CaseStudy#23 แรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

กลุ่มกรณีศึกษาที่ 23
นางหนุ่ม ไหมแสง และนายโจ ไม่มีนามสกุล แรงงานข้ามชาติกับสิทธิที่จะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

กรณีนางหนุ่ม ไหมแสง[1]

นางหนุ่ม ไหมแสงชาวไทใหญ่ที่เดินเท้าเข้าประเทศไทยมาทำงานเป็นลูกจ้างที่จังหวัดเชียงใหม่ เธอได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ (พม่า) ที่มีใบอนุญาตทำงาน และมีเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่ออกโดยกรมการปกครองคือ ท.ร.38/1

ธันวาคม 2549 ขณะทำงานเป็นคนก่อสร้างที่โครงการก่อสร้างโรงแรมแชงกรีลา ถนนช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฎว่าแบบหล่อเสาเหล็กสูงประมาณ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 กิโลกรัม ตกลงมาจากเครนยกบนชั้นที่ 12 แบบเสาแตกออกกระเด็นทับนางหนุ่มอย่างรุนแรง ทำให้ต้องทุพพลภาพ เธอได้ร้องเรียนขอรับเงินทดแทน ต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จังหวัดเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ

ด้วยการสนับสนุนความช่วยเหลือทางกฎหมายจากโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษชนและการพัฒนา วันที่ 24 สิงหาคม 2550 ทนายความของนางหนุ่มได้ยื่นอุทรณ์คำสั่งของ สปส.จังหวัดเชียงใหม่ ไปยังคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ต่อมาคณะกรรมการได้มีมติให้จำหน่ายคำอุทธรณ์นี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการ โดยอ้างหลักเกณฑ์การคุ้มครองแรงงานต่าวด้าวประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานที่ปรากฎตามหนังสือ รส. 0711/ว.751 ลว 25 ตุลาคม 2544

ต่อมานางหนุ่ม โดยทนายความได้ยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนหนังสือ รส. 0711/ว.751 ลว 25 ตุลาคม 2544 เนื่องจากหนังสือเวียนดังกล่าวมีลักษณะจำกัดสิทธิของแรงงานต่างด้าวในการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

ต่อมาศาลปกครองเชียงใหม่ ชี้ว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน พ.ศ.2522 (มาตรา 8) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคสอง (3) ศาลปกครองชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

กรณีนายโจ ไม่มีนามสกุล[2]

ความพยายามที่จะต้องการให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของหนังสือที่ รส. 0711/ว.751 ลว 25 ตุลาคม 2544 กรณีศึกษาเพื่อการทดลองทางสังคมจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยนายโจ ไม่มีนามสกุลแรงงานชาติพันธุ์ไทใหญ่ ขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ (พม่า) พร้อมด้วยเพื่อนรวม 3 คน จึงยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลสั่งยกเลิกเพิกถอนหนังสือที่ รส. 0711/ว.751 อย่างไรก็ดี นายโจ และพวกรวม 3 คนมิได้เป็นผู้เสียหาย เนื่องจากยังไม่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานแต่อย่างใด แต่เป็นการยื่นฟ้องในฐานะ “ผู้ที่อาจได้รับความเดือดร้อนเสียหาย” จากหนังสือเวียนดังกล่าว

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา

คำถามสำคัญ  จากคำสั่งศาลปกครองทั้งในกรณีศึกษาที่ 23 และกรณีศึกษาที่ 24  ทำให้เกิดคำถามที่ว่า จริงหรือ-ที่ว่าแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียน ได้รับใบอนุญาตทำงานชั่วคราวมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย ไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิในกองทุนเงินทดแทนได้ตามที่หนังสือที่ รส. 0711/ว.751 กำหนดไว้ หนังสือเวียนดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิของแรงงานต่างด้าวสามสัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) หรือไม่

กรณีศึกษาที่ 23 นางหนุ่ม ไหมแสง และกรณีศึกษาที่  24 นายโจ ไม่มีนามสกุล เป็นกรณีตัวแทนปัญหาของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติ หรือยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางจะต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิที่จะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

 

[1]เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ในการสนับสนุนงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ดูเพิ่มเติม ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, “สิทธิแรงงานข้ามชาติในระหว่างช่องว่างของความยุติธรรม: มองผ่าน 4 คดี ใน 2 ศาล ของนางหนุ่ม ไหมแสง” ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พษภาคม 2556 จากhttp://prachatai.com/journal/2009/11/26581

[2]เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ในการสนับสนุนงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

หมายเลขบันทึก: 554811เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท