ครุวุฒิภาวะ


การพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะมิได้จำกัดที่ระดับอายุ แต่อาศัยประสบการณ์การเปิดใจเรียนรู้และยอมรับความแตกต่าง และอุดมการณ์ของตนเอง ดังนั้นการที่ครูมี “ครุวุฒิภาวะ” ย่อมส่งผลให้ผลผลิตของแบบพิมพ์เป็นผู้มีวุฒิภาวะเหมาะสมตามวัยและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด

              การเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์ทั้งด้านสติปัญญา จิตใจ และร่างกาย เพื่อความเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์” การจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสามารถเปลี่ยนผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ต้องอาศัย “ต้นแบบ” ที่มีคุณภาพ หากต้นแบบมีความผิดเพี้ยนผลผลิตที่เกิดขึ้นย่อมผิดเพี้ยนไม่สมบูรณ์ตามต้นแบบ

           “แจ้งจับครูดนตรีไทย ทุบหลัง นร.หญิงทรุด เหตุใส่ต่างหูมาเรียน” “ครูโหดเตะนักเรียนจนอวัยวะเพศบวม” “สั่งย้าย! ครูใส่ส้นสูงถีบนักเรียน ป. 3 ฟันโยก” “ม.3 ร้องครูตีจนฟกช้ำ ขู่ไม่เซ็นใบจบ” ข่าวเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสความรุนแรงระหว่างครูกับนักเรียนที่พบเห็นได้ในสังคมไทยปัจจุบันและยังมีความรุนแรงที่หลบซ่อนอยู่ในสถานศึกษาอีกมากที่รอวันปะทุ ความรุนแรงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง “วุฒิภาวะ” ของผู้ได้ชื่อว่าเป็น “ครู”

           วุฒิภาวะ (maturity) เป็นภาวะที่มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม อันเป็นที่ยอมรับ เช่น การคิดอย่างรอบคอบ การใช้เหตุผล ความมั่นคงทางอารมณ์ ความสุขุมไม่วู่วาม เป็นต้น วุฒิภาวะยังแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น วุฒิภาวะทางปัญญา (intellectual maturity) วุฒิภาวะทางอารมณ์ (emotional maturity) เป็นต้น การขาดวุฒิภาวะ (immature) เป็นลักษณะที่บุคคลมีการเจริญเติบโต พัฒนาการความคิดและพฤติกรรมไม่เป็นไปตามปรกติ หรือควบคุมตนเองด้านร่างกายและอารมณ์ช้ากว่าวัยอันควร วุฒิภาวะจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

           Gordon Willard Allport อธิบายคุณสมบัติของบุคคลที่มีวุฒิภาวะไว้ 6 ประการ ดังนี้

           1. มีปรัชญาชีวิตหรือค่านิยมของชีวิต ส่งผลให้บุุคคลผู้นั้นใช้ชีวิตอย่างมุ่งมั่นมีจุดหมาย

           2. มีจิตเพื่อบุคคลอื่น และเพื่อสังคมส่วนรวม สามารถร่วมสร้างสรรค์แบ่งปัน ความรู้ ความคิด ทุกข์สุขกับบุคคลในครอบครัว เพื่อนนอกวงการและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งมีจิตใจ เพื่อสังคมส่วนรวม

           3. สามารถสร้างไมตรีกับผู้อื่นได้ ไม่อิจฉาหรือรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ บุคคล วัตถุ ตำแหน่ง รู้จักการเป็นผู้ให้ ผู้รับ และรู้จักปลง

           4. กล้าเผชิญกับทุกข์ยากของชีวิตได้

           5. มีอารมณ์ที่ไม่ขึ้นลงรวดเร็ว และรุนแรง มีอารมณ์ขัน และมีความยืดหยุ่น

           6. กล้าเผชิญและยอมรับทั้งความด้อย และความเด่นของตนเอง บุคคลอื่นและของสังคม คนที่เห็นตัวเองและคนอื่นด้อยสุดหรือเด่นสุด ชั่วสุดหรือดีสุด คือ คนที่ยังคิดแบบเด็ก ๆ ไม่มีมนุษย์คนใดจะมีวุฒิภาวะเต็มเปี่ยม แต่ละคนมีระดับของวุฒิภาวะแตกต่างกันไป

 

           บุคคลที่ไม่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะคือ ยากที่จะพัฒนาสติปัญญาได้ มีลักษณะดังนี้

           1. คนที่ไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง มักกล่าวโทษผู้อื่นว่าเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ที่ตนเองกำลังประสบอยู่ คนที่โทษผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาย่อมไม่เห็นความผิดพลาดของตนเองจึงไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องและพัฒนาตนเองได้

           2. ไม่ยอมให้อภัยผู้อื่น ผูกใจเจ็บอยู่ตลอดเวลาเพราะจมปลักอยู่กับเรื่องในอดีตจึงไม่อยู่กับปัจจุบันและมองความจริงไม่ตรงตามความจริง

           3. ชอบจับผิดผู้อื่น การจับผิดผู้อื่นเป็นเรื่องไม่สร้างสรรค์ เสียเวลา และเป็นการสร้างศัตรูโดยที่เราไม่รู้ตัว

           4. ปากกับใจไม่ตรงกัน ชอบประจบประแจงผู้อื่น หรือต้องการคำสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่นตลอดเวลา กังวลเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกของคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง บุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถทำในสิ่งที่ควรจะทำได้เพราะเอาชีวิตไปฝากไว้ในกำมือของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีจุดยืนในตัวเอง จิตใจจะง่อนแง่น ไม่สามารถทำการใหญ่ได้

           5. พูดจาไร้สาระหาประโยชน์มิได้ ยิ่งพูดมาก จิตยิ่งฟุ้งซ่าน ไม่มีแรงไปคิดในสิ่งที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ การพูดมากจนเกินไปจะทำให้มีบุคลิกไม่น่าเชื่อถือ คนมักไม่ให้เกียรติ เป็นต้น

           6. พอใจแต่คำชมและความสำเร็จ แต่ไม่ยอมรับคำตำหนิติเตียนและความล้มเหลว เมื่อไม่ยอมรับข้อผิดพลาดก็ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้

           การพัฒนาวุฒิภาวะสามารถทำได้โดยวิธีการทั้ง 8 ประการ ดังนี้

           1. ไม่มีอคติ (bias) คุณไม่ควรมีอคติต่อสิ่งใด ๆ โดยไร้ซึ่งการใช้เหตุผลพินิจพิเคราะห์ก่อน

           2. ไม่ละเลย (ignore) ใส่ใจดูแล และรับผิดชอบในหน้าที่ อย่านิ่งเฉยหรือเพิกเฉยต่องานที่ได้รับมอบหมาย

           3. ไม่กลัว (fear) จงขจัดความกลัวออกจากชีวิต เช่น กลัวที่จะเริ่มทำธุรกิจ กลัวที่ต้องพูดบนเวทีต่อหน้าคนหมู่มาก จงกล้าที่จะเริ่มเพื่อก้าวไปสู่ชีวิตในวันข้างหน้าที่ดีกว่า

           4. มีความอดทน ยอมรับเมื่อผิดหวัง หรือไม่ได้ดั่งใจ เคารพความเห็นผู้อื่น อย่าคิดแต่จะเอาชนะ อดทน และรู้จักรอคอย หากไม่มีทางอื่นที่ดีกว่า

           5. มีน้ำใจ ไม่เห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่ความสุขหรือผลประโยชน์ของตนมากจนลืมนึกถึงผู้อื่น จงใส่ความกับคนรอบข้าง

           6. มั่นคง วางตัวให้น่าเชื่อถือ มั่นคง และควบคุมอารมณ์ได้ มุ่งมั่นที่จะทำงานหรือทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ถึงแม้อาจจะใช้เวลายาวนานกว่าคนอื่น

           7. มีความร่าเริง อย่าเครียดกับชีวิตมากไป จนไร้ซึ่งความสดใส หดหู่และหม่นหมอง ยอมรับคำตำหนิ ยอมรับความพ่ายแพ้ รับผิดชอบโดยไม่โยนให้คนอื่นด้วยใบหน้าอิ่มเอิบได้

           8. ปราศจากอารมณ์ทางลบ อย่าให้ให้ตัวเองมีอารมณ์โกรธ (เมื่อไหร่ที่เราโกรธ เราจะเริ่มแสดงพฤติกรรมโง่ ๆ ออกมา) อย่าเกลียด อย่าอิจฉา ริษยา อย่าให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำจิตใจและความรู้สึก
คิดในแง่ดีและมองมุมบวก เพื่อให้จิตใจเราสบายและมีความคิดสร้างสรรค์

           การพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะมิได้จำกัดที่ระดับอายุ แต่อาศัยประสบการณ์การเปิดใจเรียนรู้และยอมรับความแตกต่าง และอุดมการณ์ของตนเอง ดังนั้นการที่ครูมี “ครุวุฒิภาวะ” ย่อมส่งผลให้ผลผลิตของแบบพิมพ์เป็นผู้มีวุฒิภาวะเหมาะสมตามวัยและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในที่สุด

 

บรรณานุกรม

จินดารัตน์  โพธิ์นอก. วุฒิภาวะ. เข้าถึงได้จาก http://www.dailynews.co.th/article/44/176118.
            สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2556.

พัฒนา ราชวงศ์. ทฤษฎีอุปนิสัยของบุคลิกภาพ (Trait Theory of Personality). เข้าถึงได้จาก
            http://pathanar.blogspot.com/2010/07/trait-theory-of-personality.html.
            สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2556.

sanook. ครูทำร้ายนักเรียน. เข้าถึงได้จาก http://news.sanook.com/tag/ครูทำร้ายนักเรียน.
            สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2556.

หมายเลขบันทึก: 557878เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2013 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2013 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท