CaseStudy#15-16 - การละเมิดข้ามพรมแดนกับการฟ้องคดี+การใช้กลไกของประชาคมอาเซียน


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

สถานการ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียน

กรณีศึกษาที่ 15  การใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของคนหนึ่งรัฐ หนึ่งสัญชาติ (ผู้มีสัญชาติไทย) ในการฟ้องร้องต่อโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากเขื่อนไซยะบุรี[1]

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้วที่ 1 พร้อมพวกรวม 37 คน ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีภูมิลำเนาอยู่อาศัย ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ 8 จังหวัดที่มีพื้นที่อยู่ติดแม่น้ำโขงหรือที่เรียกว่าจังหวัดลุ่มน้ำโขง โดยประกอบอาชีพเกษตรกร ค้าขายด้วยการทำร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำโขง จึงมีความผูกพัน สัมพันธ์ กับแม่น้ำโขงทั้งในการดำรงชีพและวิถีชีวิต ทั้ง 37 คนอ้างว่าตนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าไซยะบุรี ซึ่งจะก่อสร้างขึ้นบนแม่น้ำโขงในประเทศลาว บริเวณจังหวัดไซยะบุรี โดยพวกเขาทราบในเวลาต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงมีความประสงค์จะฟ้องร้องกฟฝ. จากการเข้าทำสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา

เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า ข้อเสนอแนะของกระทรวงพลังงานและการอนุญาตของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้กฟผ.เข้าทำสัญญาฯ นั้นไม่เป็นไปตามเงื่อนไขขั้นตอนแห่งรัฐธรรมนูญ ไม่ปฏิบัติตามกระบวนการรับฟังและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ขัดต่อ “ข้อความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน" ภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ขัดต่อหลักปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultationa and Agreement: PNPCA)ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมใดๆในแม่น้ำโขง ฯลฯ  จึงได้ยื่นฟ้องกฟผ. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, กระทรวงพลังงาน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4และคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ต่อศาลปกครอง

ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบเจ็ดและให้จำหน่ายออกจากสารบบความ[2]  โดยให้เหตุผลว่า มิใช่ “ผู้เดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเห็นว่าแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultationa and Agreement: PNPCA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้น้ำแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 แต่ศาลปกครองเห็นว่า กระบวนการ PNPCA นั้นเป็ฯการกระทำที่อาศัยอำนาจตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ มิใช่การกระทำของหน่วยงานรัฐที่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย การกระทำดังกล่าวจึงมิได้เป็นการกระทำทางปกครองหรือการดำเนินกิจกรรมทางปกครอง ข้อหานี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

 

กรณีศึกษาที่ 16 กรณีความพยายามใช้กลไกของประชาคมอาเซียนของบุคคลสัญชาติกัมพูชาต่อกรณีการละเมิดข้ามพรมแดนของนิติบุคคลสัญชาติไทย[1]

ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรจำนวน 676 ครอบครัวในอำเภอสเรอัมเบล จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับเวนคืนที่ดินโดยรัฐบาลกัมพูชา โดยไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบ การปรึกษาหารือ การประเมินผลกระทบต่างๆ รวมทั้งไม่มีแผนการโยกย้ายถิ่นฐานใดๆ  ต่อมารัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานที่ดินของชาวบ้านดังกล่าวให้เอกชน 2 รายเข้าทำประโยชน์คือ บริษัท Koh Kong Plantation จำกัด (KKPC) และบริษัท Koh Kong Sugar Industry จำกัด (KKSI) ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทลูกของบริษัทน้ำตาลขอนแก่น (ประเทศไทย) จำกัด (KSL) โดยบริษัท KSL (ไทย) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท Vewong Corp. ซึ่งเป็นนิติบุคคลสัญชาติไต้หวัน

กว่า 456 ครอบครัวที่สูญเสียที่ดินกว่า 5,000 เฮกตาร์ และ 220 ครอบครัวไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหายได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้ยกเลิกสัมปทาน ขณะนี้ยังคงอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลซึ่งเป็นเวลานานกว่า 6 ปีแล้ว

ในปีพ.ศ.2555 ที่ผ่านมาชาวบ้านในอำเภอสเรอัมเบล จึงได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงบริษัท KSL, ถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 
ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย (National Human Rights Commission) เพื่อให้มีการตรวจสอบความรับผิดข้ามพรมแดนของบริษัทเอกชนไทย

นอกจากนี้ เนื่องบริษัท KSL (ไทย),KKSI (กัมพูชา) และ KKPC (กัมพูชา) ยังเป็นคู่สัญญากับ American Sugar Refining (ASR) นิติบุคคลสัญชาติอเมริกาเพื่อส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดยุโรป ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงบริษัท ASR เพื่อให้ทบทวนการดำเนินธุรกิจ เรียกร้องให้สภาพยุโรปเข้าทบทวนมาตรการเริ่มต้นทางการค้า รวมถึงทำหนังสือถึง BONSUCRO หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่รับรองการซื้อขายน้ำตาลที่ได้ส่งเสริมการจ้างงงานที่เป็นธรรมและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ประเด็นปัญหา      สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟ้องคดีเป็นสิทธิในสถานะบุคคลกลุ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน สำหรับกรณีศึกษาทั้งสองกรณีข้างต้นพลเมืองอาเซียนซึ่งมีสัญชาติไทย และสัญชาติกัมพูชาจะสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมใดได้บ้าง และอย่างไร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิที่ถูกละเมิดในลักษณะข้ามพรมแดน หรือการเข้าถึงความยุติธรรมกลไกของประชาคมอาเซียนในกรณีศึกษาที่ 14 และ15

[1]สรุปความจากคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 ระหว่างนายนิวัฒน์ ร้อยแก้วที่ 1 กับพวกรวม 37 คน ผู้ฟ้องคดี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่  1 กับพวกรวม 5 คนผู้ถูกฟ้องคดี

[2] คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 คดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ส.59/2556

[3] การนำเสนอกรณีศึกษาการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน โดยเจ้าหน้าที่ Earth Rights International  วิทยากรรับเชิญในห้องเรียนวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ภาคการศึกษาที่ 2/2555 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

หมายเลขบันทึก: 554800เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท