CaseStudy#12 การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของกะเหรี่ยงดั้งเดิม


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

กรณีศึกษาที่ 12 กรณีนายโคอิ ไม่มีนามสกุล กับการพิสูจน์ของความเป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิมในรัฐไทย

นายโคอิ หรือคออี้เกิดที่ลุ่มแม่น้ำพาชี บิดาชื่อมิมิ มารดาชื่อ นอดี ปัจจุบันอายุ 103 ปี เมื่อเป็นหนุ่ม ครอบครัวได้ย้ายมาตั้งรกรากที่บ้านบางกลอยบน ใกล้บริเวณที่เรียกว่าใจแผ่นดิน โดยใช้เวลาเดินเท้าหนึ่งวันเต็ม โดยตั้งบ้านอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างห้วยเศษจาน(คอลิ) และห้วยโป่ง (ม้อลอ)

นายโคอิได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับหน่อทิกิพู้ และมีลูกคนแรกเมื่อตนอายุ 27 ปี คือนายจอเงเง คนที่สอง คือกะเทรอ คนที่สามคือนายบุเรมิ เมื่อหน่อทิกิพู้เสียชีวิต นายโคอิได้อยู่กินฉันท์สามีภรรยากับนางนอตะกี มีลูกด้วยกัน 2 คนคือ 1.หน่อแอะ หรือนอแอ๊ะ 2.นายหน่อสะ

แม้การสำรวจจำนวนประชากรและครัวเรือนจะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัตนโกสินทร์ศก 128 แต่การสำรวจภายใต้หลักการที่ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำทะเบียนราษฎรทั่วราชาอาณาจักรนั้นเพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปีพ.ศ. 2499-2500 (ตามพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2499) แต่ด้วยสภาพของผืนป่าแก่งกระจานที่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยก็ยอมรับมาตลอดว่า ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ห่างไกลอำเภอหรือกิ่งอำเภอ ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา ครอบครัวนายโคอิจึงตกสำรวจการจัดทำทะเบียนราษฎรในครั้งนั้น

ในปีพ.ศ.2531 ที่มีการดำเนินการสำรวจทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านหรือท.ร.ชข ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ในปีพ.ศ.2531 ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลประชากรชาวเขาหรือโครงการสิงห์ภูเขา (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2527) ผู้เฒ่าโคอิจึงได้รับการบันทึกตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเป็นครั้งแรก โดยนายโคอิเป็นครอบครัวลำดับที่สามจากยี่สิบครอบครัวของบ้านบางกลอย 4  หรือเป็นหนึ่งใน 71 ครอบครัว โดยระบุว่าข้อมูลส่วนบุคคลของนายโคอิ ว่า “ชื่อนายโคอิ เป็นหัวหน้าครอบครัว เกิดเมื่อปีพ.ศ.2454 ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย พ่อชื่อ มิมิ แม่ชื่อพินอดี ทุกคนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และนับถือผี

ในระหว่างปีพ.ศ.2533-2534 กรมการปกครองได้มีโครงการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงและบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง (บัตรสีฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533) รวมถึงโครงการสำรรวจและเพื่อทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีเขียวขอบแดง) ซึ่งมีการดำเนินการในช่วงปีพ.ศ.2542  อย่างไรก็ดี การสำรวจทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในตัวเมือง ชาวบ้านจะต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านมายังตัวเมือง ซึ่งนายโคอิและครอบครัวบอกว่าตนและครอบครัวไม่ทราบถึงการสำรวจดังกล่าว ดังนั้นนายโคอิและครอบครัวจึงตกสำรวจทั้งสองครั้ง

วันที่ 6 พฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้สนธิกำลังร่วมกับหน่วยอื่นๆ ตามโครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชุมชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยกล่าวหาว่านายโคอิ เป็น “กะหร่าง หรือชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”

ข้อต่อสู้ของนายโคอิ ก็คือตนมิใช่กะหร่าง ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามายังดินแดนของรัฐไทย แต่นายโคอิกล่าวอ้างว่าตนเป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเกิดและอาศัยบนผืนป่าแก่งกระจานมาร่วมร้อยปี และหากพิจารณาจากท.ร.ชข. ที่จัดทำโดยกรมประชาสงเคราะห์แล้ว พบว่า นายโคอิ ซึ่งเกิดในปีพ.ศ.2454 นั้น เท่ากับว่านายโคอิ เกิดก่อนที่จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456

ประเด็นปัญหา     จะพิสูจน์อย่างไรว่านายโคอิ เกิดที่ผืนป่าแก่งกระจานจริง และนายโคอิเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยตามพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 หรือไม่ อย่างไร หรือการมีสัญชาติไทยของนายโคอิเป็นไปโดยหลักการใด

กรณีศึกษาที่ 2 นายโคอิ ไม่มีนามสกุล เป็นกรณีตัวแทนปัญหาการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยของคนดั้งเดิม

หมายเลขบันทึก: 554805เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท