CaseStudy#20 ผู้อพพยพย้ายถิ่นรุ่นที่ 2 กับสิทธิในสัญชาติตามมาตรา 23


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

กรณีศึกษาที่ 20 นายกิสัน นามนคร[1]
คนรุ่นที่สองของผู้อพยพย้ายถิ่นจากประเทศลาวเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว กับสิทธิในสัญชาติไทยตามมาตรา 23 พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551

กิสัน เป็นลูกหลานของคนลาวอพยพที่หนีภัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศลาวเข้ามายังไทยในช่วงปีพ.ศ.2518 เขาเป็นหนึ่งในอดีตเด็กร่วมแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายความมั่นคงและกฎหมายสัญชาติที่จำกัดสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนหรือปว.337 ที่ต่อมาถูกนำไปเขียนใหม่ไว้ในพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 ดังนั้น แม้ว่ากิสันจะเกิดในประเทศไทยในพื้นที่อำเภอบุณฑริก เมื่อปีพ.ศ.2524 แต่เขาก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราว โดยครอบครัวของกิสันได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติในฐานะลาวอพยพ-หนึ่งในชนกลุ่มน้อย17 กลุ่มโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

จนกระทั่งมีการประกาศใช้พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมพ.รบ.สัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551ด้วยผลของมาตรา 23 ทำให้กิสันมีสิทธิในสัญชาติไทย โดยมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่กิสันเกิด เพียงแต่ว่าสิทธิในการใช้สัญชาติไทยจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกิสันผ่านกระบวนการพิสูจน์ว่าเขามีข้อเท็จจริงตรงตามที่มาตรา 23 กำหนดไว้จริง

ข้อเท็จจริงที่มาตรา 23 กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขมีด้วยกัน 2 ประเด็นหลักคือ ประการแรก-จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 และประการที่สองจะต้องมีข้อเท็จจริงดังนี้คือ จะต้องเป็นคนที่เกิดในดินแดนของรัฐไทย ก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535, ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรแล้ว และเป็นผู้ประพฤติดี

กิสันเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ว่าตนเองมีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามองค์ประกอบของการเป็นคนไทยตามมาตรา 23 โดยเตรียมเอกสาร หลักฐาน รายชื่อพยานบุคคล โดยกิสันอ้างคนตัดสายสะดือเป็นพยานในฐานะหมอตำแย อ้างเพื่อนบ้านอีก 2 คนซึ่งเป็นคนลาวอพยพด้วยกันในฐานะพยานที่รู้เห็นการเกิด เขายื่นคำร้องลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านต่อเทศบาลตำบลคอแลน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

ประเด็นปัญหา ภายหลังการรับคำร้อง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบคำร้องและหลักฐานประกอบ สอบปากคำพยานบุคคลแล้ว ก็แจ้งกับกิสันว่า ปัญหาการพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงมีเพียงประเด็นเดียว คือ เจ้าหน้าที่รัฐไม่เชื่อว่ากิสันเกิดในประเทศไทย เพราะ หนึ่ง-พยานที่กิสันอ้างว่าเป็นหมอตำแยนั้น ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหมอตำแย โดยหมอตำแยที่ทำคลอดตัวจริงได้เดินทางไปลี้ภัยในประเทศที่สามนานหลายปีแล้ว สอง-พยานบุคคลไม่ได้รู้เห็นว่าแม่คลอดกิสันออกมาจริง

 

[1]เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

หมายเลขบันทึก: 554808เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท