ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

กำเนิดรัฐมองตามหลักปฏิจจสมุปบาท


กำเนิดรัฐมองตามหลักปฏิจจสมุปบาท

                   ทฤษฎีทางการเมืองต่าง ๆ เมื่อจะอธิบายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางการเมือง  มักจะมีข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับปฐมสภาวะ  หรือ สภาพเริ่มต้นดั้งเดิมของสิ่งนั้นๆ  ในทางพระพุทธศาสนาได้อธิบายว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นเองอย่างลอย ๆ หรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างสรรค์มาจากเทพเจ้าผู้มีอำนาจเหนือมนุษย์ธรรมดาสามัญ  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาก็เพราะมีเหตุมีปัจจัยอิงอาศัยกันและกันจึงเกิดมีขึ้น  และการนำเอาหลักปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายถึงกำเนิดรัฐนั้น  มิได้หมายความว่าจะเป็นการอธิบายถึงปฐมเหตุทีเดียว  แต่เป็นการชี้ให้เห็นปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดรัฐขึ้นมา  เหมือนกับการอธิบายถึงปัจจัยที่ให้ต้นไม้งอกขึ้นมา  มิได้หมายถึงแค่เพียงเมล็ดพืช แต่ยังหมายถึง ดิน น้ำ ปุ๋ย อากาศ อุณหภูมิอีกด้วย  ว่าแต่ละอย่างล้วนเป็นปัจจัยของการเกิดขึ้นของต้นไม้ด้วยกันทั้งสิ้น  และต่างก็มีความสัมพันธ์ต่อกัน[๑]

                การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้นนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทบ้าง   อิทัปปัจจยตาบ้าง   หรือเรียกว่าหลักปัจจยาการ  ซึ่งเป็นหลักธรรมหมวดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในรูปของกฎธรรมชาติ  หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา  หลักธรรมหมวดนี้มีความสำคัญมาก  จะเห็นได้จากพระพุทธพจน์ที่ว่า    “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท  ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม  ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจสมุปบาท”[๒]แต่เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจค่อนข้างยาก  เพราะเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง  ดังพระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า

               ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง    และปรากฎเป็นธรรมลึกซึ้ง  เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจไม่แทงตลอดซึ่งปฏิจจสมุปบาทนี้แหล่ะ   หมู่สัตว์จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่งขมวดเหมือนกลุ่มด้ายที่ขอดเป็นปม  เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ผ่านพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปไม่ได้[๓]

                   แม้แต่พระพุทธองค์เองหลังจากตรัสรู้แล้ว     ก็ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทนี้ถึง ๗ วัน ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ประกอบ ๑๒ ประการ คือ

                  อวิชชา - สังขาร -วิญญาณ - นามรูป - สฬายตนะ - ผัสสะ - เวทนา - ตัณหา - อุปาทาน - ภพ - ชาติ - ชรามรณะ      ( มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นตัวพลอยผสม)                    ในการอธิบายปฏิจจสมุปบาทแบบประยุกต์  พระธรรมปิฏกได้ให้ความเห็นว่า “ไม่จำเป็นต้องอธิบายตามลำดับและเต็มรูปคือชักตั้งแต่ต้นไปหาปลายเสมอไป  อาจจะเริ่มต้นที่องค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งในระหว่างก็ได้ สุดแท้แต่องค์ประกอบข้อไหนจะกลายเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา”[๔]เช่น  อาจจะเริ่มต้นที่ตัณหา อุปาทานก็ได้   และไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบที่ตายตัวหรือครบทั้ง ๑๒ ประการอย่างข้างต้นก็ได้

               กำเนิดรัฐตามแนวคิดทางพระพุทธศาสนานิยมอธิบายค่อนไปในทางทฤษฎีธรรมชาติ  คือ เริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว  พิจารณาจากธรรมชาติของมนุษย์   เพราะมนุษย์ตามธรรมชาตินั้นจะรักตัวเองมากกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก  มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับการรักตนของมนุษย์อย่างมากมาย  เช่น  “นตฺถิ อตฺตสมํ  เปมํ  ความรักเสมอด้วยตนไม่มี”[๕]“อตฺตาหิ  ปรมํ  ปิโย  ตนเองเป็นที่รักอย่างยิ่ง”[๖]เป็นต้น  เมื่อมีความรักตัวเองมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน  เมื่อเห็นแก่ตัวก็มักจะกระทำการต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง  ในสังคมเมื่อต่างคนต่างก็เห็นแก่ตัว  ทำให้เกิดความเลวร้ายขึ้นในสังคม ซึ่งความเลวร้ายในสังคมนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดรัฐขึ้นมา  เมื่อใช้หลักปฏิจจสมุปบาทมาพิจารณาถึงธรรมชาติของมนุษย์  จะเห็นได้ว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ของมนุษย์นั่นเอง  ทำให้เกิดวงจรที่เรียกว่าไตรวัฏฏ์[๗] คือ

              ๑) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ทั้งสามตัวนี้จัดเป็นกิเลสที่เป็นสาเหตุผลักดันให้มนุษย์ คิด ปรุงแต่งการกระทำต่าง ๆ เป็นวงจรที่เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์

               ๒)  การกระทำต่าง ๆ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย สังขาร (กรรม) ภพ เป็นวงจรของกรรม เรียกว่า กรรมวัฏฏ์

              ๓) สภาพที่เป็นผลจากการปรุงแต่งของกรรม และกลับเป็นปัจจัยปรุงแต่งเสริมสร้างกิเลสต่อไปได้อีก  ซึ่ง ประกอบไปด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็นวงจรของวิบาก  เรียกว่า วิปากวัฏฏ์

               หลักปฏิจจสมุปบาทตามแนวนี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนธรรมที่เชื่อมต่อกัน  ระหว่างความเป็นไปในจิตใจของมนุษย์กับความเป็นไปภายนอก เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ชี้ให้เห็นที่มาแห่งปัญหา  ความทุกข์ หรือความชั่วร้ายต่าง ๆ ในสังคมที่เกิดจากกิเลสของมนุษย์  อย่างในมหานิทานสูตร[๘] ซึ่งเป็นพระสูตรสำคัญที่อธิบายปฏิจจสมุปบาทไว้ค่อนข้างที่จะละเอียด   พระพุทธเจ้าได้แสดงหลักปัจจยาการทั้งที่เป็นไปภายในจิตใจของบุคคล  และที่เป็นไปในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือในทางสังคม  ซึ่งปฏิจจสมุปบาทแห่งทุกข์หรือความชั่วร้ายในสังคม  ก็ดำเนินไปในวิถีเดียวกันกับปฏิจจสมุปบาทแห่งทุกข์ของชีวิตมนุษย์นั่นเอง  แต่เริ่มแยกแสดงอาการที่เป็นไปภายนอก  ตั้งแต่ตัณหาเป็นต้นไป  ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

                   อานนท์  ด้วยประการดังนี้แล   อาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหา  (ความทะยานอยาก)  อาศัยตัณหาจึงเกิดปริเยสนา (การแสวงหา)  อาศัยปริเยสนาจึงมีลาภะ (การได้)อาศัยลาภะจึงเกิดการตกลงใจ  อาศัยการตกลงใจจึงมีฉันทราคะ (ความชอบชิดติดพัน) อาศัยฉันทราคะจึงมีอัชโฌสาน (การพะวง หมกมุ่น ฝังใจ) อาศัยอัชโฌสานจึงมีปริคคหะ (การยึดถือครอบครอง)   อาศัยปริคคหะจึงมีมัจฉริยะ (ความตระหนี่) อาศัยมัจฉริยะจึงมีอารักขา (ความป้องกัน หวงแหน) อาศัยอารักขาสืบเนื่องมาจากการอารักขา จึงมีการถือไม้ ถือมีด  การทะเลาะ  การแก่งแย่ง วิวาท   การด่าว่า มึง มึง การส่อเสียด มุสาวาท บาปอกุศลธรรม  (สิ่งชั่วร้าย) ทั้งหลายเป็นอเนกย่อมเกิดมีพร้อมด้วยอาการอย่างนี้[๙]

              แสดงเป็นกระบวนธรรม ๒ สาย คือ กระบวนการเกิดทุกข์ของชีวิต และขบวนการเกิดทุกข์หรือความชั่วร้ายในสังคมให้ดูง่าย ๆ คือ

              ๑)  อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา >ตัณหา > ภพ > =ชาติ > ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ  = กระบวนทุกข์ของชีวิต

               ๒) อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > นามรูป > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา > ปริเยสนา > ลาภะ > วินิจฉัย > ฉันทะราคะ > อัชโฌสาน > ปริคคหะ > มัจฉริยะ > อารักขะ > การทะเลาะ > แก่งแย่ง วิวาท ส่อเสียด ความชั่วร้ายต่าง ๆ อีกมากมายเกิดตามมา  ฯลฯ  =  กระบวนทุกข์ของสังคม

                ปฏิจจสมุปบาทในแนวนี้แสดงกระบวนธรรมที่เชื่อมต่อระหว่างความเป็นไปภายในจิตใจของบุคคล  กับความเป็นไปภายนอกเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์  ชี้ให้เห็นที่มาของปัญหา ความทุกข์ หรือความชั่วร้ายต่าง ๆ ในสังคม  ที่เกิดจากกิเลสของคน  ในพระสูตรนี้มิได้อธิบายถึงรายละเอียดเจาะจงไปถึงกำเนิดรัฐโดยตรงแต่อย่างใด  เป็นเพียงแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของสาเหตุของการเกิดรัฐ  ส่วนพระสูตรที่อธิบายเกี่ยวกับกำเนิดรัฐนั้นจะมีปรากฎในพระสูตรอื่น ๆ เช่น อัคคัญญสูตร จักรวัตติสูตร เป็นต้น

               ในพระพุทธพจน์นี้เห็นได้ว่ากระบวนการความเลวร้ายในสังคมเกิดสืบเนื่องมาจากตัณหาคือความทะยานอยาก  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์  ปัจจัยภายในของมนุษย์ในช่วงเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหานี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญมากในการส่งผลสืบเนื่องออกมา  ทำให้เกิดพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์  ตลอดจนวิวัฒนาการของสังคมและการกำเนิดขึ้นมาของรัฐ  เพราะต้องมีเวทนาจึงจะมีตัณหาขึ้นมาได้  แต่เมื่อมีเวทนาแล้วไม่จำเป็นต้องมีตัณหาก็ได้  ถ้าหากอาศัยสติปัญญาหรือสติสัมปชัญญะ  ก็สามารถเสวยเวทนาโดยปราศจากตัณหาได้   ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นการตัดวงจรแห่งวัฏฏะให้ขาดไปได้

                กล่าวได้ว่ากิเลสตัณหาสร้างสังคมมนุษย์ขึ้นมา   โดยเริ่มต้นตั้งแต่สร้างคนแต่ละคน  ทำให้คนแต่ละคนมีความสนใจและมีปฏิกริยาต่อสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันออกไป   ทำให้ชายหญิงมีความรู้สึกพึงพอใจซึ่งกันและกัน  ต้องการสนองตอบความต้องการทางเพศ  ปรารถนาเป็นเจ้าของในกันและกัน  จึงมีการแต่งงาน มีครอบครัว และมีการจัดระเบียบครอบครัวเครือญาติ   มีการเคารพกันตามอาวุโส  เมื่อมีครอบครัวรวมกันมาก ๆ ก็จะเกิดเป็นชุมชน  ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดก็ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำของชุมชน  และทำหน้าที่ในการปกครองสมาชิกในสังคมของตน    เพราะคนในสังคมนั้นมีตัณหาหรือความต้องการที่แตกต่างกันออกไป  ต่างก็แสดงความต้องการของตนออกมาไม่เหมือนกัน  คนที่มีความต้องการรุนแรงก็อาจจะทำอันตรายหรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นภายในสังคมได้  เพียงเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่จะมาสนองความต้องการของตนเอง  ซึ่งเป็นสาเหตุของความเลวร้ายในสังคม  รัฐจึงเกิดขึ้นมาเพื่อขจัดหรือควบคุมความเลวร้ายนี้

                ในทางพุทธศาสนาเห็นว่า  ความบกพร่องของจิตมนุษย์เป็นมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเลวร้ายขึ้นทั้งแก่ตัวเองและในสังคม   การปล่อยให้รากเง่าของความชั่ว  คือ ความอยากเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์  ทำให้จิตใจไร้อำนาจที่จะควบคุมเจตจำนงของตนเอง  ต้องเป็นไปตามกระแสของรากเง่าความชั่วที่ชักจูงไป  การที่รากเง่าความชั่วอย่างใดอย่างหนึ่งมีพลังเหนือจิตใจของมนุษย์โดยปราศจากการรู้เท่าทันและการควบคุมอย่างถูกต้อง  ทำให้มนุษย์ต้องกระทำไปตามกระแสที่ถูกชักนำ  ถึงแม้จิตมนุษย์จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเลวร้ายขึ้นก็ตาม  แต่อิทธิพลภายนอกก็เป็นมูลเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง  ที่จะกระตุ้นให้มนุษย์กระทำสิ่งที่เลวร้าย  โดยมาจุดประกายไฟแห่งกิเลสให้เกิดขึ้น ปัจจัยที่ผลักดันให้มนุษย์สร้างพฤติกรรมต่าง ๆ เรียกว่า “กาม”[๑๐]ซึ่งมี ๒ ส่วนด้วยกัน คือ

              ๑) เหตุภายในที่กระตุ้นให้มนุษย์กระทำ  คือ ความใคร่ ความอยาก ความปรารถนา เรียกว่า  กิเลสกาม

              ๒) เหตุที่ตัดสินให้กระทำ  คือ วัตถุอันน่าใคร่ สิ่งที่น่าปรารถนา  เรียกว่า วัตถุกาม

               ความเป็นไปต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิวัฒนาการของสังคม หรือ กำเนิดของรัฐ  เป็นผลแห่งความสัมพันธ์หรือการกระทำต่อกันของมนุษย์  ภายในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง  พูดอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นผลแห่งวิวัฒนาการที่เกิดจากความเป็นปัจจัยอาศัยกันและกันระหว่างมนุษย์ สังคม และธรรมชาติทั้งหมด  เช่น เวทนาที่มนุษย์ได้รับต้องอาศัยผัสสะ  ซึ่งมีองค์ประกอบทางสังคมหรือทางธรรมชาติแวดล้อมเป็นส่วนร่วมกับองค์ประกอบภายในที่มีอยู่  เช่น สัญญา เมื่อได้เวทนาแล้วก็เกิดตัณหาขึ้น  มีพฤติกรรมที่อาจจะแสดงออกโดยการกระทำต่อมนุษย์อื่น หรือ ต่อสภาพแวดล้อม  รัฐจึงเกิดมาจากสภาพที่ปัจจัยต่าง ๆ อิงอาศัยกันและกัน  มิได้เกิดมาจากมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว  แต่ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมก็มีส่วนในการเกิดขึ้นด้วยเหมือนกัน

                หลักปฏิจจสมุปบาทนี้  แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุเป็นปัจจัยต่อกันในรูปกระแส   ในภาวะที่เป็นกระแสนี้จึงไม่มีมูลการณ์หรือต้นกำเนิดเดิมแท้  ตัวตนที่แท้จริงไม่มี   ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้ย่อมไม่มี”[๑๑] เป็นความจริงสัมพัทธ์ที่เรียกว่า Relative True  ในอัคคัญญสูตรที่แสดงถึงการกำเนิดรัฐ  ก็แสดงออกมาในรูปของปฏิจจสมุปบาท คือ

                  คนเกียจคร้านนำข้าวมาเก็บสั่งสมและเกิดความนิยมทำตามกัน à    เกิดการปักปันกั้นเขตแบ่งส่วนข้าว à คนโลภขโมยส่วนของคนอื่นมาเพิ่มแก่ตน (เกิดอทินนาทาน )à เกิดการตำหนิ ติเตียน การกล่าวเท็จ การทำร้ายลงโทษ การต่อสู้  à ผู้มีปัญญาเห็นความจำเป็นต้องมีผู้ปกครอง เกิดการเลือกตั้ง เกิดมีคำว่ากษัตริย์  à   มีคนเบื่อหน่ายความชั่วร้ายในสังคม  คิดลอยล้างบาป ไปอยู่ป่าบำเพ็ญฌาน  บางพวกอยู่ใกล้ชุมชน เล่าเรียนเขียนตำราเกิดมีคำว่าพราหมณ์ เป็นต้น ---  คนมีครอบครัวประกอบอาชีพประเภทต่าง ๆ เกิดมีคำว่า แพศย์ --- คนนอกจากนี้ซึ่งประพฤติเหลวไหล เลวร้ายถูกเรียกว่า ศูทร à คนทั้งสี่จำพวกนั้น บางพวกละเลิกขนบธรรมเนียมของตนสละเหย้าเรือนออกบวช เกิดมีสมณะ[๑๒]

               เห็นได้ว่ากระบวนการกำเนิดรัฐนั้นสืบเนื่องมาเป็นกระบวนการ  อาศัยปัจจัยหลายด้านมาเป็นส่วนประกอบ ทั้งปัจจัยภายในตัวมนุษย์เองและปัจจัยภายนอก เช่นเดียวกับการกำเนิดรัฐในทางรัฐศาสตร์ที่ว่า “รัฐในขั้นสุดท้ายจึงเป็นผลของปัจจัยหลายประการ เช่น
ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และการทหาร”[๑๓]

                  สรุปกำเนิดรัฐตามหลักปฏิจจสมุปบาท  ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ รัฐเกิดขึ้นมาจากกระบวนการที่อิงอาศัยกันเป็นรูปกระแส   ถ้าหากกล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ก็จะมีความเห็นแก่ตัวเป็นพื้นฐาน เมื่อเห็นแก่ตัวก็กระทำในสิ่งต่าง เพื่อสนองความต้องการของตนเอง  ทำให้เกิดความเลวร้ายขึ้นในสังคม  แต่ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นี้เกิดมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานของมนุษย์   สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดสืบเนื่องมาจากตัณหา ก็เกิดตามมาเป็นกระบวนการ    ทำให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ ขึ้นในสังคม  แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายใน (กิเลสกาม) ของมนุษย์ กับ สภาพแวดล้อมภายนอก (วัตถุกาม) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรัฐขึ้นมา รัฐ คือทางเลือกของสังคมที่สมาชิกของรัฐพร้อมใจกันเลือกขึ้นมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาความเลวร้ายที่เกิดจากกิเลสตัณหาของมนุษย์นั่นเอง

 อ้างอิง

[๑] พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต) , พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่ ๗ ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย , ๒๕๔๑ ) , หน้า ๘๐.

[๒] ม.มู.  ๑๒ / ๓๔๖ / ๒๕๓.

[๓] สํ.นิ.  ๑๖ / ๒๒๕ / ๙๑.

[๔] พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต)  อ้างแล้วเชิงอรรถที่  ๒๖  หน้า ๘๓.

[๕] สํ.ส.  ๑๕ / ๒๘ / ๘.

[๖] องฺ.นวก. ๒๓ / ๓๐ / ๙๒.

[๗] วิสุทธิ.  ๓ / ๑๙๘.

[๘] ที.ม.  ๑๐ / ๕๙ / ๕๒ - ๕๓ ; องฺ.นวก. ๒๓ / ๒๒๗ / ๔๑๓.

[๙] อภิ.วิ.  ๓๕ / ๑๐๒๓ / ๑๗๙ - ๑๘๐.

[๑๐] ขุ.มหา.  ๒๙ / ๒ / ๑.

[๑๑] สํ.นิ.  ๑๖ / ๒๒๔ - ๒๒๕ / ๙๐ - ๙๑.

[๑๒] พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต) , พุทธธรรมฉบับปรับปรุงและขยายความ พิมพ์ครั้งที่ ๗ ( กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย , ๒๕๔๑ ) , หน้า ๘๐.

[๑๓] อานนท์  อาภาภิรม , หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ , ๒๕๒๘ ) , หน้า  ๒๔

หมายเลขบันทึก: 554389เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตท่านอาจารย์นำข้อมูลไปใช้ประกอบในการทำรายงานครับ ป.โท สังคมวิทยา จำลอง  ศรีจำรัส และ สารภี  สุทธิธรรม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท