วีรวัฒน์
นาย วีรวัฒน์ วีรวัฒน์ เข้มแข็ง

เมื่อผมได้อ่านบทความของ อ.อธิปัตย์ คลี่สุนทร


จากบทความที่ข้าพเจ้าได้อ่าน คือเรื่อง ๑.การศึกษาพหุวัฒนธรรม ๒.การเขียนโครงการ: จากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ, และ๓.ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาของ ท่านอ.ดร.อธิปัตย์ คลี่สุนทร อาจารย์ผู้ที่เป็นแบบอย่างแก่ข้าพเจ้า ซึ่งหากพิจารณาจากชื่อบทความและเนื้อหาแล้วจะเห็นว่าทั้งสามชิ้นมีสาระสำคัญการพัฒนาระบบการศึกษาโดยมีแตกต่างกันในเรื่องของกลุ่มเป้าหมายและแนวคิดที่ท่านอ.อธิปัตย์ อยากสะท้อนและนำเสนอ ดังนี้ครับ

-บทความเรื่อง การศึกษาพหุวัฒนธรรม มีความโดดเด่นด้านกรอบแนวคิด (concept) โดยในเนื้อบทความได้เปิดมุมมองความเข้าใจด้านความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะต้องคำนึงถึงในกระบวนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะเท่าทันอคติ (bias) ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมจากสื่อสาธารณะต่างๆ เช่น โฆษณาที่ทำให้กลุ่มชาวเขาพูดไม่ชัด หรือข้อความในพาดหัวข่าวที่บอกว่า “โจรใต้” ทำให้เกิดภาพเหมารวม (generalization) ที่มองว่า คนที่อยู่ภาคใต้เป็นโจรไปเสียหมด เป็นต้น กระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทางวัฒนธรรมเหล่านี้ มีส่วนสำคัญต่อการสร้างความไม่เข้าใจต่อคนอื่น (Other) ที่ต่างชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม อาชีพ วิถีชีวิต หรือการเป็นพลเมืองของรัฐที่ต่างจากเราในพ.ศ. 2558 ประเทศไทยและเพื่อนบ้านของเราอีก 9 ประเทศกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จะต้องเผชิญกับการไหลเวียนของผู้คนที่ต่างจากเรา บุคคลเหล่านี้วัฒนธรรมที่ต่าง กระบวนการจัดการศึกษาที่ต้องอาศัยแนวคิด “พหุวัฒนธรรม” เข้ามาเสริมให้การอยู่ร่วมหันในสังคมได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย โดยการศึกษาพหุวัฒนธรรมจำเป็นจะต้องจัดเป็นหลักสูตรที่เป้าหมายเพื่อทำให้เด็กลดความรู้สึกเหยียดหยามเชื้อชาติและศาสนา ยอมรับคนที่แตกต่างจากเราในฐานะ “ความเป็นมนุษย์” ที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะนำมาสู่การที่พวกเขจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเท่าเทียมอีกนัยหนึ่งด้วย สิ่งที่จะตามมาหลังจากการที่ทุกคนเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ก็คือการทีเราจะได้อยู่ร่วมกันในชุมชนและสังคมได้อย่างสันติสุข ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนจะต้องอาศัยการถ่ายทอดจากครูด้วยการหาวิธีการสอนที่แยบยลในการปลูกฝังความคิดพหุวัฒนธรรม เมื่อพวกเขาเติบโตไปอยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน พวกเขาจะได้นำแนวคิดพหุวัฒนธรรมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาสังคมให้เกิดความเจริญงอกงามด้านคุณธรรมจริยธรรมต่อไป

-บทความเรื่อง การเขียนโครงการ: จากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ ในแง่ของการนำกรอบแนวคิด นโยบาย และแผนยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมมาทำให้เกิดผลในเชิงปฏิบัตินั้นท่าน อ.อธิปัตย์กล่าวไว้อย่างเด่นชัดใน บทความได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดทำโครงการใดๆ จะต้องมีการนำข้อมูลสารสนเทศเข้ามาศึกษาวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นเร่งด่วน ผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ดำเนินการ ในการเขียนโครงการจะต้องมีความชัดเจน จำเพาะเจาะจงเพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ นอกจากนี้โครงการจะต้องตอบสนองหรือสนับสนุนโยบายขององค์การหรือหน่วยงานระดับกรม กระทรวง จังหวัดหรือนโยบายของประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดตรงประเด็น การเขียนโครงการจึงสำคัญต่อการนำแนวคิดไปสู่แนวทางการปฏิบัติ หากโครงการดำเนินการโดยขาดความชัดเจนแผนงาน และนโยบายก็ขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงานนั่นเอง

บทความเรื่อง ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษา  ท่าน อ.อธิปัตย์ได้กล่าวถึงการดำเนินโครงการต่างๆ จะต้องอาศัยระบบสารสนเทศเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริหารระดับนโยบาย ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนผู้เรียนสามารถการเข้าถึง “คลังความรู้” อันมหาศาลในการดำเนินงานด้านการศึกษาได้ ทั้งในแง่ของการกำหนดนโยบาย การวางแผน ติดตามงาน พัฒนาผู้เรียนและทำงานด้านการศึกษาหรือด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาส สร้างคุณภาพ และความเสมอภาค ให้ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จตามศักยภาพของแต่ละบุคคล (Success for all) และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์การและประเทศชาติในวงกว้างอีกด้วย

          งานเขียนทั้งสามชิ้นนี้จึงมีคุณูปการสำคัญต่อการเรียนรู้ในการดำเนินนโยบายและแผนด้านพัฒนาการศึกษาให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านกระบวนการคิดที่ดึงเอากรอบคิดทฤษฎีเข้ามาเสริมให้เกิดการพัฒนาการศึกษาท่ามกลางหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผู้คนต้องเผชิญ การนำแนวคิดเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดความชัดเจนในด้านการปฏิบัติด้วยการเขียนโครงการ และการนำสื่อสารสารสนเทศต่างๆ มาช่วยในการบริหารจัดการการศึกษาให้สามารถพัฒนาและเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้อย่างเสมอภาคนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 555384เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2013 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2013 18:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท