ใครว่า??.. “การศึกษาคือ ชีวิต”


หินที่กลิ้งอยู่เสมอ มักเกลี้ยงเกลา เป็นเงาวับแสง ไม่ยอมให้ตะไคร่น้ำจับเกรอะกรัง

 

 

ใครว่า??.. “การศึกษาคือ ชีวิต”

ในโรงเรียนบ้านนอกทุกวันนี้ผมไม่ค่อยได้เห็นภาพเด็กๆ เดินถือธงแดงนำริ้วแถวอย่างเป็นระเบียบมาโรงเรียน เหมือนเมื่อก่อน หลายๆที่ เด็กๆเดินมาโรงเรียนอย่างอิสระ บ้างก็เห็นผู้ปกครองพาบุตรหลานซ้อนหลังมอเตอร์ไซต์มาส่งครูหน้าโรงเรียน ก่อนกลับไปลงไร่ลงนา ส่วนในชุมชนใหญ่ๆ ก็เห็นเด็กนั่งรถตู้แบบนั่งยัดทะนานมาโรงเรียนจนน่าเป็นห่วงในสวัสดิภาพ พอเลิกเรียนก็ออกันอยู่หน้าร้านสะดวกซื้อ บ้างก็ควักแท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือมาเล่น app. รอรถมารับ ...ผมมองดูภาพเหล่านี้ด้วยความสะท้อนใจถึงการกิน อยู่ ดู ฟัง ในการดำเนินชีวิตปกติของผู้คนทุกหย่อมหญ้า ซึ่งนับวันจะถลำลึกเข้าสู่ลัทธิบริโภคนิยมอย่างไม่มีทีท่าจะถอยกลับ

 ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพยายามพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามแนวปฏิรูปการเรียนรู้มานานปี โดยมีเป้าหมายให้เด็กเก่ง ดี มีสุข แต่พอวิจัยภาคสนามถึงพัฒนาการ ก็มักพบตัวแปรแทรกซ้อน2 -3 ประเด็น อย่างเช่น ผู้ปกครองนักเรียนใช้เวลาหาเงินเลี้ยงชีพสร้างฐานะและใช้เงินเป็นสิ่งเร้าในการเรียนของบุตรหลานแทนการอบรมสั่งสอนอย่างอดทน ครูสอนแบบกวดวิชาเพื่อเร่งตัวเลขผลสัมฤทธิ์ในการสอบระดับชาติมากกว่าจัดการเรียนรู้ตามแนวหลักสูตร เด็กๆถนัดที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารภายในกลุ่มมากกว่าการสืบค้นแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ เด็กด้อยโอกาสหรือด้อยคุณภาพชีวิตในครอบครัวจำนวนไม่น้อยขาดแรงจูงใจในการเรียนพร้อมที่จะออกกลางคัน... ยากที่จะปฏิเสธว่า หากยังมีปรากฏการณ์เช่นนี้ การปฏิรูปการศึกษาก็ยังไปไม่ถึงไหน 

การปฏิรูปการศึกษาท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของลัทธิบริโภคนิยม ยิ่งต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสารสนเทศ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา ตัดสินใจ ของผู้เรียน หากยังเพียงนำระบบ แนวคิดในการจัดการศึกษาแบบตะวันตกมาใช้เป็นแกนในการจัดทำหลักสูตร และเน้นประเมินผลการเรียนรู้ด้วยข้อสอบมาตรฐาน ก็ยังไม่พอเพียงที่ผู้เรียนจะวิเคราะห์แยกแยะ รู้ทัน ปฏิเสธสิ่งยั่วยุได้ ดังนั้น การจัดการศึกษาจำเป็นต้องเน้นกระบวนการให้ผู้เรียนเข้าถึง “โยนิโสมนสิการ” เน้นกระบวนการปฏิบัติ ขัดเกลา เข้าใจการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม ตามหลักไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา มิฉะนั้นเราก็ยังต้องเห็นผลผลิตการศึกษา ติดอันดับรั้งท้ายนานาประเทศ ผู้เรียนมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ผู้เรียนมีรสนิยมสูงความอดทนต่ำ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักศึกษามหาวิทยาลัยยังแสดงออกต่อสังคมในบทบาท “เสรีชนผู้ปฏิรูปสังคม” มากกว่า “วิญญูชนผู้เสนอสารสนเทศที่ถูกต้องต่อสังคม”

 หากจะปฏิรูปการศึกษากันอย่างจริงจัง ยั่งยืน ควรศึกษานิยาม “การศึกษา” ของนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงให้ถ่องแท้ แล้วนำสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับรากเหง้า วิถีวัฒนธรรมไทย เช่นJohn Dewey ที่ว่า “การศึกษาคือ ชีวิต ไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อชีวิตในภายหน้า การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (Education is growth) ทั้งในร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา”และ ดร.สาโรช บัวศรี ที่ว่า “การศึกษา คือ การพัฒนาขันธ์ 5 โดยใช้มรรค 8 เพื่อให้อกุศลมูล (โลภ โกรธ หลง) ลดน้อยลงหรือเบาบางลงให้มากที่สุด” ซึ่งมีนัยถึง การเรียนรู้โดยกระบวนการปฏิบัติทางสายกลางเพื่อดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสมมีสติ มีวัฒนธรรมแสวงหาปัญญา นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 556467เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท