โลจิสติกส์กับความได้เปรียบทางการแข่งขัน


การแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกที่มีความหลากหลาย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม ที่มีพลวัตการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงและรวดเร็ว  ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมในทุกระดับ ตลอดจนปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ได้แก่  ระบบโครงสร้างสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในการที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งโครงสร้างระบบสนับสนุน  รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยหลักสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม. 2554  :  เว็บไซต์)  และการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic  Community : AEC) ของประเทศไทย  ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นที่ยอมรับในภูมิภาค  โดยการนำเอาระบบโลจิสติกส์เข้ามาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพ  ที่สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในต่างประเทศ  และเป็นช่องทางในการพัฒนาไปสู่การให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเกษตรกรรมที่จำเป็นจะต้องอาศัยการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจึงจะทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (สุรินรัตน์  แก้วทอง.  2556  :   เว็บไซต์)

ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร (Food  Industry Businesses) ถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญและเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย  เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกือบทั้งหมด และมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาว นับตั้งแต่กระบวนการปลูกจนกระทั่งถึงกระบวนการแปรรูปและส่งออก  ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ  เพราะระบบการจัดการโลจิสติกส์เข้ามาช่วยตั้งแต่กระบวนการจัดส่งสินค้าต้นทาง (Origin Source) จนถึงปลายทางคือ ลูกค้าคนสุดท้าย (End User) ทำให้กระบวนการต่าง ๆ เกิดการบูรณาการระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพในระบบโลจิสติกส์  ซึ่งมีความครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ  ทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและที่สำคัญคือ เมื่อมีการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารได้อย่างมาก (ธนิต  โสรัตน์.  2552  :  เว็บไซต์)

  กลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์  (Modern Logistics Management Strategy)  มีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทย  จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องให้ความสนใจในการร่วมกันปรับปรุงการบริหารจัดการโลจิสติกส์  ทั้งระบบโลจิสติกส์ภายในและภายนอกองค์กร  เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดระดับสากล  ดังนั้นการนำกลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์สมัยใหม่มาใช้ในองค์กรจึงมีความสำคัญต่อความได้เปรียบทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย (อรุณ  บริรักษ์.  2554  :  75 - 76)  แสดงให้เห็นถึงระบบโลจิสติกส์ที่เข้ามาเชื่อมประสานในการขนย้าย  ขนส่ง  ลำเลียงสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว  เป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการผลิตหรือก่อกำเนิดวัตถุดิบ  หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสำเร็จรูป  และการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมปลายน้ำที่จะต้องใช้วิธีการในการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การจัดการโลจิสติกส์สมัยใหม่  ที่ประกอบไปด้วย 3 ด้าน ได้แก่

กลยุทธ์ด้านสินค้าคงคลัง (Inventory Strategy) กลยุทธ์ด้านการขนส่ง (Transport Strategy) และกลยุทธ์ด้านที่ตั้ง (Location Strategy)  (Ballou.  2004  :  29)โดยระบบโลจิสติกส์ซึ่งได้พัฒนาระบบประสานเป็นหนึ่งเดียวทั่วโลก หรือที่เรียกว่า เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลระดับโลก (Global Network) ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยอาศัยระบบการค้าอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งช่วยลดระยะเวลา  ค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ต้นทุนลดต่ำลง  ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (ธนิต  โสรัตน์.  2550  :  72 - 73)

ความได้เปรียบทางการแข่งขัน  (Competitive Advantage)  เป็นความสามารถขององค์กรใดองค์กรหนึ่งในการสร้างผลงานเหนือองค์กรอื่น ๆ จากการผลิตสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าต้องการด้วยประสิทธิภาพที่เหนือกว่า การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน รวมทั้งปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้บริหารจำเป็นจะต้องมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการองค์กรที่ดี จึงจะสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ  โดยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการยอมรับในความคิดใหม่ ๆ ของบุคคลในองค์กร เพื่อการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในองค์กรและเป็นที่ยอมรับของบุคลากร อันจะนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และยิ่งกว่านั้นส่งผลทำให้ประเทศชาติมีขีดความสามารถทางการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในโลกได้ต่อไป  (จรินทร์  อาสาทรงธรรม.  2548 :  21 - 31) และพื้นฐานสำคัญของการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพ (Efficiency) ด้านคุณภาพ (Quality) ด้านนวัตกรรม (Innovation) และด้านการตอบสนองต่อลูกค้า (Customer Responsiveness) (วิทยา  ด่านธำรงกูล.  2546  :  38 - 39)  ซึ่งทั้ง 4 องค์ประกอบมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรยุคใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วที่ส่งผลโดยตรงต่อการปรับตัวขององค์กร

จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารธุรกิจควรมุ่งเน้นการดำเนินการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ  ด้านการจัดการสินค้าคงคลังให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าและไม่เกิดภาระในการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่มีปริมาณมากเกินไป  และต้องมีการจัดการการขนส่งที่ดี   มีการวิเคราะห์เส้นทางการขนส่งที่ชัดเจน  เลือกรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมกับเส้นทางการขนส่ง  โดยมีการพิจารณาถึงสถานที่ตั้งของคลังสินค้า  แหล่งวัตถุดิบในการผลิต โรงงานผลิต และตลาด  เพื่อการประหยัดต้นทุนในการขนส่ง  ซึ่งเป็นการบูรณาการด้านการจัดการโลจิสติกส์ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย  และระดับสากล  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic  Community : AEC) ของประเทศไทย

ส่วนหนึ่งของบทความวิจัย นายอัศวิน สุขแสวง (บธ.ม. การจัดการเชิงกลยุทธ์)

คำสำคัญ (Tags): #logistics#aec
หมายเลขบันทึก: 557315เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 09:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท