กิจกรรมบำบัดเพื่อชีวิตที่แฮปปี้กว่า


ขอความสันติจงประสบแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

สวัสดีค่ะ ดิฉันเป็นนักศึกษากิจกรรมบำบัด ชั้นปีที่2 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล บล็อคนี้จะเป็นการแชร์ความรู้เกี่ยวกับ Case study ที่ได้ศึกษามาไม่นานนี้ค่ะ สำหรับบทความนี้เป็นบทความแรกของดิฉันใน Go to know ยังเป็นมือใหม่อยู่ ผิดพลาดอย่างไรขออภัย ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

เริ่มที่...จากในบรรดาหลายเคสในคาบเรียนวิชาการสังเกตและการให้เหตุผลทางคลินิกพื้นฐานที่ อ.ได้นำเสนอให้เราได้เรียนรู้ในคาบเรียนนั้น มีหลากหลายเคสที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือเด็กที่โตมาหน่อยแต่มีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการ และ...เด็กวัยรุ่นที่เหมือนจะไม่มีปัญหา

 

แต่กลับเจอปัญหากับตัวเองที่อาจส่งผลถึงอนาคตเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้วตัวดิฉันเองก็ยังไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการรักษามากในวิชาชีพกิจกรรมบำบัดที่ดิฉันกำลังศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนแล้วทึ่งกับวิชาชีพนี้ คือ เราให้ความสุขกับผู้รับบริการได้แทบทุกรูปแบบ พัฒนาคุณภาพชีวิต และมองถึงองค์รวมได้มากขนาดนี้(Holistic approach) ในระบบการแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย ใครๆหลายคนคงได้คุ้นเคยกับคำว่า คณะกายภาพบำบัด แต่...มีผู้คนบางส่วนที่เห็นแล้วสะกิดใจ ลองคลิกเข้ามาดูเพื่อให้เกิดความสนใจในสาขานี้ คณะกายภาพบำบัด สาขากิจกรรมบำบัด ซึ่งดิฉันเองเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น พอได้ค้นคว้าถึงลักษณะการเรียนและการทำงาน บอกได้ตรงๆว่า ข้อมูลที่ได้รับมาในตอนกำลังจะแอดมิชชั่นนั้น แทบจะเป็นศูนย์เมื่อเทียบกับข้อมูลเท่าที่มีในตอนนี้ ในขณะที่กำลังได้ศึกษาเรียนรู้ก่อนพัฒนาไปสู่ขั้นคลินิกจริงๆ

ในการรักษาทางกิจกรรมบำบัด จะขออธิบายก่อนว่า เราจะใช้ Frame หรือกรอบอ้างอิงในการรักษาค่ะ ในทางการแพทย์ทั่วไปก็จะมีกรอบเหล่านี้อยู่โดยอาจไม่รู้ตัว ทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางแพทย์อื่นๆ เช่น Physical rehabilitation(การฟื้นฟูทางกาย) , Psychosocial rehabilitation(การฟื้นฟูทางจิต) แต่สำหรับกิจกรรมบำบัด เราจะมีกรอบอ้างอิงที่แสนพิเศษเพื่อใช้ในการรักษาสำหรับนักกิจกรรมบำบัดโดยเฉพาะ ที่สำคัญเช่น MOHO (Model of Human Occupation), PEOP(Person Environment Occupation model) เป็นต้น ซึ่งแต่ละกรอบอ้างอิงนี้จะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน(จะยกตัวอย่างจากในเคสนะคะ)

เอาล่ะ มาเริ่มกับเคสนี้กันดีกว่า 

เคสที่ดิฉันเลือกเป็นเกี่ยวกับวัยรุ่นที่เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรสักนิด แต่ถ้าตัวเขาเองปล่อยตัวเองไว้แบบนั้นอาจส่งปัญหากับตัวเขาเองในอนาคตได้ คือความสามารถของเขาจะไม่พัฒนาไปไหนเลย สาเหตุที่เลือกเคสนี้เพราะ หลายคน หรือแม้กระทั่งเพื่อนต่างคณะก็คิดไปต่างๆนาๆ ว่ากิจกรรมบำบัดน่ะ ทำเกี่ยวกับเด็กนะ ทำเกี่ยวกับกิจกรรมนะ ...เอ่อ มันไม่ครอบคลุมอะไรเลยที่ดิฉันเรียนมา ก็เลยคิดว่าใช้เคสนี้เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่า เรารักษาได้ในทุกๆช่วงวัย และปัญหาหลายอย่างที่หลายๆคนอาจจะมีกับคนใกล้ตัว หรืออาจไม่คุ้นเคยค่ะ เริ่มจาก...ผู้รับบริการคนนี้เป็นวัยรุ่นหนุ่ม เรียนในระดับชั้น ปวส. ปกติทุกประการ ในตอนแรก ตัวดิฉันและเพื่อนๆทุกคนก็เกิดอาการงงกันว่า ผิดปกติตรงไหน? เฉลยค่ะ เขาเป็นคนที่ค่อนข้างเฉื่อยจนถึงเครียด ไม่ชอบการเรียนหนังสือ(Education) ใช้ชีวิตแบบเครียดๆกับสิ่งที่ไม่ชอบ ทำให้ความสามารถในตัวเขาที่ไม่มีใครรู้ เสมือนเมล็ดพันธุ์ที่ถูกกลบไว้ยังไม่เจริญมาเป็นต้นให้เห็น เมื่อเขาทนไม่ไหว ครอบครัวจึงพามาเข้ารับการรักษาที่คลินิกกิจกรรมบำบัด  มหาวิทยาลัยมหิดล ในเคสนี้ผู้ให้การรักษาคือ อ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง อาจารย์ของดิฉันเองค่ะ

 

ในตอนแรก อ.จะให้ชายผู้นี้ทำการวิดพื้น ถามว่าเพราะอะไร? เพราะจากการสอบถามความชอบ เขาตอบว่าชอบออกกำลังกายค่ะ แต่ไม่เคยได้ทำเท่าไหร่ เมื่อเขาวิดพื้นไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าต้องเหนื่อยแม้เพียงไม่กี่นาที ไม่ว่าใครก็ต้องเหนื่อย พอถึงจำนวนที่ อ.กำหนด คือ100ครั้ง เขาก็เหนื่อยและเมื่อยตัว ดูเผินๆแล้วกิจกรรมนี้เหมือนเป็นการออกกำลังกายธรรมดา แต่มีอะไรสำคัญแฝงอยู่มากกว่านั้นค่ะ คือ...

สาเหตุที่ อ.ให้วิดพื้น เพื่อเป็นสื่อ(Activity)เชิงอุปมาอุปไมยว่าการเรียน 100 ครั้ง เท่ากับการวิดพื้น 100ครั้งเชียวหรือ? แน่นอนการวิดพื้นย่อมหนักกว่า เมื่อยกว่า ล้ากว่า ดังนั้น ลองถามตัวเองดูว่า ชอบที่จะเรียนอะไร? ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และส่งผลต่อความก้าวหน้าในอนาคตมากขึ้น เขาตอบว่า...เขาชอบเรียนภาษาจีน แล้วก็ชอบเล่นกีต้าร์ค่ะ ซึ่งครอบครัวของเขาคือ พ่อกับแม่ ต่างก็แอบตกใจเพราะลูกชายไม่เคยบอกเลย สุดท้าย เขาก็ลาออกแล้วไปเรียนต่อในด้านที่เขาสนใจจริงๆค่ะ ทำให้เขามี Well being ซึ่ง โป๊ะเชะ!ตรงกับกรอบอ้างอิง PEOP ที่จะทำให้ผู้รับบริการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงใช้กรอบนี้ในการรักษาค่ะ ส่วนอื่นๆก็คือต้องมีการให้เหตุผลทางคลินิกกับครอบครัว (Client family relationship)เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของเขาและหนทางที่ดีกว่าหากให้เขาเดินตามทางที่เขารัก ถึงประโยชน์ที่จะตามมา

นักกิจกรรมบำบัดย่อมต้องคอยติดตามผลของผู้รับบริการอยู่เสมอ ในเคสนี้ได้ทราบข่าวว่า เขาได้ลาออกจากโรงเรียนเดิมไปเรียนในสถาบันที่เขาชอบ เพื่อแสดงออกถึงความสามารถของเขาได้อย่างเต็มที่ เขากลายเป็นนักเล่นกีต้าร์ที่ไปประกวดหลายเวทีเลยทีเดียวค่ะ ความจริงแล้วในห้องเรียนขณะศึกษาเคสนี้ เพื่อนๆต่างเดากันว่า ไปเล่นกู่เจิงแน่เลย เพราะความชอบในภาษาจีนและชอบเล่นกีต้าร์ ซึ่งเป็นการเดาที่ผิดอย่างมหันต์ เป็นสีสันในห้องเรียนค่ะ

ตัวดิฉันเองรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกถึงลักษณะการทำงานของนักกิจกรรมบำบัด รักษาแม้กระทั่งปัญหาเล็กๆไปจนถึงปัญหาระดับเคสแรงๆได้ น่าทึ่งค่ะ เพราะเพียงเท่านี้ดิฉันก็พอเจอกับเคสมาเยอะในระดับหนึ่งเพียงแค่ยังไม่ได้ลองรักษาเอง เท่านี้ก็รู้สึกดีแทนผู้รับการรักษาและญาติที่พามา เพราะคลินิกที่คณะนั้น เราได้พบกับพวกเขาทุกวัน บางคนถึงกับร้องไห้เมื่อลูกชายตนเองสามารถช่วยเหลือตัวเองได้จากการเข้ามารับการรักษากับนักกิจกรรมบำบัด ซึ่งก็คือบรรดาอาจารย์และรุ่นพี่ของพวกเราเองค่ะ ขอบคุณ อ.ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง มากนะคะที่ทำให้คาบเรียนนี้ เราได้อะไรมากมายมากกว่าความรู้ และทำให้เรารู้จักกิจกรรมบำบัดมากยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงการฝึกนำกรอบอ้างอิงมาใช้กับการรักษาด้วยค่ะ

 

คำสำคัญ (Tags): #กิจกรรมบำบัด
หมายเลขบันทึก: 557799เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท