Salmon Fishing in the Yemen : ศรัทธาและปลา




๑.

เท่าที่จำความได้ ผมไม่เคยตกปลาได้เลยสักครั้ง ไม่มีภาพที่ตัวเองกำลังตวัดคันเบ็ด หรือประลองกำลังกับปลา ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กตัวใหญ่ หรือบึงหนองคลองไหน หากแต่ผมรักที่จะเลียบๆ เคียงๆ คอยดูเซียนปลาเหล่านั้นสำแดงฝีมือ ค่อยๆ ดึง ค่อยๆ ลาก ก่อนรอจังหวะเจ้าปลาเสียท่าหมดแรง ตวัดตัวปลาขึ้นมาดิ้นกระแด่วอยู่บนพื้น หรือลากปลาเพลียกำลังมาใกล้ฝั่ง แล้วใช้กระชอนตักขึ้นมาอย่างง่ายดาย

ท่วงท่ากิริยาต่างๆ ของเซียนปลาเหล่านี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า ดูอ่อนโยน ทว่ามั่นคง เวลาปลาติดเบ็ด แววตาของพวกเขาท้าทาย พร้อมที่จะพิสูจน์ฝีมือของตัวเอง

สัจธรรมข้อหนึ่งของการตกปลา ก็คงหนีไม่พ้นการใจเย็น รู้จักรอ การอยู่เงียบๆ คนเดียว

ผมไม่สามารถเป็นเซียนปลาได้ ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นนักตกปลา รู้ว่าตัวเองเป็นคนใจร้อน อดทนรออะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ อาการกระวนกระวายมักปรากฏ อีกใจก็อ่อนแอไม่กล้ามองภาพตะขอเกี่ยวปากปลา มิพักที่จะต้องเป็นคนแกะตะขอนั้นออก ผมกลัว กลัวว่าปลาจะเจ็บ กลัวเรื่องบุญเรื่องกรรม สรุปง่ายๆ ก็คือ ผมคิดเยอะ คิดแทนปลา

ไม่รู้จะคิดไปทำไม ทั้งที่เวลาใครตกปลาได้ พอปรุงเป็นอาหารเสร็จสรรพ ผมก็ไม่รอช้าที่จะร่วมวง

 



๒.

ท่านชีคในประเทศเยเมนสนใจกีฬาตกปลา เขาอยากตกปลาแซลมอน

แฮเรียท จึงต้องร่วมมือกับ ดร.โจนส์ ทำให้กีฬาตกปลานี้เกิดขึ้นในเยเมนให้ได้ ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว มันก็ดูจะยากแสนยาก ด้วยเพราะเยเมนมีสภาพที่ไม่เอื้อกับการตกปลาเอาเสียเลย ยิ่งเป็นปลาแซลมอน ยิ่งยากเข้าไปใหญ่

ที่ว่ายากก็เพราะปลาแซลมอนนั้นอาศัยอยู่ทางซีกโลกเหนือ แถบอเมริกาเหนือ อลาสก้า ไซบีเรีย หากแต่เยเมนนั้นเป็นประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ อีกทั้งเมื่อถึงฤดูวางไข่ ปลาแซลมอนก็จะว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่ที่บ้านเกิด งานวิจัยบอกว่า ระหว่างที่ว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่นั้น ปลาแซลมอนสูญหายระหว่างทางเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ เหมือนปลาแซลมอนจะเป็นปลาที่ติดอยู่กับรูป รส กลิ่น สี เสียง ของน้ำ ทั้งที่จริงๆ แล้ว มันอาจจะไม่ตั้งใจให้ชีวิตเป็นแลลนั้น แต่ธรรมชาติและสัญชาตญาณมีอำนาจบงการสูงสุด
แซลมอนจึงเป็นปลาที่มีความซับซ้อนและเข้าใจยาก

โครงการตกปลา จึงเป็นเรื่องท้าทาย และเมื่อ ดร.โจนส์ศึกษาจนพบว่า ในทางทฤษฎีนั้นพอมีหวัง หากว่าปัจจัยทุกอย่างนั้นเอื้ออำนวย

แน่นอนว่า ปลาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

ดร.โจนส์ เสมือนภาพแทนของชายวัยกลางคนที่ไม่รู้แน่รู้นอนกับอนาคตของตัวเอง เขามีครอบครัว มีภรรยาที่เดินทางบ่อย ไม่มีเวลาให้กัน ที่สำคัญทั้งคู่ไม่มีลูกที่จะทำให้ชีวิตอยู่กับที่ ดร.โจนส์หลงใหลการตกปลาเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อแฮเรียทชักชวน เขาจึงไม่ลังเล เพราะอย่างไรเสีย บ้านก็เป็นเพียงความเดียวดายและความแปลกหน้าที่เขาจมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เขาตัดสินใจเดินทางมาหาท่านชีคที่เยเมน โดยมีแฮเรียทให้คำปรึกษาอยู่ข้างๆ

แฮเรียทเองก็มีคนรัก เป็นทหารหนุ่มที่ต้องไปรบที่อัฟกานิสถาน เขาและเธอเพิ่งพบกันไม่นาน แต่ก็ต้องจากกัน โดยทั้งคู่ต่างให้คำมั่นสัญญาจะเชื่อใจกันและกัน

นานไป ข่าวคราวของฝ่ายชายสูญหายในดินแดนของการรบ แฮเรียทจึงจมอยู่กับความเศร้า โครงการตกปลาแซลมอนเกือบล้มพับ

ดร.โจนส์คอยอยู่เป็นเพื่อนเธอ ปลอบใจเธอ พร้อมทั้งเปิดใจตัวเอง ชีวิตเว้าแหว่งสองชีวิตย่อมเข้าใจกัน ความสัมพันธ์ของคนสองคนดำเนินไป ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการตกปลา

ความเหมือนของความรักและโครงการตกปลาครั้งนี้คือ ในทางทฤษฎีมันสามารถเป็นไปได้ แต่ภาคปฏิบัติยังไม่มีใครรับรอง ต้องลงมือปฏิบัติเท่านั้น

และเมื่อโครงการก้าวหน้า ความรักก็ก้าวหน้า มีความเป็นไปได้ที่จะนำปลาแซลมอนมาที่เยเมน

วันหนึ่ง ขณะโครงการกำลังไปได้สวยจนใกล้แล้วเสร็จ คนรักของแฮเรียทก็กลับมา เธอยืนอยู่บนทางแยก สับสน ไม่รู้หัวใจตัวเอง ขณะที่ ดร.โจนส์ได้เลือกเส้นทางของตัวเองแล้ว

ดร.โจนส์จึงกลายเป็นชายที่เงียบขรึม อาดูรเศร้า และมองดูแฮเรียทอยู่ในอ้อมกอดคนอื่น

สิ่งที่เจ็บแสบอีกอย่างก็คือ รัฐบาลไม่เคยเห็นคุณค่าของโครงการเหล่านี้เลย แต่ก็ทำเป็นสนใจไยดี เพียงเพราะอยากสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และกลบข่าวความรุนแรงของสงครามในอัฟกานิสถาน ถึงขนาดส่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาที่เยเมน เพื่อแสดงท่าทางเงอะๆ งะๆ ในการตกปลา พอให้แสงแฟลชกระแทกวูบวาบเป็นข่าว
เรียกว่า หัวหมอสุดๆ

 

๓.
สำหรับท่านชีค การตกปลาคือการฟื้นฟูจิตวิญญาณ คือเรื่องใหญ่และจริงจัง คือการสนทนากับข้างในตัวเอง ท่านชีคไม่ได้สนใจเรื่องของการเมือง เราสามารถอนุมานได้ว่า การตกปลาของท่านชีคคือการต่อสู้กับตัวเอง พูดคุยและสนทนาภายใน เป็นความมุ่งมั่นที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา

ในทางคลับคล้ายกับ ดร.โจนส์ก็ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าความลุ่มหลงที่ตัวเองมีให้กับการตกปลา ชื่นชอบชีวิตกลางแจ้ง และหลงรักการตวัดเบ็ด

ส่วนแฮเรียท อาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากการที่เธอมีความสุขเมื่อได้อยู่ใกล้ๆ ดร.โจนส์ เฝ้ามองดูเขาในระยะที่พอดี

ท้ายที่สุดแล้ว แต่ละคนแต่ละฝ่าย ต่างก็มีเส้นทางและวิถีที่ตัวเองหลงใหล เป็นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่น ยึดถือและมีความสุข โดยมีศรัทธานำทาง ดำเนินชีวิตไปบนครรลองความเชื่อที่ตัวเองมี.


......................
ป.ล.บทความนี้ตีพิมพ์ที่
นิตยสารปล่อย Release E - Magazine
Vol.1 April 2013

หมายเลขบันทึก: 556237เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท