ระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานภายในประเทศสิงค์โปร์ : มองเขาแล้วย้อนมองตัวเราเอง!!!


ผมได้รับเกียรติจากโครงการความร่วมมือไทยสิงคโปร์ให้ไปร่วมบรรยายในคอร์สอบรมนานาชาติ Sustainable Development and Environmental Management ที่จัดขึ้น ณ. Nanyang Technology University ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2556 โดยตัวผมเองนั้นบรรยายวันที่ 14 พฤศจิกายน หัวข้อเรื่อง Concept and Environmental Management Tool for Sustainable Development (Theory and Case Study of Thailand) ระหว่างที่มีโอกาสได้อยู่ประเทศสิงคโปร์เช้าวันพฤหัสบดีที่ 14 ก่อนไปบรรยายได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ The Straits Time พบบทความในคอลัมน์หนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็เลยอย่างนำมาเขียนเล่าสู่แลกเปลี่ยนกัน หัวข้อของบทความนี้คือ Look Beyond Qualification, Hire candidates with the best character เนื้อหาภายในบทความเปิดด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติแนวคิดของโรงเรียนระดับ Top ของประเทศสิงคโปร์ที่เริ่มเปลี่ยนแนวคิดของการรับนักศึกษาเข้าเรียนเพียงแค่ความเก่งกาจในการทำข้อสอบ และเกรดเพียงเท่านั้น แต่ทว่าโรงเรียนระดับ Top เหล่านี้เริ่มที่จะเลือกดูลักษณะเฉพาะ (Character) การปรับตัว (Resilience) และความสามารถในการเป็นผู้นำ (Leadership) ของนักเรียนที่ต้องการเข้าเรียนเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้มองไปไกลถึง output ที่จะเกิดขึ้นจากคุณภาพของผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนของตน ที่จะสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ทั้งภายในประเทศสิงคโปร์ และต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื้อหาตอนกลางบทความแสดงให้เห็นถึงข้อมูลจากการสำรวจบริษัทภายในประเทศสิงคโปร์มากกว่า 4,000 บริษัท ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของบริษัทที่ให้ข้อมูลเชื่อว่าตนมีกระบวนการการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานที่ยังไม่มีประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ พูดง่ายๆคือกระบวนการคัดเลือกพนักงานของบริษัทยังมีจุดบกพร่องอยู่มากทำให้ได้พนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทในอนาคต ถึงแม้ว่าพนักงานดังกล่าวจะจบมาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงก็ตาม ด้วยเพราะกระบวนการคัดเลือกพนักงานแบบเดิมๆนั้นมุ่งเน้นการคัดเลือกที่เพียงทักษะ คุณสมบัติพื้นฐาน และประสบการณ์เพียงเท่านั้น บทความนี้เสนอแนะทางออกทิ้งท้ายด้วยว่า บริษัทระดับ Top ในประเทศสิงคโปร์เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการคัดเลือกพนักงานเพื่อให้ได้พนักงานที่ตรงต่อลักษณะการทำงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้โมเดลที่มีชื่อว่า CAAP ได้แก่

Culture fit เลือกพนักงานทีมี potential ในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร หรือทีมงาน

Attitude เลือกพนักงานที่มีทัศนคติเชิงบวก ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค (พูดง่ายๆก็คืออึด) ชอบความท้าทาย และปาวารณาตนที่จะทำงานท้าทายเหล่านั้นเพื่อองค์กร

Aptitude เลือกพนักงานที่พร้อมจะเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการเรียนรู้งาน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับบุคคลรอบข้าง เรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

Personality ลักษณะเฉพาะบุคคล ได้แก่ ความมีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ต่องานของบุคคลรอบข้าง

ทั้งหมดที่ผมอ่านบทความนี้ทำให้สะท้อนถึงระบบการศึกษาภายในประเทศไทย ขนาดประเทศสิงคโปร์ที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาที่ดีมากๆ อยู่ในอันดับหนึ่งของอาเซียนแล้ว เขาเองยังไม่หยุดที่จะปรับเปลี่ยนพัฒนาให้เข้ากับระบบการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ด้วยตระหนักว่านักเรียน นักศึกษาที่จบจากสถาบันตนนั้นจำเป็นต้องออกไปเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงเป็นจิ๊กซอลส์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคนที่มีความพร้อมสู่ตลาดแรงงานเหล่านั้น เมื่อตลาดแรงงานได้กลุ่มคนที่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมกับการทำงาน ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพงานที่ดีขึ้น เป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาของประเทศ เมื่อหันมองย้อนมาถึงระบบการศึกษาของบ้านเราเอง ผมไม่แน่ใจว่าเรามีแนวคิดเหมือนกับประเทศสิงคโปร์มากน้อยแค่ไหน สถาบันการศึกษาของเรามุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงานได้ตรงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ในส่วนตัวผมคิดว่าถึงเวลาแล้วครับที่บ้านเราต้องเอาจริงเอาจังกับการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาของเราสักที ไม่เช่นนั้นเราคงเป็นอันดับท้ายสุดของอาเซียนภายในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน “สุขสันต์วันลอยกระทงครับ”

                                                                   รศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

                                                                   17 พฤศจิการยน 2556

หมายเลขบันทึก: 553838เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 20:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...บ้านเมืองเรา...ต่างคน ต่างทำ...ต่างคน ต่างคิด และต่างคน ต่างพูดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท