การแข่งขันด้านโลจิสติกส์ของภาคใต้


การแข่งขันด้านโลจิสติกส์เมื่อเข้าสู่ AEC

            คำว่าโลจิสติกส์เป็นคำที่ฮิตขึ้นมาในประเทศไทยประมาณสักสิบกว่าปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเจอผู้บริหารของไปรษณีย์เล่าให้ฟังถูกจับไปเคี่ยว(ด้วยการอบรม) เพิ่งจะซึ้งและเข้าใจว่าระบบไปรษณีย์เป็นกระบวนการของโลจิสติกส์ จำได้ว่าผู้ที่สรุปคำว่าโลจิสติกส์ได้ชัดเจน(ในความเห็นของผู้เขียน) ก็คือผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโลจิสติกส์ ของสถาบันพระจอมเกล้าธนบุรี ท่านสรุปสั้น ๆว่าโลจิสติกส์คือขบวนการจัดเก็บ รวบรวม กระจาย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ วัตถุดิบ ส่วนผสม การบรรจุ การไหลลื่นของข้อมูล ในการทำอุตสาหกรรม ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์ ทั้งสิ้น สินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดไม่สามารถเดินไปหาผู้บริโภคด้วยตัวสินค้าเอง ต้องอาศัยกระบวนการของโลจิสติกส์ ดังนั้นในราคาสินค้าทุกตัวจะมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์แฝงอยู่ในสินค้าทุกตัว ในอดีตในยุคสงครามเย็น มหามิตรอเมริกาบอกว่าประเทศจีนเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เป็นภัยต่อชาวโลก ไม่ให้ทำธุรกรรมค้าขายด้วย ประเทศไทยเป็นมิตรที่ดีของสหรัฐอเมริกาทำตามที่มหามิตรบอกทุกประการ เราไม่ทำธุรกรรมค้าขายกับประเทศจีน สินค้าจากจีนออกมาทางฮ่องกงโดยทางเรือ มาขึ้นที่ท่าเรือปีนัง(มาเลเซียกลัวคอมมิวนิสต์มากกว่าไทย แต่ธุรกิจเป็นธุรกิจ) สินค้าจากจีนก็ทะลักมาทางด่านปาดังเบซาร์ ดังนั้นในยุคนั้นอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาจึงเป็นสวรรค์ของนักช้อปปิ้งทั้งประเทศ ใครต่อใครอยากจะจัดประชุมที่หาดใหญ่เพราะจะได้ไปหาซื้อสินค้าราคาถูก พอสงครามเย็นยุติลง มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีที่มีเสียงในสภาเพียง  18เสียงได้เปิดศักราชไปจับมือกับประธานเหมาเจอตุง และเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศจีน สินค้าจากจีนได้ไหลเข้าประเทศไม่ว่าทางลำน้ำโขง หรือเมื่อจีนทำถนนเชื่อมจีนตอนใต้ลงมาทางลาว ต้องมารอแพขนานยนตร์ข้ามลำน้ำโขงจาก แขวงบ่อแก้วของลาวเข้าไทยทางอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในปีหน้าสะพานมิตรภาพเชื่อมลาวกับไทยจะเสร็จ (ขนาดที่ยังไม่เสร็จเราจะเห็นผักผลไม้ของจีนเต็มไทยโดยผ่านเส้นทางที่ผู้เขียนเล่าข้างต้น) ผู้เขียนมีโอกาสขึ้นไปดูเส้นทางจากแขวงบ่อแก้วของลาวจนถึงคุนหมิงผ่านทางสิบสองปันนา ได้พบปะกับเจ้าของโลจิสติกส์ในคุนหมิง ที่ทุกวันนี้บรรทุกผักผลไม้จากคุนหมิงผ่านสิบสองปันนา(เส้นทางในจีนหากผ่านภูเขาจีนจะเจาะภูเขา ผ่านหุบเหว จีนทำสะพานเชื่อมทุกตอน) มาถึงพรมแดนจีนที่เชื่อมกับลาวฝั่งจีนเรียกบ่อหาร(หรือโม่หาร) ฝั่งทางลาวคือบ่อเตน(ตรงนี้จีนเช่าที่ลาวสร้างเป็นเมืองใหญ่มากมีสถานบันเทิงทุกอย่างคล้าย ๆด่านนอกของไทย) จุดนี้เป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากรถจีน(ปกติต้องถ่ายลำใส่รถของลาว) แต่เนื่องจากลาวยังไม่พร้อมในการพัฒนาที่จะจัดรถบรรทุกหัวลาก ลาวจึงให้รถไทยที่ขนผลไม้พวกทุเรียน มังคุด ลำไย เข้ามาแลกเปลี่ยนกับสินค้าของจีนที่บริเวณบ่อเตน(ลาวคิดค่าเหยียบดิน หากจำไม่ผิดรถบรรทุกคันละ สองพันห้าร้อยบาท) รถไทยเอาทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ไปเปลี่ยนผักทุกชนิดและผลไม้พวกแอปเปิล องุ่น จากการพูดคุยกับผู้บริหารโลจิสติกส์ของจีนสินค้าของจีนจะไปเข้าที่ตลาดไท และกระจายออกทุกภูมิภาคจากที่นั่น ทางจีนวางแผนจะจัดหาแหล่งกระจายสินค้าใหญ่ในกรุงเทพมหานครเองแทนที่จะไปที่ตลาดไท และในทุกภาคของประเทศไทย เพราะไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC รวมถึงที่หาดใหญ่ ทางจีนก็วางแผนที่จะมาหาที่ดินแปลงใหญ่ ๆ ในหาดใหญ่เพื่อสร้างจุดกระจายสินค้าในการส่งต่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนิเซียต่อไป ด้วยเนื้อที่อันจำกัดผู้เขียนขอขยายความจากทางเหนือของเราไว้แค่นี้ก่อน คราวหน้าหากไม่ลืมจะขยายจากภาคใต้ของเราต่อครับ

 

หมายเลขบันทึก: 553834เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท