CaseStudy#11 การเดินทางออกและกลับเข้ามาของคนไร้สัญชาติ


หนึ่งใน 26 กรณีศึกษาเพื่อการทำความเข้าใจสถานการ์ณ์ปัญหาการเข้าถึงและใช้สิทธิในสถานะบุคคลของประชาชนอาเซียนที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทย

กรณีศึกษาที่ 11 นายสุทิตย์ ซาจ๊ะ[1] กับกระบวนการเพื่อขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศของคนไร้สัญชาติ

หลังจากที่สุทิต ซาจ๊ะ เข้าร่วมโครงการโครงการส่งเสริมความร่วมมือและบทบาทคนรุ่นใหม่ในการผลิตและเผยแพร่สื่อภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนคนชายขอบ (หรือโครงการเกี่ยวก้อย 2) จัดโดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน  หนังสั้น 8 นาที “เข็มขัดกับหวี” คือผลงานของสุทิต หลังจากการอบรม

หนังสั้นเรื่องนี้ได้มีโอกาสฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหนังไทย และชนะการประกวดในสาขาช้างเผือกพิเศษ ความหมายของมันก็คือ มันคือโอกาสที่สุทิตจะได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน ภูมิภาคเอเชีย-โอเชียนเนีย และอเมริกาเหนือ (Kizuna (Bond) Project) เพื่อไปร่วมงานประกวดเทศกาลภาพยนตร์เยาวชนเอเชียที่เกาะมินามิ อาวาจิ จังหวัดเฮียวโง ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2555

สุทิตได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติประเภทผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 ก.) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวสิบสามหลักขึ้นต้นด้วยเลข 0 แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วสุทิตอยู่ระหว่างการพิสูจน์ว่ามีสัญชาติไทยตามบิดาและมารดา(ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด) กับเทศบาลตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยสุทิตมีผลดีเอ็นเอยืนยันความเป็นมารดา-บุตรแล้ว

อย่างไรก็ดี การรอกระบวนการรับรองว่าสุทิตมีสัญชาติไทยอาจทำให้สุทิตเสียโอกาสไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น โดยความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และการสนับสนุนจากโครงการบางกอกคลินิกฯ การขออนุญาตออกนอกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงออกไปจากประเทศไทย และกลับเข้ามาอีกครั้งจึงจำเป็นต้องเริ่มต้นบนฐานของเอกสารพิสูจน์ตนที่สุทิตมี คือ บัตรเลข 0

ประเด็นปัญหา      แม้สุทิตจะไม่ใช่เยาวชนไร้สัญชาติคนแรกที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศและกลับเข้ามายังประเทศไทยอีกครั้ง แต่กล่าวได้ว่าเป็นกรณีแรกของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้อำเภอเชียงดาวหลังจากพิจารณาประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 แล้ว มีความเห็นว่า ประกาศฯ ฉบับดังกล่าว แม้จะกำหนดหลักการรวมถึงกระบวนการของการขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดที่บุคคลผู้ถือเลข 0 ถูกควบคุม แต่ในประกาศฯ ดังกล่าวไม่ระบุถึงรายละเอียดของการขออนุญาตออกไปและกลับเข้ามายังประเทศไทย

 

นอกจากนี้ จากกรณีศึกษาที่ 5  นาย ก. (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า

มีข้อเท็จจริงว่า นาย ก. ต้องการจะขอใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ จึงได้ไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานขนส่งจังหวัดตาก โดยนาย ก. มีเอกสารประกอบเพียงใบแทนใบอนุญาตทำงาน และหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary passport) จึงถูกสำนักงานขนส่งจังหวัดตากปฏิเสธ โดยเรียกให้นาย ก. นำหลักฐานที่แสดงว่ามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยมาแสดง

ประเด็นปัญหา    กรณีศึกษาที่ 5 กรณี นาย ก. (นามสมมติ) และกรณีนายสุทิตย์ ซาจ๊ะ คือกรณีตัวแทนปัญหาการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในเสรีภาพการเดินทาง

 


[1]
เป็นหนึ่งในงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่มูลนิธิหนังไทย ซึ่งผู้ศึกษาวิจัยดำเนินการในนามของสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

หมายเลขบันทึก: 554798เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2013 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท