CaseStudy#21 คนอพยพย้ายถิ่นที่เข้ามานานแล้ว แต่ยังคงไร้รัฐ กับสิทธิในหลักประกันสุขภาพ


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

กรณีศึกษาที่ 21 กรณีนางชิชะพอ คนอพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่าที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว แต่ยังคงไร้รัฐ กับสิทธิในหลักประกันสุขภาพ

นางชิชะพอ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) เกิดที่บ้านกะลิคี ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางด่านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ตั้งแต่เธออายุ 17 ปี (ประมาณพ.ศ.2512) ต่อมาย้ายมาอาศัยอยู่บ้านสามัคคี ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตากจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ของนางชิชะพอ คล้ายกับนางคำ ชื่นเพียรคือไม่ทราบถึงการสำรวจและจัดทะเบียนประวัติบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง และชุมชนบนพื้นที่สูง แต่โชคร้ายกว่านางคำคือ นางชิชะพอไม่ทราบ ไม่เข้าใจถึงการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ทำให้เธอยังคงตกเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เธอไม่สามารถมีหลักประกันสุขภาพ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 เหมือนกับคนอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ด้วยระบบ “บัตรขาว” หรือ “บัตรขาวเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก”[1] ที่ทางโรงพยาบาลอุ้มผางออกให้แก่ผู้ป่วยที่มารับบริการกลุ่มที่เป็นบุคคลไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล ชิชะพอจึงใช้บัตรขาวเป็นเอกสารแสดงตนของเธอด้วย

ปัจจุบัน นางชิชะพออายุ 48 ปี (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2555) แพทย์โรงพยาบาลอุ้มผางตรวจพบว่าเธอป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย End-stage renal disease (ESRD) โดยเธอสามารถเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล เพราะโรงพยาบาลอุ้มผางให้การรักษาและยังได้ดำเนินการส่งต่อไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่สอด โดยไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล

ไม่เพียงแต่กรณีของนางชิชะพอ ยังมีผู้ป่วยที่ “ตกหล่นหลักประกันสุขภาพ” และทางโรงพยาบาลต้องรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากพิจารณาจากฐานข้อมูลบัตรขาวที่ทางโรงพยาบาลอุ้มผางออกให้แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่มีเอกสารแสดงตน รวมถึงไร้สัญชาติ พบว่ามีจำนวนประมาณ 5,947 คน[2]

และมีข้อสังเกตว่าไม่ทุกโรงพยาบาลที่มีทางปฏิบัติรับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนคนไข้ที่มาใช้บริการซึ่งไม่มีหลักประกันสุขภาพหรือไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่าย โดยทางปฏิบัติส่วนใหญ่โรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยทำสัญญารับสภาพหนี้และมาผ่อนชำระในภายหลัง

ประเด็นปัญหา

สิทธิที่จะเข้าถึงและใช้สิทธิในหลักประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวกลุ่มต่างๆ ได้รับการกำหนดรับรองโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 โดยครอบคลุมถึงกลุ่มคนต่างด้าว 4 กลุ่มหลักคือ หนึ่ง-กลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลานานแล้ว และได้รับการสำรวจและบันทึกตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรประเภทท.ร.13 หรือเป็นผู้ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 6, สอง-กลุ่มบุคคลต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร หรือหรือเป็นผู้ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 6, สาม-กลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์ฯ หรือกลุ่ม เลข 0 กลุ่มที่ 2 บุคคลในสถาบันการศึกษา, กลุ่มที่ 3 คนไร้รากเหง้า และกลุ่มที่ 4 ผู้ทำคุณประโยชน์

ในขณะที่กลุ่มบุคคลตามยุทธศาสตร์ หรือกลุ่มเลข 0 กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว หรือญาติแต่ตกหล่นการสำรวจฯ ในอดีต ทำให้ไม่ได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 6 แต่คนกลุ่มนี้กลับ “ตกหล่น” หลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ด้วยเหตุผลที่ทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ไว้ก็คือในกลุ่มเลข 0 กลุ่มที่ 1 นี้ มีกลุ่มคนเพิ่งมาเข้ามาในประเทศไทย (new comer) เข้ามาปะปนอยู่ด้วย ทำให้ต้องคัดกรองกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่ออกไปก่อน อย่างไรก็ดี คู่ขนานกับกระบวนการคัดกรองดังกล่าว มีคำถามว่า หลักประกันสุขภาพที่ควรต้องขยายให้ครอบคลุมคนกลุ่มเลข 0 กลุ่มที่ 1 นี้ ควรจะต้องดำเนินการอย่างไร จำเป็นต้องมีมติคณะรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ อย่างไร

 

[1]อ่านเพิ่มเติม, “บัตรขาว-บัตรที่นำมาซึ่งหลักประกันสุขภาพ” โดยกรกนก วัฒนภูมิ นักกฎหมาย ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, สืบค้นได้ที่ http://co1la8ji.gotoknow.org/assets/media/files/000/790/245/original_2554-12-08WhiteCard.pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2556

[2]ข้อมูลจากอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ณ เดือนกรกฎาคม 2556 ดูเพิ่มเติม กรกนก วัฒนภูมิ, อ้างแล้ว, ดูเชิงอรรถ 23

หมายเลขบันทึก: 554810เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท