สรุปแนวปฏิบัติของนานารัฐในเรื่องการกงสุลต่อคนชาติระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียนที่มีคนชาติอยู่ในประเทศอาเซียน


สรุปแนวปฏิบัติของนานารัฐในเรื่องการกงสุลต่อตนชาติระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียนที่มีคนชาติอยู่ในประเทศอาเซียน 

 

สรุปแนวปฏิบัติของนานารัฐในเรื่องการกงสุลต่อคนชาติระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศนอกอาเซียนที่มีคนชาติอยู่ในประเทศอาเซียน (ตามที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวิชา น.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล) เฉพาะกงสุลของไทยในต่างประเทศ 

โดย นายธนภัทร ชาตินักรบ

 

บทความเพื่อการถอดบทเรียนวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล

ตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขียนเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๒๑.๒๐ น. 

แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๕๑ น.

http://www.gotoknow.org/posts/558312

https://www.facebook.com/notes/thanapat-chatinakrob/สรุปแนวปฏิบัติของนานารัฐในเรื่องการกงสุลต่อคนชาติระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประ/797322886959862

---------------------------------------------------------------------- 

 

--------------------------------------

๑. บทนำ 

--------------------------------------

 

          การกงสุลเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับคนชาติ ซึ่งในปัจจุบัน การเข้าดูแลของกงสุลไม่ได้จำกัดเฉพาะดูแลคนชาติของตนเท่านั้น แต่กงสุลในทางปฏิบัติยังดูแลไปถึงคนต่างด้าวที่อยู่ในประเทศของตนด้วย เช่น พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ ในเรื่องของการแจ้งเกิด แจ้งตาย กงสุลเข้าทำหน้าที่ดูแลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนชาติของตนหรือไม่ก็ตาม เพราะในปัจจุบัน การกงสุลให้ความสำคัญกับประเด็นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย

          สำหรับบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงภาพกว้างๆของงานทางการกงสุลของไทยในต่างประเทศก่อน ส่วนของต่างประเทศในประเทศไทยจะชี้เห็นในบันทึกต่อไป โดยจะชี้ให้เห็นภาพรวมและยกตัวอย่างงานทางการกงสุลที่แตกต่างและน่าสนใจในแต่ละประเทศที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวิชาน.๗๔๙ ปัญหากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการทูตและการกงสุล

 

--------------------------------------

๒. ภารกิจงานทางการกงสุลของไทยในต่างประเทศ 

--------------------------------------

 

๒.๑ กงสุลไทยในประเทศพม่า 

          การดูแลคนชาติของไทย ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า มีประเด็นเรื่องการรับรองตัวบุคคล ได้แก่ หนังสือเดินทาง การจดทะเบียนบุคคล ได้แก่ การสมรส การรับรองบุตร สูติบัตร    มรณบัตร การจดทะเบียนคนไทยเพื่อเป็นการยืนยันตัว การรับรองนิติกรรม ได้แก่ การมอบอำนาจเพื่อทำสัญญาหรือนิติกรรมต่างๆ การรับรองเอกสาร ซึ่งประกอบไปด้วย การรับรองคำแปลภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การรับรองสำเนาลายมือชื่อ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้การทำนิติกรรมสัญญาเป็นไปได้ด้วยดี การรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นนิติสัมพันธ์ทางการเมือง และ การรับรองสิทธิการเข้าเมืองและอาศัยอยู่ ซึ่งได้แก่เรื่องของการขอตรวจลงตรา (วีซ่า)[1]

 

๒.๒ กงสุลไทยในประเทศเวียดนาม 

          บริการกงสุลหลักของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม มีงานหลักๆในเรื่องของหนังสือเดินทาง การจดทะเบียนสมรส การทำสูติบัตร การทำมรณบัตร การรับรองเอกสาร รวมไปถึงการจ้างแรงงานไทยในต่างประเทศ การแปลงสัญชาติเป็นไทย ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจในส่วนนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึง การจ้างแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยคนไทยที่ทำงานที่ประเทศเวียดนามจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทย ๒ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๒๘ และระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยการจัดหาลูกจ้างเพื่อจัดส่งการทำงานในต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๕๒ โดยกรมการจัดหางานตามมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.๒๕๒๘ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ในประเทศเวียดนามมีคนไทยเข้าไปทำงานเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีการกำหนดเอาไว้ในบริการของทางการกงสุล[2]

 

๒.๓ กงสุลไทยในประเทศลาว 

          งานกงสุลไทยในประเทศลาวอยู่ที่สถานทูตเช่นเดียวกับของประเทศพม่า โดยที่เน้นการให้บริการในเรื่องของหนังสือเดินทาง เรื่องของสัญชาติและนิติกรณ์ (ได้แก่ การจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดสัญชาติของบุคคล รวมไปถึงการยื่นคำร้องขอมรณบัตรไทยในกรณีที่คนไทยเสียชีวิตในประเทศลาว) การตรวจลงตรา(วีซ่า) การคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทย การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  ในส่วนประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนต้องการหยิบยกขึ้นมาในส่วนของงานกงสุลไทยในประเทศลาว คือ ประเด็นเรื่องของการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยซึ่งมีการกำหนดถึงกรณีต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีที่คนไทยถูกจับหรือถูกคุมขังในประเทศลาว จะต้องดำเนินการอย่างไร รวมถึงการให้การช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เป็นต้น[3]

 

๒.๔ กงสุลไทยในประเทศอินโดนีเซีย 

          งานของกงสุลไทยในประเทศอินโดนีเซียถูกจัดไว้ให้อยู่ในส่วนของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาร์กาตา ซึ่งในส่วนของข้อมูลนั้น จะมีการบริการในเรื่องของการตรวจลงตรา (วีซ่า) รวมถึงการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการบริการแก่นักศึกษาไทยในประเทศอินโดนีเซียที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานก.พ. ซึ่งเป็นงานบริการทางการกงสุลเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากงานทางการกงสุลไทยในประเทศอื่นๆ[4]

 

๒.๕ กงสุลไทยในประเทศสิงคโปร์ 

          งานทางการกงสุลของไทยในประเทศสิงคโปร์มีอยู่จำนวนมาก ทั้งในเรื่องของการตรวจลงตรา (วีซ่า) ซึ่งมีขั้นตอนอย่างละเอียด มีประเด็นเรื่องของการรับรองเอกสาร การนำเงินเข้ามาและนำออกไปจากประเทศ การจดทะเบียนสมรส การเคลื่อนย้ายสัตว์ที่มีชีวิตหรือซากของสัตว์ บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียนคนไทยออนไลน์ รวมไปถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือประเด็นเรื่องของการนำเงินเข้ามาและนำออกไปจากประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดว่า หากนำเงินจำนวนมากกว่า USD ๒๐,๐๐๐ เข้าหรือออกนอกประเทศจะต้องมีการแจ้ง นอกจากนั้น สำหรับเงินไทย หากเป็นเงินจำนวนไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทสามารถนำออกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยได้ และไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาทสำหรับที่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศอื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรด้วย[5]

 

๒.๖ กงสุลไทยในประเทศฟิลิปปินส์

          งานการกงสุลไทยในประเทศฟิลิปปินส์นั้น อยู่ในสถานทูตไทย ณ กรุงมะนิลา ซึ่งมีประเด็นเรื่องทั่วๆไป ได้แก่ การตรวจลงตรา (วีซ่า)  และการบริการตามคำร้องขอเพื่อการรับรองทางกฎหมายซึ่งไม่ได้ระบุเจาะจงไว้โดยเฉพาะว่าเป็นเรื่องใด[6]

 

๒.๗ กงสุลไทยในไต้หวัน 

          ในไต้หวันจะแตกต่างออกไป โดยที่ไม่ได้มีสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยอยู่ในไต้หวัน แต่งานทางการกงสุลจะอยู่ในขอบอำนาจของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย-ไทเป ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องการตรวจลงตรา (วีซ่า) คู่มือคนไทยในไต้หวันซึ่งมีทั้งเรื่องของการจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนต่างๆ การรับรองเอกสาร หนังสือเดินทาง รวมไปถึงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรด้วย แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของการขอสูติบัตรต้องทำในสถานทูตฟิลิปปินส์เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดเป็นการรับรองไต้หวันว่าเป็นรัฐ (อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน) แต่หากเป็นเรื่องของการสละสัญชาติสามารถทำได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศไทยเอง แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไต้หวันจะไม่ทำ[7]

 

๒.๘ กงสุลไทยในเมืองฮ่องกง 

          งานทางการกงสุลของเมืองฮ่องกง จะอยู่ในส่วนของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ซึ่งมีเรื่องของการตรวจลงตรา (วีซ่า) หนังสือเดินทางไทย ระเบียบการจดทะเบียนต่างๆ เช่น การจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า แจ้งเกิด รับรองบุตร รับบุตรบุญธรรม การแจ้งเสียชีวิตของคนไทยที่เสียชีวิตในฮ่องกงหรือมาเก๊า คำร้องนิติกรณ์ต่างๆ หนังสือมอบอำนาจซึ่งมีทั้งโดยทั่วไป มอบอำนาจเรื่องการซื้อขายที่ดิน การมอบอำนาจเรื่องการขอทำหนังสือเดินทางให้บุตร การรับรองเอกสารต่างๆ ได้แก่ การรับรองสัญญาจ้างหรือคัดสำเนาสัญญาจ้าง รับรองคำแปลเอกสาร การยกเลิกการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดและนอกราชอาณาจักร มีเรื่องกงสุลสัญจร

          ประเด็นในเรื่องของการถอนชื่อจากทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นประเด็นที่น่าสนใจเนื่องจากเป็นการกระทำเพื่อให้สิทธิหมดไป โดยที่สามารถยื่นคำร้องขอได้ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกงได้เลย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือประเด็นเรื่องการมอบอำนาจให้ไปซื้อขายที่ดิน ซึ่งสามารถยื่นคำร้องได้ที่สถานกงสุลใหญ่เช่นกัน แสดงให้เห็นว่า มีการซื้อขายที่ดินโดยคนไทยใน เมืองฮ่องกงเกิดขึ้นบ่อย[8]

 

๒.๙ กงสุลไทยในประเทศไนจีเรีย 

          สำหรับงานทางการกงสุลไทยในประเทศไนจีเรียอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา มีประเด็นเรื่องของการตรวจลงตรา (วีซ่า) การลงทะเบียนคนไทยในทวีปแอฟริกา นอกจากนั้นยังมีบริการในเรื่องของความคุ้มครองในกรณีที่เกิดปัญหาอาชญากรรมอีกด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเด็นเรื่องของการคุ้มครองคนชาติไทยที่อยู่ในประเทศไนจีเรีย ซึ่งมีการกำหนดให้ลงทะเบียนคนไทยเพื่อให้ประเทศไทยสามารถคุ้มครองบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในประเทศไนจีเรียได้อย่างทั่วถึงเนื่องจากเป็นประเทศที่น่าจะมีการก่ออาชญากรรมค่อนข้างสูง[9]

 

๒.๑๐ กงสุลไทยในประเทศญี่ปุ่น 

          งานกงสุลของไทยในประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซาก้า ซึ่งมีงานทางกงสุลจำนวนมาก เช่น ในเรื่องของการลงทะเบียนคนไทย การขอหนังสือข้อตกลงการใช้นามสกุล ระเบียบการขอหนังสือเดินทางประเภทต่างๆ การมอบตัวกลับเมืองไทย การแจ้งเกิด การแจ้งเสียชีวิต การขอหนังสือรับรองคุณสมบัติให้ในการสมรส การลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การรับรองคำแปลใบขับขี่ การรับรองการแปลเอกสารราชการไทยต่างๆซึ่งรวมไปถึงทะเบียนการหย่าญี่ปุ่น ทะเบียนสมรสญี่ปุ่น ทะเบียนสำมะโนครัวญี่ปุ่น หนังสือมอบอำนาจ การขอหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นนักศึกษา หนังสือรับรองการมีชีวิต หนังสือให้ความยินยอม การรับรองลายมือชื่อ การจดทะเบียนสมรสระหว่างคนไทยกับคนไทย การรับรองลายมือชื่อเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับที่ดิน เป็นต้น

          แสดงให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ประเด็นที่น่าสนใจคือ การขอหนังสือรับรองคุณสมบัติในการสมรส หรือที่เรียกว่า คงอินโยเก็งกุบิโชเมโช ซึ่งเป็นหนังสือรับรองที่จะทำให้สามารถทำการสมรสภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นได้ โดยเมื่อได้แล้ว ก็สามารถนำไปยื่นการจดทะเบียนสมรสที่อำเภอญี่ปุ่นตามที่ระบุไว้[10]

 

๒.๑๑ กงสุลไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา 

          สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น งานด้านการกงสุลมีอยู่เป็นจำนวนมาก และอยู่ในหลายเมือง ไม่ว่าจะเป็น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส และอีกจำนวนมากโดยภาพรวมงานทางการกงสุลไทยในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีในเรื่องของหนังสือเดินทาง บริการการทำบัตรประชาชน การรับรองเอกสารต่างๆ ทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนครอบครัว การตรวจลงตรา (วีซ่า) กงสุลสัญจร การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ

          สำหรับประเด็นที่น่าสนใจคือ ในเรื่องของการกงสุลสัญจร ซึ่งทั้ง ๔ สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ จะดูแลความเป็นอยู่ของคนไทยที่พักอาศัยในสหรัฐอเมริกา เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้คนไทยตามมลรัฐและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้คนไทยสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วซึ่งครอบคลุมทุกรัฐในสหรัฐอเมริกา[11]

 

๒.๑๒ กงสุลไทยในประเทศเยอรมนี 

          งานทางการกงสุลไทยในประเทศเยอรมนีจะอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีงานบริการทางการกงสุลเป็นจำนวนมากเช่นกัน ได้แก่ เรื่องของหนังสือเดินทาง งานรับรองเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นหนังสือมอบอำนาจ ให้ความยินยอม การรับรองลายมือชื่อ งานด้านนิติกร ในเรื่องของการจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนหย่า การแจ้งเกิด สัญชาติ การรับรองบุตร การรับบุตรบุญธรรม อสังหาริมทรัพย์ การขอมรณบัตร การทำงานในประเทศเยอรมนี เรื่องการทำบัตรประชาชน การเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงการกงสุลสัญจร[12]

 

--------------------------------------

๓. สรุปสถานการณ์เด่นของภารกิจของงานการกงสุลของประเทศไทยในต่างประเทศ 

--------------------------------------

 

          สำหรับในบันทึกฉบับนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงสถานการณ์เด่นของภารกิจของงานการกงสุลของไทยในต่างประเทศ สรุปได้เป็น ๕ ประการ ดังต่อไปนี้

 

          (๑) การรับรองสถานะบุคคล 

          แทบทุกประเทศที่มีการตั้งสถานทูตหรือสถานกงสุลของไทย มีการให้บริการในส่วนของการรับรองสถานะของบุคคลแล้ว ตั้งแต่การเกิด การอยู่ และการตาย มีทั้งในเรื่องของทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนบ้านในหลายประเทศ แม้จะยังมีปัญหาในเรื่องของการจดทะเบียนทะเบียนคนอยู่ในต่างประเทศอยู่บ้าง ทั้งๆที่เห็นว่า ในปัจจุบันมีระบบที่ทันสมัย สามารถออนไลน์ถึงกันได้หมด แต่เป็นเพราะอาจเกิดการทุจริตเนื่องจากหนังสือเดินทางในปัจจุบันมีจำนวนมาก ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีเพียงแต่การต่อบัตรประชาชนในต่างประเทศเท่านั้น ยังไม่มีเรื่องของการออกบัตรประชาชนครั้งแรกของไทยในต่างประเทศ

          ประเด็นเรื่องกงสุลสัญจร เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในงานทางการกงสุลของประเทศไทยที่อยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศใหญ่ๆหรือประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการรับรองสถานะบุคคลให้ทั่วถึง ป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไทยในต่างประเทศที่เข้าไปทำงานในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ลักลอบเข้าเมือง และปัญหาเรื่องของการอยู่เกินกำหนด (overstay)

 

          (๒) การรับรองสถานะครอบครัว 

          การรับรองสถานะครอบครัว เริ่มจากการสมรส การรับรองบุตร การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมที่เริ่มมีในหลายประเทศ รวมไปถึงการหย่า ด้วย อีกทั้งในบางประเทศยังสามารถพัฒนาไปได้ไกลถึงขนาดที่สามารถออกหนังสือรับรองคุณสมบัติที่จะทำการสมรสได้ (รับรองความเป็นโสด) อย่างประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนไทยที่จะทำการสมรสในประเทศนั้นๆกับคนต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่นได้ เป็นต้น

 

          (๓) การรับรองนิติกรรม 

          การรับรองนิติกรรมเป็นอีกประเด็นที่ค่อนข้างมีความสำคัญ เนื่องจากมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เช่น ในเรื่องของการรับรองหลักฐานทางการศึกษา รับรองเอกสารเพื่อทำนิติกรรม ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คนไทยจำนวนมากไปลงทุนในต่างประเทศ รวมไปถึงการรับรองว่าเป็นผู้ไม่เคยต้องคดีใดๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เช่นในเรื่องของการสมัครงานบางประเภท เป็นต้น

 

          (๔) การรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง 

          การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สำคัญ โดยหลักจะเป็นเรื่องของการเลือกตั้ง เป็นสิทธิพลเมืองของประเทศไทยที่ให้ต่อบุคคลที่มีสัญชาติไทย และยังขยายไปยังบุคคลที่มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศด้วย ดังนั้น งานทางการกงสุลจำนวนมากจึงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศเสียสิทธิที่ควรจะได้

แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สามารถให้คนชาติไทยสามารถแสดงความจำนงเพื่อถอนสิทธิในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรออกได้ด้วย

 

          (๕) การรับรองเข้าเมืองและอาศัยในประเทศ 

          การรับรองการเข้าเมืองและการอาศัยในประเทศออกมาในรูปของการตรวจลงตรา (วีซ่า) ในการเข้าเมือง ซึ่งเป็นการออกข้อกำหนด ขอบเขตของคนไทยว่าจะสามารถเข้าเมืองและอาศัยในประเทศนั้นๆได้นานแค่ไหน และสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งในอดีต มีหนังสือเดินทางปลอมจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันก็ได้ดำเนินการแก้ไขแล้วโดยการเพิ่มระบบการตรวจสอบลายนิ้วมือ ม่านตา แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เนื่องจากมีคนไทยจำนวนมากที่เดินทางไปต่างประเทศแล้ว (มีความพยายามแก้ไขโดยอาศัยกงสุลสัญจร)

 

--------------------------------------

๔. สรุป 

--------------------------------------

 

          งานกงสุลคืองานที่รัฐกระทำต่อบุคคลธรรมดา ซึ่งเดิมทีพูดถึงคนชาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีเรื่องคนต่างด้าวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น จะสังเกตได้ว่า งานทางการกงสุลของไทยในแต่ละประเทศจะเน้นในเรื่องที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็เนื่องจากปัญหาของประเทศนั้นๆว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน

 

 

[1] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง, หนังสือเดินทาง, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จากhttp://www.thaiembassy.org/yangon/th/services.

 

[2] สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์, การจ้างแรงงานไทยในต่างประเทศ, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.thaiembassy.org/hochiminh/th/services/34926-การจ้างแรงงานไทยในต่างประเทศ.html.

 

[3] สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์, หนังสือเดินทาง, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก  http://vientiane.thaiembassy.org/vientiane/th/consular/consular_passport/index.php.

 

[4] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก  http://www.thaiembassy.org/jakarta/th/home.

 

[5] Royal Thai Embassy, Singapore, Bringing Currency in or out of Thailand, accessed January 5, 2014, from http://www.thaiembassy.sg/visa-matters-/-consular/bringing-currency-in-or-out-of-thailand.

 

[6] Royal Thai Embassy, Manila, Consular Service, accessed January 5, 2014, fromhttp://www.thaiembassymnl.ph/about-us/royal-thai-embassy-manila/consular-services.html.

 

[7] Thailand Trade and Economic Office, Taipei, accessed January 5, 2014, fromhttp://www.tteo.org.tw/english/.

 

[8] สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก  http://www.thai-consulate.org.hk/web/3019.php.

 

[9] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก  http://thaiembassynigeria.com/index.php?lang=th.

 

[10] สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา, การขอหนังสือรับรองคุณสมบัติในการสมรส (คงอินโยเก็งกุบิโชโมโช), สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก  

http://www.thaiconsulate.jp/newwww/index.php/2011-11-11-03-55-28/24-2010-09-14-03-05-25.

 

[11] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน, การให้บริการกงสุลสัญจร, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.thaiembdc.us/dcdp/both/Mobile_Service.

 

[12] สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, สืบค้นเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๗, จาก http://www.thaiembassy.de/.

หมายเลขบันทึก: 558312เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2014 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2014 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท