เครื่องแบบนักศึกษากับการต่อสู้ทางแนวคิดและอุดมคติในสังคมไทย


เครื่องแบบนักศึกษากับการต่อสู้ทางแนวคิดและอุดมคติในสังคมไทย

ขอออกตัวก่อนว่าเนื้อหาของบทความดังต่อไปนี้เป็นเพียงความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานชี้วัด ความถูกผิดได้แต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการใช้สิทธิ์ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยของตนในสังคมนี้เป็นฐานในการแสดงออกผ่านตัวอักษรเท่านั้น

    เห็นข่าวการต่อต้านการสวมชุดนักศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ทำให้นึกถึงคำกล่าวหนึ่งที่ว่า  พฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาล้วนแล้วแต่มาจากความคิดภายในทั้งสิ้น และคำกล่าวของหลวงพ่อชา  ที่ว่า  จงระวังความคิด  เพราะความคิดจะกลายเป็นพฤติกรรม  จงระวังพฤติกรรม  เพราะพฤติกรรมจะกลายเป็นนิสัย  ฯลฯ สรุปว่าการแสดงออกทางพฤติกรรม ความคิด รสนิยม ความเชื่อ ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มาจาก การชักใยจากอุดมการณ์หรือแนวคิด เบื้องลึก ที่ฝั่งรากอยู่ในใจคนเราและทำหน้าที่ กำหนดการแสดงออกทางพฤติกรรมของมนุษย์เรา

          ในสังคมไทยไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน มีการต่อสู้ หั่นหันกันทางแนวคิดหรืออุดมการณ์ สอง แนวหลักๆ ได้แก่  แนวคิดประเพณีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม กับ แนวคิดเสรีนิยม  แนวคิดประเพณีนิยม(ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า อนุรักษ์นิยม) เป็นแนวคิดที่ยึดโยงกับประวัติศาสตร์ของชาติให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีโดยมีความเห็นต่อการนำแนวคิดเสรีนิยมว่าเป็นการทำลายรากฐานที่ดีงามของความเป็นไทย

          ส่วนแนวคิดเสรีนิยม เป็นแนวความคิดที่ได้อิทธิพลจากตะวันตก โดยใช้เหตุผลและหลักการที่เป็นสากลเป็นหลัก  มองว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและให้ความเห็นที่สำคัญกับหลักการที่เป็นสากลดังกล่าวว่าไม่ได้ขึ้นหรือยึดโยงอยู่กับ วัฒนธรรม ประเพณี หรือ บริบทสังคมทางสังคม ใดๆ ดังความเห็นของ จอนห์ ล็อกนักคิดสายเสรีนิยม ว่า ชีวิต  เสรีภาพ และทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้กันมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่มีใครแย่งชิงไปจากเราไปได้

          สองแนวความคิดหลักนี้ เป็นแนวความคิดที่ ฝั่งรากลึกอยู่ในใจคนไทยและเป็นแนวคิดที่กำหนดพฤติกรรมของคนไทยมาโดยตลอด

          การต่อต้านการสวมชุดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นแนวความคิดจากฝ่ายเสรีนิยมที่มองว่าการสวมชุดนักศึกษานั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการยอมรับอำนาจเผด็จการ เนื่องจากมองว่าเป็นการบังคับและการสวมชุดนักศึกษาไม่ส่งผลใดๆต่อการเรียนรู้ อีกทั้งยังมองว่าผู้ที่บังคับให้แต่งชุดนักศึกษาไปเรียนนั้น เป็นการสำเร็จความใคร่ทางอำนาจของผู้ถือระเบียบอีกด้วย

          ผู้เขียนได้โหลดระเบียบการแต่งกายของนักศึกษาซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและอีกแห่งเป็นข้อบังคับว่าด้วยระเบียบการแต่งกายจากมหาวิทยาลัยสองแห่งมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจและเทียบเคียงกัน

เป็นเรื่องที่น่าตกใจว่า ภาพนักศึกษาในระเบียบการแต่งกายกับนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่เดินขวักไขว่ไปมา  แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน หรือ หน้ามือกับหลังเท้า ทีเดียว

ประเมินจากสายตาแล้วนักศึกษาที่ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบการแต่งกายของมหาวิทยาลัยของแต่ละแห่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขจากการประเมินจากสายตาแล้ว นักศึกษาที่ปฏิบัติผิดระเบียบน่าจะประมาณ 90 % เสียด้วยซ้ำ

คำถามมีอยู่ว่า ระเบียบการแต่งกายมีไว้เพื่อ ?

หรือจะให้ปฏิบัติดังคำพูดที่ว่า กฎมีไว้ให้แหก

ในทัศนะผู้เขียนมองเรื่องระเบียบการแต่งกายของนักศึกษาที่ตราขึ้นแล้วไม่สามารถบังคับใช้ได้ว่า เป็นการสนองอุดมคติของคนไทยในชนชั้นปกครองหรือกลุ่มที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม ที่อยากเห็นภาพนักศึกษาแต่งกายตามระเบียบที่ตนได้เขียนเอาไว้โดยใช้ข้ออ้างเรื่องระเบียบ  แต่โลกแห่งความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  การไม่ยกเลิกระเบียบที่ไม่สามารถบังคับได้บ่งบอกถึงการสำเร็จความใคร่ทางอุดมคติของกลุ่มอนุรักษ์นิยม  สนองอย่างไร  ก็สนองในระเบียบ แม้ไม่ได้เห็นการแต่งกายที่ถูกระเบียบในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็สามารถเห็นได้ในโลกแห่งความฝัน ผ่านสิ่งที่เรียกว่า   ราชกิจนุเบกษา / ข้อบังคับ ว่าด้วยการแต่งกายของนักศึกษา

ไม่ผิดแปลกอะไรที่คนในสังคมจะมีแนวความคิดแบบประเพณีนิยมหรืออนุรักษ์นิยมเพราะทุกสังคมล้วนแล้วแต่มีแนวคิดแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น จะแตกต่างกันก็เพียงแต่ “จำนวน” มากหรือน้อยเท่านั้น

ความผิดแปลกอยู่ตรงที่  การยัดเยีอด ความเป็นอนุรักษ์นิยมให้กับคนเห็นต่างในรูปแบบของการบังคับที่ออกเป็นกฎระเบียบ  ซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของฝ่ายเสรีนิยมอย่างรุนแรง ที่มองว่าคนเราควรมีเสรีภาพในการจัดการกับชีวิตและร่างกายตนเอง

ผู้อ่านอาจจะมองว่าผู้เขียนว่าเห็นด้วยกับฝ่ายเสรีนิยมซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ปฏิเสธ  แต่ผู้เขียนเองก็ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเสรียมบางส่วน ในกรณีที่ นักศึกษาติดโปสเตอร์ ออกแบบการประท้วงมหาลัย เรื่องการสวมชุดนักศึกษา กรณี ธรรมศาสตร์

เนื่องจากผู้เขียนมองว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่สามารถเปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันได้ รังแต่จะสร้างความร้าวฉานให้กับคนในองค์กร อีกทั้งยังขาดความเหมาะสมด้านสถานที่และตัวบุคคล  เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยและผู้ออกแบบเป็นนักศึกษา  นักศึกษาควรคำนึงถึงการกระทำที่อาจจะหลุดกรอบของความเป็น  ปัญญาชน ของตนด้วย

และผู้เขียนเองอยากให้สังคม ยกเรื่องนี้เป็นหัวข้อในวงสนทนาทางสังคมเพื่อตกลง และหาทางออกให้กับข้อแตกต่างทางความคิดหรือแนวคิดในเรื่องนี้  เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผู้เห็นต่างมานานและขาดความชัดเจนในพูดคุยกัน อีกทั้งเป็นเรื่องที่อยู่ในแวดวงการศึกษาที่มีแนวปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ 

สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่า ควรเปิดเสรี ไปเลย ไหนๆก็จะเปิดเสรีทางการค้า ลดกำแพงภาษี กับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่รัฐบาลบอกนักบอกหนาว่าทุกคนจะได้ประโยชน์ แล้ว  ให้สิทธิ์ในการเลือกและตัดสินใจ กับนักศึกษาไปเลยว่า จะแต่งหรือไม่แต่ง ไม่ควรกังวลจนเกินเหตุ  เราต้องพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลบอกเองมิใช่หรือ  มาเลเซีย ยังนำการร้องเพลงชาติในร้องหนังของคนไทยไปทดลองใช้เพื่อปลูกฝั่งให้ประชาชนรักชาติเลย บอกถ้าดีทำต่อไม่ดียกเลิก กระทรวงศึกษา ลองผิดลองถูกมามาก จะลองอีกสักครั้งไม่เห็นเป็นรัยนี่

เรียนท่านประธานผ่านไปยังท่านสมาชิก ที่ชื่อว่า สังคมไทยว่าไม่ต้องแปลกใจที่ คุณการศึกษาไทยต่ำ แข่งขันกับสากลเค้าไม่ได้                        

เพราะเพียงแค่เรื่องเครื่องแบบยังตกลงกันไม่ได้ว่า จะเอาอย่างไร แล้วสังคมจะคาดหวังอนาคตที่สดใสจาก สถาบันที่ควบคุมดูแลการศึกษาระดับชาติได้ อย่างไร  ?

 

 

         

วรารักษ์

วันหวยออก  กันยา  ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 557625เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท