเทคโนโลยีทางสังคม เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นเทคโนโลยีทางสังคมที่ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมชุมชนออนไลน์ที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถสร้างและแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และเรื่องราวต่างๆ ให้กับเพื่อนและสังคมที่อยู่ในชุมชนออนไลน์เดียวกัน ผ่านหัวเรื่องสำคัญต่างๆ ที่อาจอยู่ในรูปแบบของข้อความ วีดีโอ เพลง หรือรูปภาพ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้สนับสนุนเครือข่ายทางสังคมแห่งโลกไซเบอร์ได้เป็นอย่างดี

 

  • มิติของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          รูปแบบการดำเนินงานของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน อาจจะเป็นพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือบางส่วน ขึ้นอยู่กับการใช้ดิจิตอลมากน้อยเพียงไร มีการนำเสนอสินค้าในเชิงกายภาพหรือดิจิตอล มีกระบวนการและตัวแทนในการส่งมอบอย่างไร ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

          1. บริกแอนด์มอร์ตาร์ เป็นการค้าขายสินค้าแบบดั้งเดิม ดังนั้นมิติทั้งสามไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และตัวแทนในการส่งมอบสินค้า ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกดำเนินการหรือพบปะกันจริงตามโครงสร้างเชิงกายภาพทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า เมื่อลูกค้าต้องการซื้อสินค้าจะต้องเดินทางไปห้างสรรพสินค้า จากนั้นเลือกซื้อสินค้าและชำระเงิน หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการซื้อสินค้าแบบออฟไลน์ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ดำเนินอยู่เดิมนี้ได้เพิ่มชิองทางการขายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นคลิกแอนด์มอร์ตาร์ได้

          2. คลิกแอนด์มอร์ตาร์ เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบผสมผสาน คือไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ กระบวนการ และตัวแทนการส่งมอบ จะมีทั้งโครงสร้างเชิงกายภาพและดิจิตอลรวมเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ร้านขายหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์จะมีหน้าร้านที่เปิดดำเนินงานจริง และในขณะเดียวกัน ได้เปิดเว็บไซต์ www.se-ed.com เพื่อขายหนังสือออนไลน์เพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง ดังนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบคลิกแอนด์มอร์ตาร์ จึงสามารถรองรับลูกค้าได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง กล่าวคือ ลูกค้าสามารถเข้ามาชมหนังสือและซื้อหนังสือที่ร้านได้ด้วยตนเอง หรือจะสั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ มีการจัดส่งสินค้าในรูปแบบของพัสดุไปรษณีย์ให้ลูกค้า นอกจากนี้ยังสามารถสั่งจองหนังสือผ่านเว็บไซต์และสามารถมารับหนังสือได้ด้วยตนเองที่ร้าน เป็นต้น ส่วนการชำระเงินในกรณีที่สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ สามารถชำระเงินออนไลน์ หรือโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร หรืออาจจะมาชำระที่ร้านได้ ดังนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบคลิดแอนด์มอร์ตาร์ จึงเป็นการผสมผสานระหว่างการค้าแบบออฟไลน์และแบบออนไลน์ได้อย่างลงตัว และได้รับความนิยมสูง เนื่องจากเป็นการขยายธุรกิจจากเดิมที่มีอยู่แล้วเสริมด้วยการขายแบบออนไลน์ เพื่อสร้างศักยภาพด้านการขายสินค้าหรือบริการให้สูงขึ้นกว่าเดิม

          3. คลิกแอนด์คลิก เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของดิจิตอลหรือแบบออนไลน์ล้วนๆ ซึ่งไม่มีร้านที่ตั้งอยู่จริง โดยจะทำการติดต่อกับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น เมื่อลูกค้าต้องการสินค้าจะต้องดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์เพียงช่องทางเดียว จากนั้นทางเว็บไซต์จะจัดส่งสินค้าถึงผู้รับ ตัวอย่างเช่น ร้านขายหนังสือออนไลน์ amazon.com เป็นต้น จากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบทั้งสามที่ได้กล่าวมาข้างต้น หากมีอย่างน้อยหนึ่งมิติที่ดำเนินงานแบบดิจิตอล จะถือว่าเป็นอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน หากเป็นการสั่งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ จากเว็บไซต์ amazon.com หรือซื้อซอฟแวร์ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ เนื่องจากผิตภัณฑ์ กระบวนการ และการส่งมอบ ล้วนอยู่ในรูปแบบของดิจิตอลทั้งสิ้น

 

  • ประเภทของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้งานด้วยกันหลายประเภท มีรายละเอียดดังนี้

          1. ธุรกิจกับผู้บริโภค เป็นรูปแบบของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่พบเห็นมากที่สุดในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นช่องทางสำหรับการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก เพื่อให้เข้าถึงได้โดยตรงและไม่ต้องผ่านคนกลางเหมือนสมัยก่อน ทำให้ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดลงตามไปด้วย กิจกรรมการซื้อขายจะเกิดขึ้นโดยร้านค้าหรือบริษัทที่เปิดเว็บไซต์ โดยจะแสดงรายการให้ลูกค้าเลือก พร้อมทั้งอธิบายข้อมูลรายละเอียดของสินค้าและรูปภาพต่างๆที่มีอยู่ละเอียด หากลูกค้าต้องการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าก็สามารถทำได้ทันที มีสินค้าและบริการที่อาศัยการขายในช่องทางนี้มากมาย เช่น การจองห้องพักโรงแรม การจองตั๋วเครื่องบิน การซื้อขายสินค้าประเภทดอกไม้ เสื้อผ้า ซอฟต์แวร์ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นต้น ตัวอย่างของเว็บไซต์ที่ทำธุรกิจกับผู้บริโภค เช่น www.amazon.com และwww.misslily.com เป็นต้น

          2. ธุรกิจกับธุรกิจ เป็นรูปแบบการทำธุรกรรมพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างผู้ดำเนินธุรกิจด้วยกันเอง เข้ามาแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการร่วมกัน พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบนี้มักพบเห็นในการตกลงซื้อขายสินค้าและบริการในปริมาณมาก และมีราคาซื้อขายที่สูงพอสมควร ซึ่งการดำเนินธุรกรรมระหว่างภาคธุรกิจแบบนี้จะส่งผลให้เกิดคู่ค้าทางธุรกิจ ที่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกันได้อย่างดี เนื่องจากธุรกิจในปัจจุบันจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ตัวอย่างเช่น www.pantavanij.com เป็นต้น

          3. ผู้บริโภคกับผู้บริโภค พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบนี้ มีกิจกรรมการดำเนินงานที่เน้นการติดต่อซื้อขาย หรือบริการเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคคนสุดท้ายมากกว่าแบบ B2B ที่จะเน้นผู้ประกอบการขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว โดยกรณีนี้ผู้ซื้อสินค้าและผู้ขายสินค้าจำนวนมากจะเข้ามาเพื่อทำการติดต่อแกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าหรือบริการต่างๆ ด้วยตนเอง ส่วนใหญ่มักจะพบเห็นในการซื้อสินค้าประเภทมือสอง หรือสินค้าแบบประมูลโดยการฝากข้อความไว้ตามกระดานข่าวต่างๆ หรือปิดประกาศเพื่อประมูลซื้อสินค้านั้นๆ ได้ทันที ตัวอย่างเช่น www.ebay.com และwww.pramool.com เป็นต้น

          4. ผู้บริโภคกับภาคธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้บริโภคมีสถานะเป็นผู้ค้าและมีบทบาทในการต่อรองเพื่อตั้งราคาสินค้า จากนั้นผู้ประกอบการจะนำราคาที่ถูกลูกค้าเสนอมาให้กับผู้ขายปัจจัยการผลิตพิจารณาว่า สามารถจำหน่ายหรือไม่ ดังนั้นจะพบว่าพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ C2B ลูกค้ากับผู้ประกอบการจะทำหน้าที่สลับกัน ตัวอย่างเช่น priceline.com

          5. รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการดำเนินธุรกรรมที่ภาครัฐได้นำสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาบริการแก่ภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นงานส่วนหน้า ในขณะเดียวกัน ก็นำมาใช้เพื่อบริหารงานของภาครัฐเอง ซึ่งจัดเป็นงานส่วนหลัง สำหรับการบริการแก่ภาคประชาชน จะมีการจัดรูปแบบการบริการต่างๆที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้บริการได้ เช่น การเตรียมแบบฟอร์มเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้กรอกแทนการกรอกเอกสารจริงในกระดาษ เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ยังมีรูปแบบการบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น G2C,G2B และ G2G โดยรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ ทั้งด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบแอปพลิเคชั่นกลาง เพื่อเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่างๆให้สอดคล้อง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้บนระบบเดียวกัน โดยปัจจุบันได้ดำเนินการโครงการหลักๆที่สำคัญต่อประเทศดังนี้

          1. โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ

          2. ระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์กลางเพื่อการสื่อสารในภาครัฐ

          3. ระบบเว็บไซต์กลางบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ

          4. โครงการเชื่อมโยงระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

 

  • องค์ประกอบของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

          พานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการ คือ

          1. คน ประกอบด้วยผู้ขาย ผู้ซื้อ คนกลาง ผู้เชี่ยวชาญทางระบบสารสนเทศ รวมถึงบุคลากรภายในและภายนอกองค์กร และส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

          2. นโยบายสาธารณะ เกี่ยวกับกฎหมายและนโยบาย รวมถึงข้อบังคับต่างๆ เช่น การกีดกันภาษีที่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งควรเป็นข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

          3. การตลาดและโฆษณา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องได้รับการวิจัยทางการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทำนองเดียวกันกับธุรกิจประเภทอื่นๆๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้จักรวมถึงกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

          4. บริการสนับสนุน เป็นบริการเพื่อสนับสนุนงานและอำนวยความสะดวกในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การชำระเงินทางบัตรเครดิต และการส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ถึงมือลูกค้าตรงเวลา

          5. คู่ค้าทางธุรกิจ หมายถึงการร่วมลงทุน การทำตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ และการเป็นคู่ค้าทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน

ประโยชน์และข้อจำกัดของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

  • ประโยชน์ของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. ประโยชน์ต่อองค์กร

          1. ทำให้องค์กรสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่เดิมไปสู่ตลาดระหว่างประเทศด้วยการลงทุนที่ต่ำ ได้ลูกค้าใหม่ตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ รวมถึงมีโอกาสได้พบกับผู้ขายปัจจัยการผลิต หรือผู้จัดส่งวัตถุดิบที่ดีที่สุด และการได้ร่วมทำธุรกิจกับบริษัทคู่ค้าที่มีความเหมาะสมที่สุด

          2. ทำให้องค์กรสามารถจัดหาวัตถุดิบและบริการทั้งในและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วบนต้นทุนที่ต่ำ ด้วยช่องทางการกระจายสินค้าของตลาดที่แคบลง จึงส่งผลทำให้สินค้ามีราคาถูกลง ผู้ขายมีกำไรมากขึ้น

          3. ลดต้นทุนมากกว่า 90 เปอร์เซ็น ในด้านการสร้าง ประมวลผล จัดจำหน่าย และการจัดเก็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสินค้าที่อยู่ในรูปแบบของดิจิตอล

          4. ช่วยลดต้นทุนด้านการสื่อสารโทรคมนาคมลงได้มาก โดยใช้การสื่อสารผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพ

          5. ช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้

          6. ส่งเสริมการตลาดที่มุ่งไปยังลูกค้าเฉพาะกลุ่ม

2. ประโยชน์ต่อลูกค้า

          1. ทำให้ลูกค้ามีโอกาสเลือกซื้อสินค้าด้วยราคาที่ถูกที่สุด โดยสามารถค้นหาผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้าจากร้านค้าตามเว็บไซต์ต่างๆได้

          2. เพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากผู้ประกอบการที่มีอยู่มากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต

          3. ลูกค้าสามารถเข้าชมสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกที่ทุกเวลา

          4. สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เรียกดูสารสนเทศและสามารถดำเนินการให้สำเร็จภายในไม่กี่วินาที

          5. ทำให้ผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมในการตั้งราคาของสินค้าและบริการได้

          6. ลูกค้าสามารถประมูลสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประโยชน์ทั้งฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขาย

          7. เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถโต้ตอบ แลกเปลี่ยนข่าวสารและประสบการณ์ในรูปแบบของชุมชนออนไลน์

3. ประโยชน์ต่อสังคม

          1. มีส่วนร่วมให้คนบางกลุ่มสามารถทำงานที่บ้านได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางเนื่องจากการจราจรติดขัด อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

          2. สร้างโอกาสแก่ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามชนบทให้สามารถเข้าถึงแหล่งศึกษาหาความรู้ทางวิชาชีพได้

          3. อำนวยความสะดวกด้านการส่งมอบงานบริการจากภาครัฐไปสู่สาธารณชน เช่น สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงได้รับจากภาครัฐ ช่วยลดต้นทุนการเผยแพร่ความรู้ และช่วยเพิ่มคุณภาพการบริการสู่สังคม

 

  • ข้อจำกัดของพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์

1. ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี

          1. ขาดมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือ

          2. ช่องสัญญาณหรือแบนด์วิดท์ ของระบบสื่อสารโทรคมนาคมไม่เพียงพอต่อความต้องการ

          3. เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

          4. ความสลับซับซ้อนและความยากต่อการนำระบบต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต โปรแกรมประยุกต์ทางพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่และระบบฐานข้อมูล

          5. จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์เฉพาะมาติดตั้งเป็นเว็บเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับระบบเครือข่าย ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม

          6. มีราคาแพงและอาจจะเกิดปัญหาจากการเข้าใช้ของผู้ใช้พร้อมๆ กันในปริมาณมาก

2. ข้อจำกัดที่ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี

          1. ปัญหาเรื่องของกฎหมายที่นำมาบังคับใช้ โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดการจัดเก็บภาษีที่ยังไม่ชัดเจน

          2. ขาดข้อบังคับทางกฎหมายทั้งภายในและระหว่างประเทศ และมาตรฐานอุตสาหกรรม

          3. ผู้ขายและผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยที่ยอมรอให้ระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีความเสถียรมากกว่านี้ ก่อนที่จะตัดสินใจใช้งานจริง

          4. พฤติกรรมและความรู้สึกของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากร้านที่มีอยู่จริง มาเป็นร้านค้าแบบเสมือนบนโลกอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังขาดความเชื่อมั่นต่อการซื้อขายสินค้าที่ไม่ได้สัมผัสกับตัวสินค้าจริง

          5. ยังมีกลุ่มคนบางคนที่เข้าใจผิด คิดว่าสินค้าหรือบริการที่ขายผ่านระบบพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะมีราคาแพงและไม่ปลอดภัย

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #อิเล็กทรอนิกส์
หมายเลขบันทึก: 558837เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2014 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2014 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นข้อมูลที่ดีมากครับ สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท