น้ำกลิ้งบนใบบอน


           สมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็ก ๆ อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด (ปัจจุบันก็อาศัยอยู่ต่างจังหวัดและในอำเภอที่ค่อนข้างกันดาร) ตามริมหนอง บึง หรือสระน้ำมีต้นบอนขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกระจายทั่วไปไม่ว่าจะไปยังแหล่งน้ำใดต้องพบ “บอน” อยู่เสมอ ยามเมื่อฝนตกลงมาจากฟากฟ้าปรากฏการณ์หนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นความคุ้นชินของผู้อาศัยอยู่ในชนบทเช่นผู้เขียนคือ ใบบอนไม่เปียกน้ำเลย ผู้เขียนเคยตัดใบบอนแล้วนำไปจุ่มน้ำ เมื่อนำขึ้นมาพบว่าใบบอนไม่เปียกน้ำเลยแม้แต่น้อย จากลักษณะพิเศษของบอนนี้ทำให้เกิดเป็นสำนวนไทยว่า “น้ำกลิ้งบนใบบอน” หมายถึง ผู้หญิงที่มีจิตใจโลเล ไม่แน่นอน เปรียบดั่งหยดน้ำที่ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ บนใบบอนได้ นอกจากใบบอนแล้วคุณสมบัตินี้ยังพบได้ในใบบัวอีกด้วยทำให้เกิดความสับสนว่าน้ำจะกลิ้งบนใบบอน หรือใบบัวกันแน่...

           นักวิทยาศาสตร์ศึกษาลักษณะของใบบอนและพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบอนด้วยกล้องจุลทรรศน์ชนิดส่องกราด (Scanning Electron Microscope: SEM) พบว่า พื้นผิวหน้าของใบบอน ประกอบด้วยพื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายหนามขนาดเล็กจำนวนมาก โครงสร้างเหล่านี้ทำให้ผิวใบบอนมีลักษณะขรุขระเมื่อหยดน้ำตกลงมากระทบทำให้พื้นผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับใบบอนมีน้อยมาก น้ำจึงไม่เกาะกับผิวใบบอนเราจึงเห็นน้ำเป็นหยดกลิ้งบนใบบอนไม่ให้ถูกทำลายด้วยสารเคมีหรือสิ่งมีชีวิตที่อาจก่อให้เกิดโรคพืชได้

           คุณสมบัตินี้เป็นการทำความสะอาดตนเองของใบพืชเพื่อป้องกันสารปนเปื้อน สปอร์ แบคทีเรียที่ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อพืช โดยสารปนเปื้อนเหล่านี้จะถูกชะล้างออกด้วยน้ำอันเป็นการป้องกันตนเองของพืช

           ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติดังกล่าวเรียกว่า Lotus Effect และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมมากมาย เช่น ผ้าไม่เปียกน้ำ สีทาบ้านที่มีคุณสมบัติทำความสะอาดตนเองได้เมื่อฝนตก และวัสดุที่น้ำไม่เกาะติด เป็นต้น

           นอกจากคุณสมบัติที่น้ำไม่เกาะผิวใบบอนแล้ว ยังมีอีกคุณสมบัติหนึ่งของบอนที่ต้องกล่าวถึงคือ “ความคัน” ท่านผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า “ปากบอน” ที่มีความหมายว่า ชอบพูด ชอบฟ้อง  เมื่อกล่าวถึงความคัน ทำให้ผู้เขียนนึกถึงเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนแผนใช้วาจาบริภาษนางวันทอง ว่ามีอาการคัน...แม้ว่ามีแพทย์ชำนาญการรักษาอาการคันมารักษานางวันทองก็ไม่สามารถทำให้หายคัน...ได้อย่างเด็ดขาด

                              “ตำแยเจ้าเอ๋ยมันแสนคัน              จะเท่ามันคนนี้หามีไม่

                          กลากเกลื้อนขี้เรื้อนพรรไน                 หยูกยาหาใส่ก็หายคัน

                          อีชาติชั่วเป็นตัวเท่าตัวหนอน               ไชชอนดิ้นเดี้ยนจนตัวสั่น

                          ถึงหายาให้สิ้นถิ่นสุพรรณ                  วันเดียวก็จะสิ้นตำรายา”

           ไม่รู้ว่านางวันทองคันอะไร??? ขุนแผนจึงไม่สามารถทำให้หายคัน...ได้

 

บรรณานุกรม

สิทธิสุนทร สุโพธิณะ และคณะ. 2553. รายงานการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมฉบับสมบูรณ์ “การพัฒนาฟิล์มไม่เปียกน้ำและน้ำมันที่มีความเสถียรและทนทาน”. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.

Toro richclub. 2555. ฤาจะเป็น “น้ำกลิ้งบนใบบอน”.  เข้าถึงได้ที่ http://torojunior.blogspot.com/ 2012/10/blog-post_7807.html. สืบค้นเมื่อ 28 ธันวาคม 2556.

หมายเลขบันทึก: 557585เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น้ำกลิ้งบนใบบอน... น่าคิดนะคะ ...

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับ ขออนุญาตเอาไปเล่าต่อใน facebook นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท